บ.ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ประเมินหนี้เสียครัวเรือนปีนี้แตะ 1 ล้านล้านบาท หลังไตรมาส 1/63 ทะยาน 9.5 แสนล้าน คิดเป็นสัดส่วนหนี้เสีย 8.1% เผยกลุ่มคนอายุ 30-45 ปี ภาระหนักทั้ง ‘หนี้บ้าน-รถยนต์-สินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต’ หากเจอ Income shock จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ห่วงคนอายุน้อยกว่า 22 ปี กู้ซื้อรถยนต์พุ่ง แถมเป็นหนี้เสียมาก
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) แถลงสถานะหนี้มุมมองไตรมาส 1/63 ว่า ณ สิ้นเดือนมี.ค.63 หนี้เสีย (NPL) ของครัวเรือนผู้บริโภคตามฐานข้อมูลของเครดิตบูโร มีจำนวน 9.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีหนี้เสีย 7.7 แสนล้านบาท และคิดเป็น 8.1% ของหนี้ตามฐานข้อมูลเครดิตบูโรที่มีทั้งหมด 11.7 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ประเมินว่า ผลกระทบของโควิด-19 และการปิดเมืองที่เริ่มขึ้นในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้หนี้เสียของครัวเรือนเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสีย 2 หลัก หรือมากว่า 10%
“ข้อมูลสิ้นสุดไตรมาส 1/63 ยังไม่ได้แสดงผลกระทบจากโควิด-19 อย่างเต็มที่ เพราะมาตรการปิดเมือง เราทำอย่างเข้มข้นในเดือนเม.ย. ดังนั้น ผมเชื่อว่าในปีนี้นี้เราได้เห็นหนี้เสียเกิน 1 ล้านล้านบาทแน่ หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียเป็น 2 หลัก แต่สิ่งที่ชะลอหนี้เสียตรงนี้ คือ การเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน (DR : Debt Restructure) ให้กับลูกหนี้ที่มีประวัติดี และการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย (TDR)” นายสุรพลกล่าว
นายสุรพล ยังระบุว่า จากรายงานต่างๆที่บริษัทฯรวบรวม พบว่าที่ลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดหนักสุด เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และมีหนี้สินสะสมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ลูกหนี้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือนจะประสบปัญหาเช่นกัน เพราะรายจ่ายลดไม่ได้ แต่รายได้หายไปหรือไม่แน่นอนจากสภาพการทำงาน หรือที่เรียกว่าภาวะ Income shock ของแรงงาน 11.9 ล้านคน
นายสุรพล กล่าวว่า หากพิจารณาสถานะหนี้ของผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 1/63 พบว่า กลุ่มคน Gen Y มีภาระการผ่อนชำระค่างวดสินเชื่อรถยนต์ค่อนข้างมาก ส่วนคนอายุน้อยหรือคนที่มีอายุไม่เกิน 22 ปี มีหนี้ซื้อรถยนต์เป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก และสินเชื่อรถยนต์กลุ่มนี้กลายเป็นหนี้เสียสูง ขณะที่การอนุมัติบัตรเครดิตทำได้ยากมากขึ้น ส่วนสินเชื่อบ้านก็น่าห่วงเช่นกัน เห็นได้จากลูกหนี้จำนวนมากที่เข้าไปขอปรับโครงสร้างหนี้บ้าน เพราะผ่อนไม่ไหว
“หนี้กลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มที่กู้บ้าน และมีปัญหาเรื่องผ่อนบ้าน กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มอายุน้อยกู้ซื้อรถ”นายสุรพลกล่าว
นายสุรพล ระบุว่า เมื่อจำแนกหนี้ของครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1/63 พบว่า กลุ่มคนที่มีอายุ 20-22 ปี (Gen Z) มีหนี้สิน 2.5 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้เสีย 1,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสีย 5% กลุ่มคนที่มีอายุ 23-39 ปี (Gen Y) มีหนี้สิน 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย 2.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสีย 6.8% กลุ่มคนที่มีอายุ 40-54 ปี (Gen X) มีหนี้สิน 3.7 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย 2.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.4% เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาหนี้สินครัวเรือนจำแนกตามอายุพบว่า อายุ 30 ปี เป็นช่วงที่จำนวนคนมีสินเชื่อรถยนต์มากที่สุด ,อายุ 38 ปี เป็นช่วงที่จำนวนคนมีสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด , อายุ 40 ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนคนมีสินเชื่อบ้านมากที่สุด และอายุ 40 ปี เป็นช่วงที่มีจำนวนคนมีบัตรเครดิตมากที่สุด ดังนั้น จะสังเกตได้ว่าคนที่มีอายุ 30 ปลายๆ แต่ไม่เกิน 45 ปี เป็นกลุ่มที่มีภาระหนัก และคนกลุ่มนี้ทำงานในระบบ แต่เจอภาวะ Income shock ก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่
นายสุรพล กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ทำให้ตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค.63 สถาบันการเงินต่างๆขอตรวจข้อมูลลูกค้าเก่า (existing customers) ว่าสถานะหนี้ยังดีอยู่หรือไม่ มีหนี้ที่อื่นเพิ่มหรือไม่ เข้มข้นมากขึ้น โดยมีจำนวนการขอ 15.91 ล้านครั้ง และในเดือนเม.ย.มีการขอตรวจข้อมูลอีก 10 ล้านครั้ง ทำให้ทั้งปีนี้คาดว่าจะมีการขอตรวจข้อมูล 70 ล้านครั้ง เทียบกับปีที่แล้วที่มีการขอตรวจข้อมูล 54.9 ล้านครั้ง
“เราเชื่อว่าในปีนี้สถาบันการเงินจะมีการตรวจเช็คข้อมูลลูกค้าเก่าเข้มข้นขึ้น และหากว่ามีความผิดปกติสถาบันการเงินก็เข้าแก้ไขในทันที เพื่อไม่ให้หนี้กลายเป็น NPL” นายสุรพลกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/