สำรวจหนี้สินครัวเรือนไทยก่อนเจอมรสุม ‘โควิด-19’ พบล่าสุดหนี้พุ่ง 13.47 ล้านล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสก่อนกว่า 2.2 แสนล้าน ดันหนี้ต่อจีดีพีแตะ 79.8% ขณะที่ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ชี้ครัวเรือนไทยกังวลภาระหนี้สินลดลง หลังแบงก์พักชำระหนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org/) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงฐานข้อมูลหนี้สินครัวเรือนไทยรอบล่าสุด โดยพบว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก หนี้สินครัวเรือนไทยในภาพรวมอยู่ที่ 13.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 79.8% ของจีดีพี เทียบกับไตรมาส 3/2562 ที่หนี้สินครัวเรือนไทยอยู่ที่ 13.24 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 78.9% ของจีดีพี
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดของหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 4/2562 ที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 222,536 ล้านบาทนั้น พบว่าหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นแทบจะทุกกลุ่ม มีเพียงหนี้สินเพื่อการศึกษาเท่านั้นที่ลดลง
โดยหนี้สินเพื่อเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 4.54 ล้านล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 4.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 75,068 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.68% ส่วนหนี้สินเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นอยู่ที่ 3.68 ล้านล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 3.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 88,408 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.46% หนี้สินเพื่อประกอบอาชีพอยู่ที่ 2.41 ล้านล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 2.39 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,125 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.79%
หนี้สินเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์อยู่ที่ 1.73 ล้านล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 1.70 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22,261 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.3% หนี้สินอื่นๆอยู่ที่ 7.09 แสนล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 6.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23,137 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.37% และหนี้สินเชื่อเพื่อการศึกษาอยู่ที่ 3.97 แสนล้านบาท จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 4.02 แสนล้านบาท ลดลง 5,444 ล้านบาท หรือลดลง 1.35%
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดเผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ประจำเดือน มี.ค.2563 พบว่าดัชนีฯอยู่ที่ 33.1 ลดลงจากเดือนก่อนที่ดัชนีฯอยู่ที่ 37.3 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และดัชนีฯอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 74 เดือน โดยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้ความกังวลของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทั้งในประเด็นรายได้และการจ้างงาน เงินออม และค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่รวมภาระหนี้สิน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการปรับตัวทางด้านการจ้างงานขององค์กรและธุรกิจที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในเดือน มี.ค. 2563 พบว่า องค์กรและธุรกิจส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจนั้น มีความพยายามในการประคับประคองสถานะการมีงานทำของลูกจ้างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่พบว่า 21.4% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ ถูกปรับลดเงินเดือนลงชั่วคราวแทนการเลิกจ้าง อีก 21.1% ถูกลดเวลาการทำงานล่วงเวลาเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน และมี 4.9% ถูกเลิกจ้าง แต่ลดลงเมื่อเทียบกับการสำรวจในเดือนม.ค.2563 ที่อัตราส่วนครัวเรือนที่ถูกเลิกจ้างอยู่ที่ 7.4% ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะภาคธุรกิจทยอยปรับลดการจ้างงานมาตั้งแต่ไตรมาส 4/2562 โดยเฉพาะในเดือน ต.ค.2562 ที่อัตราส่วนครัวเรือนที่ถูกเลิกจ้างมีสูงถึง 8.5%
สำหรับรายได้ของครัวเรือนที่ลดลงท่ามกลางภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงการทำประกัน COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,223.2 บาทต่อเดือน สำหรับครัวเรือนในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล และเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 706.5 บาทต่อเดือน สำหรับครัวเรือนในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่งผลให้ครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจ 65.3% มีเงินออมลดลง หลังจากดึงเงินที่เก็บออมมาใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพ
อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนมีความกังวลลดลงต่อประเด็นเรื่องระดับราคาสินค้าในประเทศ เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนมี.ค.2563 ที่ปรับตัวลดลง 0.86% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ. 2563 และความกังวลในประเด็นเรื่องภาระหนี้สินลดลง เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนขอพักชำระหนี้กับธนาคารพาณิชย์ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
ก่อนหน้านี้ ธปท.ประเมินว่าหนี้สินครัวเรือนต่อจีพีดีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขนาดจีดีพีของไทยหดตัวลง โดยทั้งปี 2563 ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว 5.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด ขณะที่ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาใช้บรรเทาความเดือดร้อนในช่วงวิกฤติโควิด โดยล่าสุดรัฐบาลได้มีมาตรการให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร และผู้ที่มีรายได้ประจำ รวม 6 หมื่นล้านบาท
อ่านประกอบ :
ให้กู้ฉุกเฉิน10,000บ.!‘ออมสิน-ธ.ก.ส.’เปิดลงทะเบียน’วงเงิน 6 หมื่นล.-อาชีพอิสระ เกษตรกร
หนี้ครัวเรือนพุ่ง-NPLs เพิ่ม ถ่วงเศรษฐกิจ ‘แบงก์’ เตือนธปท.อย่าคุมเพดานกู้เงิน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage