วงในเผยกรณีแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ยังติดหล่มพรรคร่วมรัฐบาล หลัง ‘ภูมิใจไทย’ มองการแก้สัญญาทำรัฐเสียประโยชน์ เกิดปัญหาทางกฎหมาย ลามสร้างภาระให้รัฐมนตรีร่วมรับผิดชอบ แถม ‘บีทีเอสซี’ เอกชนโครงการอู่ตะเภาอาจขอแก้สัญญาสนามบินอู่ตะเภาร่วมด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 จากกรณีที่คณะกรรมการ (บอร์ด) นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหา 5 ประเด็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา
โดยตามขั้นตอนจะต้องเสนอการแก้ไขสัญญาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม จ่ายเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงฯ แล้ว รัฐจะแบ่งจ่ายเป็นเวลา 10 ปี ปีละเท่าๆ กัน รวมเป็นจำนวน 149,650 ล้านบาท เปลี่ยนเป็น จ่ายเป็นงวด ตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้างที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท โดยเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 160,000 ล้านบาท (สำหรับค่างานโยธาและค่าระบบรถไฟฟ้า) เพื่อรับประกันว่าจะก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงฯ ได้ภายใน 5 ปี ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของภาครัฐ (รฟท.) ทันทีตามงวดของการจ่ายเงิน
2. กำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดยให้เอกชนแบ่งชำระค่าสิทธิจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เป็น 7 งวด เป็นรายปี จำนวนเท่า ๆ กัน โดยต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญา ในการนี้ เอกชนจะต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคาร ในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่นที่ รฟท. ต้องรับภาระ
3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการฯ ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเป็นผลให้เอกชนได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกิน 5.52% รฟท.มีสิทธิเรียกให้เอกชนชําระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ ตามจำนวนที่จะตกลงกันต่อไป
4.การยกเว้นเงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) โดยให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกข้อตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ เพื่อให้ รฟท. สามารถออก NTP ได้ทันทีเมื่อลงนามสัญญาที่แก้ไขตามหลักการทั้งหมดนี้
5. การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการอื่น
แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถเสนอ ครม.ได้ เพราะมีรายงานข่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคยังไม่เห็นชอบด้วย ทั้งนี้ ไม่มีการเปิดเผยเหตุผลว่าทำไมพรรคร่วมรัฐบาลถึงยังไม่ให้โครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมครม.นั้น
- ไฮสปีด 3 สนามบิน จบไม่ลง ถกเถียงหลักเกณฑ์เสนอ ครม.
- พรรคร่วมฯ’ ขวาง ดันแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบินเข้า ครม.
- สุริยะ’ ยันแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ไม่มีเอื้อ ซี.พี.
- ปะชาชน’ ถามแก้สัญญาไฮสปีดเอื้อเอกชนหรือไม่? ‘พิชัย’ โต้แต่ละเงื่อนไขบีบวางหลักประกัน
- เปิดรายงาน‘สตง.’ชำแหละ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ล่าช้า เสี่ยง‘ค่าโง่’-พบ‘คู่สัญญา’ขาดสภาพคล่อง
- สตง.เตือน‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’เสี่ยงค่าโง่-แบ่งจ่าย'แอร์พอร์ตเรลลิงก์’กระทบหลักการร่วมทุนฯ
- บอร์ดอีอีซี อนุมัติเงียบ แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งชงครม. ต.ค.นี้
@’ภูมิใจไทย’ ขวางครม.เคาะไฮสปีด 3 สนามบิน
ล่าสุด แหล่งข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาลเปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า เหตุผลหนึ่งที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังไม่นำการแก้ไขสัญญาการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับ บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพราะประเมินว่าอาจจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากแกนนำพรรคเห็นว่าการแก้ไขสัญญาดังกล่าว ทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ หากมีปัญหาเกิดขึ้นในทางกฎหมาย ซึ่งภาระความรับผิดชอบของรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
“ ตอนทำสัญญาระหว่าง รฟท.กับเอกชน ซึ่งต้องได้รับความเห็นจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะการบริหารสัญญาแล้วไปตกลงแก้ไขกันเอง เมื่อถึงเวลาจะให้ ครม. ร่วมรับผิดชอบด้วย เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และถ้าเครือซี.พี.แก้ไขได้ ต่อไปกลุ่มบริษัทบีทีเอสซี ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อาจจะขอแก้ไขสัญญาเพื่อลดค่าสัมปทานบ้างจะทำอย่างไร” แหล่งข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาลกล่าว