‘สุริยะ’ สยบข่าว ครม.ไร้วาระพิจารณาแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ยันซ้ำแก้สัญญาเพื่อให้โครงการเดินหน้า แจงเพิ่ม ซี.พี.ขอมา 6 ประเด็น แต่รัฐให้แค่ 1 เท่านั้น ก่อนคาดการณ์ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ครม.อนุมัติแน่ ก่อนเริ่มก่อสร้างต้นปี 68 วางกำหนดแล้วเสร็จปี 71
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (29 ต.ค. 67) ยังไม่มีการเสนอวาระพิจารณาตามที่คณะกรรมการ (บอร์ด) นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบหลักการการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ทั้งนี้ หลักการในการแก้ไขสัญญาโครงการยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
นายสุริยะกล่าวต่อว่า การแก้ไขสัญญานี้สืบเนื่องจากเอกชนคือ บจ.เอเชีย เอราวัน (ซี.พี.) ขอเจรจาเพื่อเยียวยาปัญหาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงปี 2563-2564 โดยทางซี.พี.ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยประมาณ 6 ข้อ แต่ฝ่ายรัฐรับไว้เพียง 1 ประเด็นคือ ต้นทุนภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นจากผลกระทบของปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้กัน ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไม่ได้อนุมัติการช่วยเหลือเรื่องภาระต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงขึ้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม บอร์ดกพอ.และรฟท.ได้ประเมินการขอแก้ไขสัญญาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว เห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบจริง จึงจำเป็นต้องแก้ไขสัญญา โดยดูครบทุกประเด็นว่าการแก้ไขแต่ละประเด็น รัฐบาลต้องไม่เสียประโยชน์ บวกกับโครงการนี้ถ้ายกเลิกไป ปัญหาที่ตามมามีแน่นอน ด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า รัฐเองก็ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนล่าช้าจริง แต่ทางเอกชนเองก็ไม่จ่ายค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาทก่อนวันที่ 24 ต.ค. 2564 จริงเช่นกัน ทำให้ต้องมีการเจรจากันในที่สุด
“โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อการเดินทางของประชาชน จากอู่ตะเภาไปกรุงเทพฯไม่เกิน 1 ชม. ซึ่งปัจจุบันนี้ถ้าขับรถใช้เวลา 2-3 ชม. การที่ให้โครงการนี้เดินไปได้ก็จะเป็นประโยชน์ ทั้งหมดนี้ การเจรจาอยู่บนเงื่อนไขว่ารัฐไม่เสียผลประโยชน์ ผมยืนยัน 100% ครับ อัยการสูงสุดก็มาช่วยดูแลการแก้ไขสัญญาแ่ละประเด็นอย่างรัดกุม” นายสุริยะระบุ
เมื่อถามว่าโครงการจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ นายสุริยะกล่าวว่า ถ้าไม่รีบเจรจาและเห็นชอบการแก้ไขสัญญา กำหนดที่สางไว้ว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571 จะเลื่อนออกไปอีก เพราะต้องไม่ลืมว่า โครงการนี้จะคลอไปพร้อมกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถ้ารถไฟความเร็วสูงไม่เกิด อาจจะถูกเอกชนในโครงการสนามบินอู่ตะเภาฟ้องร้องได้ ส่วนจะนัดเอกชนคือทางซี.พี.มาคุยอะไรกันอีกหรือไม่ คงไม่จำเป็น เพราะเจรจากันไปหมดแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แล้วการขออนุมัติการแก้ไขสัญญา จะสามารถเสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบได้เมื่อไหร่ นายสุริยะตอบว่า คาดว่าไม่เกิน 1-2 สัปดาห์นี้ น่าจะเสนอให้ครม.เห็นชอบได้แน่นอน เมื่อเห็นชอบแล้ว ทางอีอีซีก็จะกลับไปคุยกับเอกชนอีกครั้ง แล้วนำกลับมาให้ที่ประชุมครม.รับทราบการเจรจาอีกครั้ง รวมถึงความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ประมาณต้นปี 2568
อ่านประกอบ
- ‘สุริยะ’ ยันแก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ไม่มีเอื้อ ซี.พี.
- ปะชาชน’ ถามแก้สัญญาไฮสปีดเอื้อเอกชนหรือไม่? ‘พิชัย’ โต้แต่ละเงื่อนไขบีบวางหลักประกัน
- เปิดรายงาน‘สตง.’ชำแหละ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ล่าช้า เสี่ยง‘ค่าโง่’-พบ‘คู่สัญญา’ขาดสภาพคล่อง
- สตง.เตือน‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’เสี่ยงค่าโง่-แบ่งจ่าย'แอร์พอร์ตเรลลิงก์’กระทบหลักการร่วมทุนฯ
- บอร์ดอีอีซี อนุมัติเงียบ แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งชงครม. ต.ค.นี้