"....กองทัพเรือไทยมักจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่าเรือที่สั่งซื้อมานั้นมีเทคโนโลยี AIP ซึ่งมีประสิทธิภาพ ในราคาที่ถูกกว่า แต่ถ้าหากคำนึงถึงคุณภาพแล้ว การมีของที่มีคุณภาพสูงถึงแม้จะมีจำนวนที่น้อย ก็ย่อมจะดีกว่าการมีของที่จำนวนมากแต่ว่า ประสิทธิภาพกลับมีความด้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเป็นเรื่องของการจัดซื้อเรือดำน้ำสมรรถนะสูง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่แทบจะไม่มีประสบการณ์เรื่องเรือดำน้ำเลยนอกจากในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา..."
..................................
สืบเนื่องจากกองทัพเรือ ได้ตั้งโต๊ะเปิดแถลงชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการจัดหาเรือดำน้ำของประเทศไทย หลังจากคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) คุรุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบผ่านงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น S26T ของกองทัพเรือ 2 ลำ วงเงิน 22,500 บาท
ระบุสาระสำคัญว่า การจัดซื้อรอบนี้เป็นโครงการจัดหาต่อเนื่องจากการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกเมื่อปี 2560 ไม่ได้เป็นการเริ่มโครงการใหม่ และเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งไทยได้พูดคุยกับผู้แทนของจีนจนบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 แต่เนื่องจากประเทศเผชิญสถานการณ์โควิด-19 จึงได้ขอเลื่อนการจ่ายเงินงวดแรกจากปีงบประมาณ 2563 เป็นปีงบประมาณ 2564 และไม่ได้เป็นการจ่ายเงินทั้งหมดในคราวเดียวแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากเลื่อนโครงการออกไปอีกอาจจะทำให้ไทยขาดความน่าเชื่อถือในการทำการค้าระหว่างประเทศได้
(อ่านประกอบ:จีทูจีไม่มีเก๊! ทร.ยันซื้อเรือดำน้ำถูกต้องตาม กม.-ชะลอได้ไม่มีค่าปรับ แต่เสียเครดิตการค้า)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นรายงานจากสื่อต่างประเทศ พบว่าในเว็บไซต์ http://www.maritimebulletin.net/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสารเกี่ยวกับแวดวงพาณิชยนาวีของประเทศรัสเซีย เคยวิจารณ์ว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น S26T จากจำนวน 3 ลำจากประเทศจีนเอาไว้ ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ในชื่อบทความว่า "ระบบ AIP กับเรือดำน้ำจีน อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด"
ผู้เขียนบทความ คือ นายมิคาอิล โวยะเทนโก (Mikhail Voitenko) ผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านพาณิชย์นาวีจากประเทศรัสเซีย
นายมิคาอิล โวยะเทนโก (Mikhail Voitenko) ผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านพาณิชย์นาวีจากประเทศรัสเซีย
สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงข้อมูลบทความเรื่องนี้นำมาเสนอ ดังนี้
@ อะไรคือระบบ AIP
ในการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย ซึ่งมีข้อตกลงให้ต่อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำจากประเทศจีน มีรายละเอียดเรื่องของระบบขับเคลื่อนที่ไม่ต้องใช้อากาศในสันดาปภายในหรือระบบ AIP ซึ่งต้องอธิบายให้ชัดเจนก่อนว่า อะไรคือระบบ AIP และระบบที่ว่านั้นมีความพัฒนามากแค่ไหนในประเทศจีน
ระบบ AIP นั้น เป็นระบบสำคัญที่ใช้ทั้งการขับเคลื่อนเรือดำน้ำ เป็นต้นกำเนิดของพลังงานไฟฟ้า ควบคุมอุณหภูมิ และระบบอื่นๆ ในเรือดำน้ำ เทคโนโลยีนี้ถือเป็นสิ่งที่ก้าวหน้ามากสำหรับการทำสงครามใต้น้ำของเรือดำน้ำที่ยังใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ดีเซล
โดยเรือดำน้ำที่ใช้ระบบ AIP นั้น จะมีขีดความสามารถในการอยู่ใต้น้ำได้นานกว่าเรือดำน้ำดีเซลรุ่นเก่าๆ และจะสามารถแล่นได้เร็วกว่าเช่นกัน
หรือก็คือเทคโนโลยี AIP นั้น เป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเรือดำน้ำดีเซลแบบเก่ากับเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์
แต่สิ่งที่ทำให้เรือดำน้ำดีเซลที่ติดตั้งระบบ AIP มีความพิเศษกว่าเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ก็คือความเงียบที่เทียบเท่ากับเรือดำน้ำดีเซลทั่วๆไป
หรือก็คือ เรือดำน้ำดีเซลระบบ AIP นั้น เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับประเทศที่ไม่มีฐานะมากพอจะจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้
สำหรับประเทศไทย ซึ่งจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่นหยวนคลาส S26T จากประเทศจีน เรือดำน้ำรุ่นนี้ นั้นเป็นเรือดำน้ำรุ่นที่พัฒนามาจากเรือดำน้ำชั้นหยวนคลาส ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน
นอกเหนือจาก ประเทศไทยแล้ว ก็มีรายงานด้วยว่าประเทศปากีสถานก็ได้สั่งเรือดำน้ำรุ่นหยวนคลาสจากประเทศจีนเช่นกันในช่วงระหว่างเดือน มี.ค.จนถึงเดือน ก.ค. 2558 โดยสั่งเป็นจำนวน 8 ลำ คิดเป็นมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (155,812,500,000 บาท) โดยจะมีกำหนดส่งมอบ 4 ลำแรกในช่วงปี 2566 และ 4 ลำที่เหลือจะส่งมอบในปี 2571
ความยาวของเรือดำน้ำรุ่นนี้ จะอยู่ที่ 78 เมตร และกว้าง 9 เมตร และติดตั้งเทคโนโลยีระบบ AIP ตัวล่าสุดทำให้สามารถอยู่ใต้น้ำได้นานติดต่อกัน 21 วัน
@ อะไรคือเรือดำน้ำชั้นหยวน? จีนได้เทคโนโลยี AIP และเครื่องยนต์เรือดำน้ำมาได้อย่างไร? และสถานะของกองทัพเรือจีนโดยรวมเป็นอย่างไร?
จากข้อตกลงของรัฐบาลไทย ระบุว่า ทางการจีนจะต้องพัฒนาและสร้างระบบ AIP ไว้สำหรับเรือดำน้ำเพื่อที่จะปฏิบัติการณ์ที่พื้นที่อ่าวไทยซึ่งเป็นน้ำตื้นได้ ซึ่งที่ผ่านมาทางกองทัพเรือจีน ได้เคยประชาสัมพันธ์ไปแล้วว่า เรือดำน้ำชั้นหยวนนั้นเป็นเรือดำน้ำที่สามารถปฏิบัติการณ์ในพื้นที่น้ำตื้นได้
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการตั้งข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับศักยภาพของเรือลำนี้
ซึ่งถ้าเทียบสัดส่วนกันแล้ว เรือดำน้ำชั้นหยวนจะมีขนาดเล็กกว่าเรือดำน้ำโซริวของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลประเทศญี่ปุ่น (JMSDF) ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ และมีขนาดใหญ่กว่าเรือดำน้ำชั้นกิโลรุ่นล่าสุดของประเทศรัสเซีย
หรือจะให้พูดก็คือ เรือชั้นหยวนนั้นถือเป็นหนึ่งในเรือดำน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเรือดำน้ำของกองทัพเรือจีน และไม่ได้มีความคล่องตัวไปมากกว่าเรือดำน้ำกิโลหรือเรือดำน้ำโซริวแต่อย่างใด
เทียบเรือดำน้ำชั้นกิโล(รูปบน) และชั้นหยวน (รูปล่าง) (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.forbes.com/sites/hisutton/2020/05/19/feared-russian-missile-system-targeted-and-captured-in-libya/#717289e51a5c)
โดยเรือดำน้ำที่เหมาะสำหรับปฏิบัติการณ์ในน้ำตื้นหรือเรือดำน้ำริมฝั่ง จะเป็นเรือดำน้ำ อาทิ Type 205 และ 206 ของประเทศเยอรมนี และเรือดำน้ำรุ่นซังโอของประเทศเกาหลีเหนือ ซึ่งจะมีระวางขับน้ำเมื่อดำใต้น้ำน้อยกว่า 500 ตัน
มีรายงานเพิ่มเติมว่าระบบ AIP ที่มีการใช้งานในเรือดำน้ำชั้นหยวนรุ่น Type 039B แท้จริง แล้วมาจากเครื่องยนต์แบบสเตอร์ลิงก์ (Stirling Engine) ที่จีนนำเข้าจากประเทศสวีเดนในปี 2523 โดยประเทศจีนประสบความสำเร็จในการก๊อปปี้เครื่องยนต์นี้และสามารถติดตั้งเครื่องยนต์ในเรือดำน้ำชั้นหยวนรุ่น Type 039B ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งต้องใช้เวลาถึงเกือบ 10 ปี ในการที่ประเทศจีนจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีนี้จนกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศจีนได้
เครื่องยนต์สเตอร์ลิงก์ของสวีเดน (อ้างอิงรูปภาพจาก https://stirlingengineforum.com/viewtopic.php?t=1618&start=15)
ดังนั้น จึงเป็นข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยได้ซื้อเรือดำน้ำที่ถูกสร้างโดยเทคโนโลยีทีถูกซื้อมาจากประเทศอื่นๆเช่นประเทศสวีเดน และจากสหภาพโซเวียต
และถ้าหากจะให้ไล่เรียงข้อมูลจะพบว่าการก่อสร้างเรือดำน้ำจีนนั้นคงจะเริ่มไม่ได้เลย ถ้าปราศจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต และแน่นอนว่าเทคโนโลยีเรือดำน้ำของสหภาพโซเวียต ก็ได้รับการพัฒนามาจากเทคโนโลยีเรืออูซึ่งมีที่มาจากสงครามโลกครั้งที่ 2
หรือ สรุปก็คือเรือดำน้ำชั้นหยวนนั้นเป็นการผสมรวมกันระหว่างเทคโนโลยีจากหลายๆประเทศรวมกันนั่นเอง
ซึ่งที่ผ่านมานั้น กองทัพเรือไทยได้เคยชี้แจงไปในช่วงปี 2560 ว่ามีความต้องการที่จะซื้อเรือดำน้ำจีนจำนวน 3 ลำคิดเป็นมูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมองว่ามีความคุ้มค่าเงินที่สุด เนื่องจากด้วยเงินจำนวนนี้ ถ้าหากไปซื้อเรือดำน้ำกับอีก 5 ประเทศที่เหลือ (รัสเซีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สวีเดน และเยอรมนี) จะได้เรือดำน้ำแค่จำนวน 2 ลำเท่านั้น
โดยกองทัพเรือไทยมักจะเน้นย้ำอยู่เสมอว่าเรือที่สั่งซื้อมานั้นมีเทคโนโลยี AIP ซึ่งมีประสิทธิภาพ ในราคาที่ถูกกว่า
แต่ถ้าหากคำนึงถึงคุณภาพแล้ว การมีของที่มีคุณภาพสูงถึงแม้จะมีจำนวนที่น้อย ก็ย่อมจะดีกว่าการมีของที่จำนวนมาก
แต่ว่า ประสิทธิภาพกลับมีความด้อยกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเป็นเรื่องของการจัดซื้อเรือดำน้ำสมรรถนะสูง
ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่แทบจะไม่มีประสบการณ์เรื่องเรือดำน้ำเลยนอกจากในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา
.............
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลสำคัญที่ระบุไว้ในบทความชื่อว่า "ระบบ AIP กับเรือดำน้ำจีน อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด" และอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การจัดซื้อเรือดำน้ำระหว่างไทยกับจีน น่าจะมีอะไรที่คนในสังคมไทย จักต้องพิจารณาเรื่องนี้มากกว่า แค่เรื่องความน่าเชื่อถือในการทำการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น
เรียบเรียงจาก:http://www.maritimebulletin.net/2017/12/19/chinese-aip-submarines-not-the-best-choice/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage