"...คำถามของผมก็คือทำไมคุณถึงไม่เลือกเรือดำน้ำที่มีเทคโนโลยีชั้นยอด จากประเทศที่มีประสบการณ์แทน ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยกว่า หรือว่ามีจำนวนแค่ 1 ลำ แต่ก็น่าจะมีความเหมาะสมกว่า..."
................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอบทความของนายมิคาอิล โวยะเทนโก (Mikhail Voitenko) ผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านพาณิชย์นาวีจากประเทศรัสเซีย เกี่ยวกับประเด็นเรื่องข้อสงสัยเรื่องเทคโนโลยีในเรือดำน้ำรุ่น S26T ที่กองทัพเรือไทยได้จัดซื้อจากประเทศจีนเป็นจำนวน 2 ลำซึ่งเป็นสัญญาต่อเนื่องใน วงเงิน 22,500 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2560 โดยลำแรกวงเงิน 13,500 ล้านบาท ทยอยจ่าย 7 ปี 2560-66 รวมวงเงิน 3 ลำ กว่า 36,000 ล้านบาท
(อ่านประกอบ:ไส้ใน 'เรือดำนำ' ชั้นหยวนคลาส ไทยทุ่มซื้อจีน 2.2 หมื่นล. อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด?)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบทราบข้อมูลมาว่า ปัจจุบัน นายมิคาอิล เดินทางเข้ามาพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา จึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ นายมิคาอิล เกี่ยวกับเทคโนโลยีเรือดำน้ำเพิ่มเติม
โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@อยากสอบถามความคิดเห็นโดยรวมเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำของทางกองทัพเรือไทย
นายมิคาอิล : "ความคิดเห็นของผม มองว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้นั้นถือว่ามีข้อผิดพลาด ข้อตกลงของไทยกับประเทศจีนที่จะซื้อและต่อเรือดำน้ำ ซึ่งถือว่ามีเทคโนโลยีการขับเคลื่อนรุ่นใหม่นั้น ต้องชี้แจงก่อนว่าเทคโนโลยีเรือดำน้ำทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจากทางประเทศในแถบยุโรป อาทิ เยอรมนี อิตาลี สวีเดน รวมไปถึงประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น แต่กับประเทศจีน บอกตรงๆว่าผมก็ไม่รู้ว่าประเทศจีนนั้นใช้เทคโนโลยีอะไรในการสร้างเรือดำน้ำ และประเด็นถัดมา ที่ผ่านมาประเทศจีนก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการต่อเรือดำน้ำที่มากมาย อันที่จริงแล้ว กองทัพเรือสหภาพโซเวียตนั้นถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการต่อเรือในกองทัพเรือประเทศจีนขึ้นมาได้"
" อย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตรวมไปถึงรัสเซียก็มีการใช้เทคโนโลยีจากประเทศอื่นๆ อาทิ เยอรมนี สวีเดน และทางรัสเซียก็ยังคงไม่สามารถที่จะผลิตเทคโนโลยีอาทิเทคโนโลยีระบบเซลล์ไฟฟ้าหรือเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell)ได้ ดังนั้น ประเด็นก็คือแทนที่จะไปซื้อเรือดำน้ำจากประเทศที่เป็นต้นกำเนิดแนวคิดเรื่อง Fuel Cell กองทัพเรือไทยกลับไปซื้อเรือดำน้ำในประเทศจีนซึ่งใช้เทคโนโลยีมือ 2 ประสบการณ์มือ 2 ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมกองทัพเรือไทยถึงตัดสินใจแบบนี้"
"จากที่ผมทราบมา กองทัพเรือจีนใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว แต่เขาไม่สามารถคิดค้นอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เขาก็ประดิษฐ์ในสิ่งที่มันเป็นแนวคิดเดิมที่มันมีอยู่แล้ว และยิ่งไปกว่านั้นถ้าให้เปรียบเทียบกับการที่คุณไปซื้อเรือดำน้ำจากประเทศอย่างเยอรมนี สวีเดน อิตาลี หรือแม้แต่ในญี่ปุ่น ลูกเรือของคุณซึ่งได้รับการฝีกในประเทศเหล่านี้ ก็ถือว่าได้รับการฝึกโดยประเทศที่มีประสบการณ์ด้านการใช้เรือดำน้ำในทางการทหารเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากเราพูดถึงกองทัพเรือประเทศจีน กลับไม่พบว่าเคยมีประสบการณ์ในการใช้เรือดำน้ำในสงครามขนาดใหญ่เลย ถ้าเทียบกับที่ประเทศเยอรมนี หรืออย่างประเทศอิตาลีซึ่งเป็นต้นคิดในเรื่องการผลิตเรือดำน้ำ ดังนั้น ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันในประเด็นที่ว่าทำไมถึงไปเลือกเรือดำน้ำจากประเทศจีนด้วยการอ้างว่าเรือดำน้ำนั้นมีราคาถูก"
"คำถามของผมก็คือทำไมคุณถึงไม่เลือกเรือดำน้ำที่มีเทคโนโลยีชั้นยอด จากประเทศที่มีประสบการณ์แทน ซึ่งแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยกว่า หรือว่ามีจำนวนแค่ 1 ลำ แต่ก็น่าจะมีความเหมาะสมกว่า"
"เมื่อคุณสามารถฝึกลูกเรือให้มีประสบการณ์ในการบังคับเรือดำน้ำจริงได้แล้ว จำนวนอย่างน้อย 2-3 คน หลังจากนั้นคุณก็ค่อยไปซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ต่อไป ซึ่งอาจจะซื้อจากประเทศอื่นๆหรือจากประเทศจีนก็ได้ เพราะคุณมีความมั่นใจได้ว่าคุณมีลูกเรือที่พร้อมแล้วสำหรับเรือดำน้ำลำถัดๆไป"
@ประเด็นของคุณคือเราควรจะซื้อเรือดำน้ำเป็นจำนวนน้อยหรือแค่ 1 ลำก่อน เพื่อหาประสบการณ์การใช้เรือดำน้ำจริงให้ลูกเรือ แล้วค่อยหาลำถัดๆไปในภายหลัง
นายมิคาอิล : "ใช่แล้ว"
@คิดว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน เราจะมีปัญหาในเรื่องอะไหล่เรือดำน้ำหรือไม่ เพราะนอกเหนือจากประเทศไทยแล้วก็มีแค่ประเทศปากีสถานเท่านั้นที่สั่งซื้อเรือดำน้ำรุ่นนี้
นายมิคาอิล : "ประเทศจีนนั้นมีความตั้งใจที่จะผลิตเรือดำน้ำเหล่านี้ และขายให้กับต่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น เขาก็คงเตรียมที่จะมีการผลิตอะไหล่หรือชิ้นส่วนเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เรื่องอะไหล่คงไม่น่าจะใช่ปัญหาแต่อย่างใด"
"ผมได้ชี้แจงไปแล้วว่า ประเทศจีน ต้องการจะขายของที่ราคาถูกให้กับต่างประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ต้องกังวล ก็คือในเรื่องของคุณภาพซึ่งอาจจะมีคุณภาพต่ำลงไปด้วย"
"เพราะแม้ว่าคุณจะได้ของที่มีคุณภาพราคาถูก แต่ว่าในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆที่ราคาแพงเกี่ยวกับเรือดำน้ำเหล่านี้ได้ อาทิ ค่าใช้จ่ายการฝึกลูกเรือ ค่าบำรุงรักษาเรือดำน้ำกับทางประเทศจีนตามมาด้วย"
"อีกประเด็นก็คือ เมื่อคุณได้ซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนไปแล้ว คุณไม่สามารถลืมประเทศจีนได้เลย คุณต้องมีความสัมพันธ์กับประเทศจีนอีกหลังจากนี้ในหลายด้าน ซึ่งมันก็อาจจะเป็นปัญหาได้ เพราะมีบางประเทศ ก็มีปัญหากับประเทศจีนอยู่"
@ คุณจะบอกว่า ถ้าเราซื้อเรือดำน้ำจีน เราจะต้องมีข้อตกลงทางการทหารระยะยาวตามมา และอาจจะนำมาซึ่งปัญหาในเวลาที่เราจะต้องไปทำสัญญากับประเทศ อื่นๆใช่หรือไม่
นายมิคาอิล : "ใช่แล้ว ผมเชื่อว่าการไปมีข้อตกลงทางการทหารระยะยาวในเรื่องเรือดำน้ำนั้นถือเป็นข้อผิดพลาด คือ ผมเข้าใจว่าประเทศไทยมีความต้องการเรือดำน้ำมาก แต่การที่ประเทศไทยจะจัดหาเรือดำน้ำมานั้น ต้องถามว่าทำไมถึงไม่มีการดำเนินการในรูปแบบที่ฉลาดและหลักแหลมมากกว่านี้ ซึ่งหลักการซื้อของ มันก็ง่ายๆ ก็คือ ถ้าหากคุณได้ซื้อเรือดำน้ำจากจีนในราคาที่ถูก ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตนั้นเราจะต้องจ่ายเงินแพงขึ้นจากค่าใช้จ่ายต่างๆอยู่ดี"
"หรือเปรียบเทียบกันง่ายๆ ถ้าคุณเลือกที่จะซื้อเสื้อในราคาถูกที่ถักจากผ้าคุณภาพต่ำแล้ว ในอนาคตคุณก็ต้องไปซื้อเสื้อมาใหม่หรืออยู่ดี เพราะเสื้อมีปัญหา แต่ถ้าหากคุณเลือกที่จะซื้อเสื้อผ้าที่แพงและมีคุณภาพแล้ว คุณก็จะได้ใช้เสื้อนั้นเป็นระยะเวลายาวนานกว่า ซึ่งในที่สุดการซื้อเสื้อราคาแพงกว่าก็จะกลายเป็นการซื้อที่ถูกกว่า"
*หมายเหตุ สำหรับประวัติของนายมิคาอิล โวยะเทนโก พบว่าเคยมีประสบการณ์ในด้านการทำงานเป็นต้นหนเรือสินค้ามาตั้งแต่ปี 2524 จนกระทั่งถึงปี 2547 ซึ่งนายมิคาอิลได้เริ่มก่อตั้งเว็บไซต์ www.Maritimebulletin.net ซึ่งเขียนรวบข่าวสารเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแวดวงพาณิชย์นาวีและในวงการทหารเรือทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage