สคร.ทำหนังสือถึง รฟท. ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสรรหาผู้ว่าฯใหม่ หลังได้รับร้องเรียน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2567 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้มีหนังสือ ที่ กค 0817.1/ ล.1381 ถึงนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติและดำเนินการโดยมิชอบของหน่วยงานรัฐ กรณีสรรหา คัดเลือก และเห็นชอบผู้สมัครผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
เนื้อหาในหนังสือระบุว่า เนื่องด้วยนายอาคม อุปแก้ว (ผู้ร้อง) รองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ ได้มีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง ร้องเรียนและขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติและดำเนินการโดยมิชอบของหน่วยงานรัฐ กรณีสรรหา คัดเลือกและเห็นชอบผู้สมัครผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีคุณสมบัติต้องห้าม ซึ่งได้มีรายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังขอเรียนว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาผู้บริหารของ รฟท.ซึ่งเป็นการบริหารจัดการภายในโดยอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจของ รฟท. ดังนั้น จึงขอให้ รฟท.พิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบโดยตรง พร้อมทั้งแจ้งผลการพิจารณาให้ สคร.ทราบโดยเร็วต่อไปด้วย
ทั้งนี้ โปรดพิจารณาให้ความคุ้มครองผู้ร้อง ผู้ให้ข้อมูล และผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าให้ต้องรับภัย หรือความไม่ชอบธรรมอันเนื่องมาจากการร้องเรียนครั้งนี้ด้วย
@จับตา ป.ป.ช. หลังมีผู้ไปยื่นร้อง
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า นอกจาก สคร.แล้ว เครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ และดำเนินการโดยมิชอบของคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการการรถไฟฯ ในการดำเนินการสรรหาผู้ว่าฯ รฟท. มีปัญหาด้านคุณสมบัติที่ขัดกับประกาศ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม กรณีการสรรหาผู้ว่าฯรฟท.นั้น เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบผลการสรรหาตามที่คณะกรรมการสรรหา ที่มีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ เสนอชื่อ นายวีริศ อัมระปาล ซึ่งในขณะที่เข้ารับการสรรหา ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่าเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่ และผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 โดยบอร์ดรฟท.มีการลงนามสัญญาว่าจ้าง นายวีริศ อัมระปาล เป็นผู้ว่าฯ รฟท.คนที่ 20 ไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 และเริ่มทำงานทันที
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ผู้ว่าฯ รฟท.รับทราบหนังสือ สคร.แล้ว ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป เพราะกรณีที่ สคร.ทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ รฟท. ซึ่งปัจจุบันคือ นายวีริศ อัมระปาล ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับข้อร้องเรียนให้เป็นผู้ตอบชี้แจง จะมีการดำเนินการอย่างไร รฟท.จะตอบกลับสคร.อย่างไร และเมื่อใด และจะมีผลกระทบต่อตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟท.ในปัจจุบันหรือไม่
อ่านประกอบ
- ปัด 'สุริยะ' จิ้ม ! ‘วีริศ’ ยันสมัครผู้ว่าฯ รฟท.เองตามกระบวนการ ไม่มีปัญหาคุณสมบัติ
- ครม.อนุมัติ ‘วีริศ อัมระปาล’ นั่งผู้ว่าฯรถไฟคนใหม่ คาด 19 ก.ย.นี้เซ็นสัญญาจ้าง
- สหภาพฯรถไฟ ยื่นหนังสือปธ.บอร์ด ต้องสแกนเข้มคุณสมบัติผู้สมัครผู้ว่าฯใหม่
- นัด 2 ผู้สมัครชิงผู้ว่าฯรถไฟ แสดงวิสัยทัศน์ 24 ก.ค.นี้ - สหภาพฯ จ่อยื่นหนังสือบอร์ด
- ส่อง 4 ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่ารถไฟ ‘อดีตผู้บริหาร VOICE-ผู้ว่ากนอ.’ โดดร่วมวง
- ‘รถไฟ’ เปิดรับสมัครผู้ว่าคนใหม่ ปิดรับ 28 พ.ค. 2567