สศช.คาดผลกระทบโควิด-19 ดันอัตราว่างงานปีนี้พุ่ง 3-4% คิดเป็นจำนวนคนตกงาน 2 ล้านคน ใกล้เคียงกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 จับตานักศึกษาจบใหม่ 5.2 แสนคนไม่มีงานทำ ยันเร่งเดินหน้าใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้าน หวังดูดซับแรงงานใหม่ 2-3 แสนตำแหน่ง พร้อมระบุหนี้ครัวเรือนสิ้นปี 62 แตะระดับ 79.8% ของจีดีพี สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาส 1/2563 ว่า การจ้างงานไตรมาส 1/2563 มีจำนวน 37.4 ล้านคน ลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีจำนวนผู้ว่างงาน 3.9 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.03% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตราว่างงานเพียง 0.92%
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1 เริ่มมีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บ้างแล้ว เห็นได้จากการที่สถานประกอบการจำนวน 570 แห่ง มีลูกจ้างรวม 1.2 แสนคน ได้ขอใช้มาตรา 75 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คือ ให้ลูกจ้างหยุดงานแต่ยังได้เงินเดือน 75% ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงไตรมาส 2/2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างมาก และตัวเลขเศรษฐกิจจะติดลบมากขึ้น จะทำให้มีแรงงานตกงานมากขึ้น
นายทศพร ระบุว่า สศช.ได้ประเมินผลกระทบโควิดต่อการจ้างงาน โดยคาดว่ามีแรงงานที่มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในภาคการท่องเที่ยว 2.5 ล้านคน จากทั้งหมด 3.9 ล้านคน แรงงานในภาคอุตสาหกรรม 1.5 ล้านคน จากทั้งหมด 5.9 ล้านคน และแรงงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว เช่น ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา และโรงเรียนกวดวิชา 4.4 ล้านคน จากทั้งหมด 10.3 ล้านคน
พร้อมทั้งประเมินว่า ทั้งปี 2563 จะมีจำนวนผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 3-4% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ในขณะที่การใช้จ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก 4 แสนล้านบาท จะสามารถจ้างงานแรงงานนักศึกษาจบใหม่ ทั้งการจ้างงานแบบรายเดือนและจ้างงานพาร์ทไทม์ได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนตำแหน่ง จากแรงงานจบใหม่ที่มีจำนวน 5.2 แสนคน
“แม้ว่าจะมีแรงงานเสี่ยงถูกเลิก 8.4 ล้านคน แต่ทั้งปีเราคาดว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 3-4% หรือมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน โดยมีสมมติฐาน คือ ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ตั้งแต่พ.ค. มีการเปิดเมืองเป็นระยะ มีกิจกรรมเศรษฐกิจมากขึ้น และมาตรการจากพ.ร.ก.กู้เงินฯฯ โดยเฉพาะเงินกู้ 4 แสนล้านบาทที่จะลงไปสู่เศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ แต่มีประเด็นต้องตาม คือ แรงงานจบใหม่ 5.2 แสนคน อาจไม่มีตำแหน่งรองรับทั้งหมด” นายทศพรกล่าว
นอกจากนี้ สศช.ยังประเมินว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร 6 ล้านคน แบ่งเป็น เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้งโดยตรง 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆอีก 2.1 ล้านคน ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง 3.7% และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 3.7 แสนคน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี
นายทศพร กล่าวต่อว่า ในส่วนสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนพบว่า ณ ไตรมาส 4/2562 หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 13.47 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 79.8% ของจีดีพี สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส หรือ 3 ปี 6 เดือน โดยมีหนี้เสียเพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.23% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามความสามารถการชำระหนี้ของสินเชื่อทุกประเภทที่ด้อยลง
“เราเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนมาตลอด แต่หนี้ครัวเรือนของเราประกอบด้วยหนี้หลายส่วน เช่น เป็นหนี้ธุรกิจสัดส่วน 17.9% ส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่มีสัดส่วน 32.1% นั้น ถ้าไปดูจะพบว่าคนกู้เงินส่วนนี้เพื่อนำไปประกอบธุรกิจ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งบริษัท ซึ่งหากหักหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลตรงนี้ออกไปภาพยังดูไม่น่ากลัว ในขณะที่การกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์น้อยลง” นายทศพรกล่าว
อย่างไรก็ดี สศช.ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทยและคาวมเสี่ยงทางการเงิน พบว่าครัวเรือนไทยมีพฤติกรรมก่อหนี้เพื่อการบริโภค และการใช้จ่ายผิดประเภท ส่งผลให้เกิดวงจรการก่อหนี้ซ้ำ ซึ่งสร้างความเสี่ยงทางการเงินของครัวเรือน โดยแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว สศช.เสนอว่าควรให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ สร้างวินัยและการวางแผนทางการเงินของครัวเรือนอย่างสมดุล
นายทศพร ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ยังกล่าวถึงกรณีที่ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายว่า การใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาทเป็นการเอื้อกลุ่มทุน ว่า เงินกู้อย่างน้อย 50% จะลงสู่เศรษฐกิจรากราก และมีดัชนีชี้วัดชัดเจนว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร นอกจากนี้ หากเป็นโครงการขนาดใหญ่และไม่เน้นการจ้างงาน คณะกรรมการฯจะไม่พิจารณาอนุมัติจัดสรรเงินให้
อ่านประกอบ :
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
คาด'หนี้เสีย'ครัวเรือนทะลุ 1 ล้านล.! ‘เครดิตบูโร’ ห่วงเจน Y แบกหนี้-‘อายุน้อย’ กู้ซื้อรถยนต์
หนี้ครัวเรือนทะยาน 13.47 ล้านล. เฉียด 80% ของจีดีพี แนวโน้มพุ่งต่อหลังเจอโควิด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/