‘SCB EIC’ ชี้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ส่งสัญญาณฟื้นตัวช้าลงในเดือนก.ค. พร้อมจับตา 4 ปัจจัยเสี่ยงช่วงที่เหลือของปี ‘ท่องเที่ยว-ความไม่แน่นอนโควิด-ว่างงาน-ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือปชช.’ ขณะที่ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ เศรษฐกิจไทยเผชิญความไม่แน่นอนสูง มองจีดีพีปี 63 จะติดลบเกิน 6% หนุนรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยแพร่บทวิเคราะห์ โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 ที่หดตัว -12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 22 ปี และใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 2/41 ที่ไทยประสบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยเศรษฐกิจหดตัว -12.5% ขณะที่ข้อมูลล่าสุดสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว (Bottomed out)
“ในช่วงที่เหลือของปี EIC คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่าเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและกำลังฟื้นตัว อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเครื่องชี้เร็วของ Google Mobility Index ในเดือนก.ค. พบว่าเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ช้าลงในช่วงหลัง เช่นเดียวกับข้อมูลจำนวนประกาศรับสมัครงานของ JobsDB.com ในเดือนก.ค. ที่พบว่าจำนวนประกาศรับสมัครงานเริ่มทรงตัวหลังจากที่มีการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด” EIC ระบุ
EIC ยังระบุด้วยว่า ในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญอุปสรรคและมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก ที่อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งมี 4 ปัจจัย ประกอบด้วย
1.ภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง เนื่องจากยังไม่มีแนวนโยบายชัดเจนว่าจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศเมื่อใด ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบต่อเนื่อง
2.ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลก โดยล่าสุดหลายประเทศเริ่มมีการกลับมาระบาดและต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดอีกครั้ง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทย
3.ความเสี่ยงด้านการปิดกิจการและการว่างงาน โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจมีหลายธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ที่ขาดรายได้จนกระทั่งไม่สามารถจ่ายต้นทุนคงที่ได้ จึงทำให้ต้องมีการปิดกิจการ และปลดคนออก การว่างงานจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งล่าสุดการว่างงานของบุคคลที่ได้รับประกันสังคมตามมาตรา 33 พบว่ามีอัตราว่างงานสูงถึง 3.5% ในเดือนมิ.ย.63 (เทียบกับ 1.5% ในเดือนมี.ค.) ซึ่งเป็นอัตราว่างงานที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลเป็นต้นมา (เริ่มเก็บปี 2548)
ขณะที่การว่างงานรวมของทั้งประเทศ ตัวเลขล่าสุดในไตรมาสที่ 2 จากเอกสารสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่อ้างถึงตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ บ่งชี้ว่ามีอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 1% ในไตรมาสแรก เป็น 2% ในไตรมาส 2 หรือมีจำนวนคนว่างงานมากถึง 7.5 แสนคน
4.ความไม่แน่นอนของการต่ออายุมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่กำลังจะหมดอายุลง (policy cliff) มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาครัฐที่จะเริ่มหมดไปในช่วงเดือนก.ค. หากมาตรการเหล่านี้ไม่ได้รับการต่ออายุ หรือต่ออายุในขนาดที่เล็กลง ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงหนึ่งด้านต่ำต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี จากข่าวล่าสุดคาดว่าทางกระทรวงการคลังอาจออกมาตรการรอบใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว
“จากตัวเลขจีดีพีไตรมาสล่าสุด พบว่าค่อนข้างใกล้เคียงกับที่ EIC เคยคาดไว้ ขณะที่ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 63 จะอยู่ที่ -7.3% อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน EIC กำลังทำการประเมินสมมติฐานเดิมและปัจจัยใหม่ที่จะเข้ามามีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะทิศทางด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลรอบใหม่” รายงาน EIC ระบุ
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 หดตัวที่ -12.2% ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดที่ -13.0% ถึง -17.0% YoY เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่พลิกกลับมาขยายตัวในไตรมาส 2/2563 ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท ต่อเนื่อง 3 เดือน ในโครงการ 'เราไม่ทิ้งกัน' ที่มีการจ่ายเงินในช่วงไตรมาส 2/2563
ขณะที่อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ในไตรมาส 2/2563 ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำและงบประมาณรายจ่ายลงทุนก็สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ภาคก่อสร้างยังคงขยายตัวได้ในไตรมาส 2/63 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะหดตัวลึกสุดในไตรมาส 2/63 และทยอยหดตัวน้อยลงในช่วงที่เหลือของปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ประเด็นทางการเมืองในสหรัฐมีความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนการพัฒนาวัคซีนแม้ว่าจะมีความคืบหน้าไปบ้าง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงและคาดว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะผลิตออกมาใช้อย่างกว้างขวางได้
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าตามแนวโน้มการอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ประกอบกับเงินบาทที่แข็งค่าจะยังคงกดดันภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยต่อไปในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ประเด็นทางการเมืองในประเทศยังคงมีความไม่แน่นอนและเป็นประเด็นที่ต้องคอยติดตาม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเบื้องต้นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะหดตัวมากกว่าคาดการณ์ที่ -6.0%
“ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว ภาครัฐจะมีมาตรการดูแลเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอ่อนแรง โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะมีการแถลงข่าวในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะมุ่งเน้นที่จะช่วยสนับสนุนการจ้างงาน และช่วยดูแลผู้ประกอบการ SME และผู้ประกอบการรายเล็ก (Micro SME) เป็นหลัก ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะคอยติดตามมาตรการที่จะออกมาเพื่อนำไปประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะมีการปรับประมาณการใหม่” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ
อ่านประกอบ :
'ขุนคลัง' ปรีดี ดาวฉาย : เอาวิกฤติให้รอดก่อน-รักษาหนี้สาธารณะที่ระดับ 60% ของจีดีพี
ธปท.ตรึงหนี้เสีย! กำชับแบงก์ช่วยลูกหนี้จนกว่าโควิดจะคลี่คลาย-สิ้นไตรมาสสอง NPLs แตะ 3.09%
จีดีพีไตรมาสสองหด 12.2%! สศช.หั่นเป้าทั้งปีเป็นติดลบ 7.5%-หนี้เสียภาคบริโภคพุ่ง 23%
วิกฤติยังไม่คลี่คลาย! เตือนอีก 3 เดือนตกงานเพิ่ม 6 แสนคน-ต่อคิวสมัครงานล้น 'รร.มิราเคิล'
สั่งแก้คนว่างงาน -จี้ ขรก.อย่าเกียร์ว่าง! ‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายครม.ใหม่-ตั้งศูนย์บริหาร ศก.
ว่างงานแตะ 2.7 ล้านคนยาว 3 ปี! ‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐเร่งใช้งบฟื้นฟูฯ-พัฒนาภาคเกษตรรองรับ
เปิดรายงานกนง. ห่วงจ้างงานอ่อนแอ-จีดีพีทรุดกว่าที่คาด หนุนรัฐปรับโครงสร้างศก. 5 ด้าน
วิจัยกรุงศรีหั่นจีดีพี! คาดปีนี้หดตัว 10.3%-หวั่น 'หนี้เสีย' พุ่ง หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5%-หั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้ติดลบ 8.1%
เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 3! ไทยว่างงาน 7 ล้านคน หลังโควิด จีนประเทศเดียวฉุด ศก.ไม่ไหว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/