ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนพ.ค.63 ยังทรุดลงต่อเนื่อง เหตุส่งออก-ท่องเที่ยวติดลบหนัก การลงทุนเอกชนยังหดตัวต่อ ขณะที่การบริโภคเอกชนหดตัวน้อยลง หลังรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจเดือนพ.ค.2563 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.หดตัวสูงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ต่างประเทศทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังหดตัวสูงจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และภาคการส่งออกสินค้าที่หดตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนบทบาทการดูแลเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลงบ้าง จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและมาตรการเยียวยาของภาครัฐ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสด และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลง แต่มองไปข้างหน้าน่าจะมีทิศทางปรับตัวตัวดีขึ้น สำหรับตลาดแรงงานเปราะบางขึ้นมาก ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิ จากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน
ส่วนรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 100 จากระยะเดียวกันปีก่อน และนักท่องเที่ยวหดตัวร้อยละ 100% เป็นเดือนที่สอง โดยเป็นผลจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทย ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจและแรงงานในภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูงขึ้นมากที่ร้อยละ 23.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 29.0 โดยเป็นการหดตัวสูงในเกือบทุกหมวดสินค้าและเกือบทุกตลาด ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัวสูง ประกอบกับผลของภัยแล้งที่ทำให้การส่งออกน้ำตาลหดตัวสูง ทั้งนี้ มีเพียงการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ตามการส่งออกผลไม้ไปจีนเป็นสำคัญ
“การส่งออกในเดือนพ.ค.63 มีมูลค่า 1.59 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมากและเราไม่ได้เห็นตัวเลขนี้มานานแล้ว เทียบกับภาวะปกติมูลค่าส่งออกจะอยู่ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราการการขยายตัวของการส่งออกที่ติดลบ 23.6% ถือว่าใกล้เคียงกับตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่ติดลบ 22% กว่าๆ เพราะก่อนหน้านี้มีการส่งออกเครื่องบินเช่า ทำให้ตัวเลขของ 2 หน่วยงานเลยดูถ่างกันเยอะ แต่ตอนนี้เข้าหากันมากขึ้น และปกติจะห่างกัน 0.5-1% ซึ่งไม่ได้ห่างกันเยอะ” นายดอนกล่าว
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการใช้จ่ายหดตัวในทุกหมวด จากปัจจัยสนับสนุนด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ยังอ่อนแอ ทั้งในมิติการจ้างงาน รายได้และความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราการหดตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากในเดือนนี้เริ่มมีการทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้กิจกรรมบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินการได้ รวมทั้งได้รับแรงพยุงจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ประกอบกับรายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลง
ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ เมื่อประกอบกับสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการลงทุนหมวดก่อสร้าง สะท้อนถึงการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจเนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก ประกอบกับผู้ประกอบการมีความกังวลกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวสูงขึ้นมากที่ร้อยละ 34.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงในทุกหมวดสินค้า ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอ โดยการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมากในเดือนนี้ทำให้ดุลการค้าปรับสูงขึ้น แม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวสูง
การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนบทบาทการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ หดตัวสูง อย่างไรก็ดี รายจ่ายประจำที่ไม่รวมเงินโอนและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวหลังจากที่ขยายตัวสูงในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ทำให้รายจ่ายรัฐบาลที่ไม่รวมเงินโอนโดยรวมแล้วทรงตัว แม้รายจ่ายลงทุนที่ไม่รวมเงินโอนจะขยายตัวต่อเนื่อง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีความเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลง สำหรับตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานในระบบประกันสังคมที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาสมดุลหลังจากที่ขาดดุลในเดือนก่อน จากดุลการค้าที่เกินดุลสูง ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิต่อเนื่องจากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน แม้นักลงทุนต่างประเทศจะยังขายหลักทรัพย์สุทธิต่อเนื่อง
"เดือนพ.ค.เป็นเดือนที่ 2 แล้ว ที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติเต็มตัว เดือนที่แล้วตัวเลขบางตัวต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่เดือนพ.ค. ทำสถิติเป็นประวัติการณ์ต่อจากเดือนที่แล้ว แต่ก็เห็นการปรับตัวดีขึ้นบ้างในบางจุด เราเริ่มเห็นแสงสว่างแล้ว เดี๋ยวแต่ต้องลองไปดูตัวเลขในเดือนมิ.ย.ว่าเป็นแสงปลอมๆหรือเป็นแสงสว่างจริงๆ" นายดอนกล่าว
อ่านประกอบ :
ส่งออกพ.ค.ติดลบ 22.5%! ‘พาณิชย์’ ชี้โควิดกระทบแรง-ชงรัฐแก้ปัญหาต้นทุนขนส่ง
ชำแหละ ‘รายจ่าย-แผนกู้’ ปีงบ 64 รัฐบาล ‘ประยุทธ์’ มองข้ามช็อต 'ศก.ฟื้น-โควิดยุติต้นปีหน้า'
แบงก์ชาติ : เราคงไม่ปล่อยให้ NPLs ไปถึงร้อยละ 50-อาจมีเรื่องระบาดระยะที่สอง
แจง 5 มาตรการขั้นต่ำช่วยลูกหนี้! ธปท.สั่งพักหนี้ 'บ้าน-รถ' อีก 3 เดือน-ลดค่างวด-ชะลอยึดทรัพย์
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! 'วิรไท' แจงเหตุขอแบงก์ 'งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน'
ทั่วโลกอัดฉีดฟื้นเศรษฐกิจ ‘ยังไม่เห็นผล’ ส่งออกไทย รอสร่าง ‘ไข้โควิด’ ปีหน้า
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/