สหภาพฯรฟท.บุกยื่นหนังสือถึงประธานบอร์ด และประธานสรรหาฯผู้ว่าฯรฟท.ใหม่ หลังปรากฎตามสื่อว่า หนึ่งในผู้สมัครส่อมีคุณสมบัติขัดกับประกาศสรรหาฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 ก.ค. 2567 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) พร้อมด้วยพนักงาน รฟท. จำนวนหนึ่งได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นการเร่งด่วน พร้อมกันนี้ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย) ซึ่งมีผู้แทนรับมอบหนังสือ แทนประธานสรรหาฯผู้ว่าฯรฟท.
นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสร.รฟท. กล่าวว่า สหภาพรถไฟฯ ได้ยื่นหนังสือถึงประธานบอร์ดรถไฟ และประธานกรรมการสรรหาฯผู้ว่าฯรฟท.เพื่อแสดงจุดยืนเรื่องการสรรหา ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยคนใหม่ เนื่องจากมีปรากฎเป็นข่าวและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสาธารณะ สื่อออนไลน์ต่างๆในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟท.
ซึ่งเรื่องคุณสมบัติ ถือเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง ทำให้สหภาพฯรฟท. ต้องยื่นหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมการรฟท.ได้ดำเนินการสั่งการให้คณะกรรมการสรรหาฯผู้ว่าฯตรวจสอบวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครอีกครั้งอย่างละเอียดรอบคอบ โดยนำข้อมูลต่างๆที่ปรากฎตามที่สื่อมวลชนนำเสนอมาตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับภาพรวมองค์กร และสถานการณ์เร่งด่วนคือ การก่อสร้างระบบรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางซึ่งจะเริ่มแล้วเสร็จในปี 2568 โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง โครงการรถไฟความเร็วสูง และการปรับปรุงพัฒนาองค์กรในด้านต่างๆซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการคนที่เข้าใจ และรู้จริงคือ คนในองค์กร ที่มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ในการพัฒนากิจการรถไฟฯ
“สหภาพฯรฟท. มิได้มีเจตนาที่จะไปกีดกันบุคคลจากภายนอก ซึ่งเชื่อว่าแต่ละท่านมีความรู้ มีความสามารถของตนในแต่ละด้าน แต่การรถไฟฯ เป็นองค์ที่มีขนาดใหญ่มีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับหน่วยงาน สังคม ชุมชน มากมายทั่วประเทศ หากได้คนนอกเข้ามาเป็นผู้ว่าการฯ กว่าจะเรียนรู้เข้าใจงานที่มีเทคนิคเฉพาะหลายด้านทั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบทางและราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบล้อเลื่อน การบริการโดยสารและสินค้า การบริหารจัดการที่ดิน ทรัพย์สินที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก กว่าจะเข้าใจงาน เข้าใจคน เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร ก็ต้องใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้ ซึ่งเป็นหลักการตามเจตนารมณ์ของ สหภาพฯที่ได้แสดงจุดยืนมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ของกรรมการการบริหาร สร.รฟท.ในคราวประชุมวาระพิเศษเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 และกระแสความต้องการของ สร.รฟท.สาขาภูมิภาค สมาชิกที่ส่งเสียงมายัง สร.รฟท. ที่ต้องการ“คนที่เติบโตจากภายในของการรถไฟฯเข้ามาเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยคนใหม่” ประธานสหภาพฯกล่าว
จิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานบอร์ดรฟท.
@ปธ.บอร์ดชี้สรรหาผู้ว่าฯ มีการกลั่นกรองอยู่แล้ว
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานบอร์ดรฟท.กล่าวภายหลังรับมอบหนังสือจากสหภาพฯรฟท.ว่า ได้แจ้งไปยังนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาฯผู้ว่าฯรฟท.แล้วถึงข้อกังวลของสหภาพฯและพนักงานรถไฟ พร้อมทั้งกำชับให้ดำเนินการสรรหาฯตามอำนาจหน้าที่ ระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้ ขั้นตอนหลังคณะกรรมการสรรหาฯสรุปผล จะต้องเสนอไปที่ สำนักงานนโยบายรัฐวิสากิจ (สคร.) กระทรวงการคลังตรวจสอบและเจรจาผลตอบแทน ก่อนเสนอกลับมาที่บอร์ดรฟท.จากนั้นจึงจะเสนอกระทรวงคนาคม เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติ ซึ่งทุกขั้นตอนมีกระบวนการตรวจสอบกลั่นกรอง
@กังวลปมคุณสมบัติต้องห้ามคู่สัญญา รฟท.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แถลงการณ์ของสหภาพฯรฟท. ระบุว่า ประเด็น เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มาจากผู้บริหารของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยข้อมูลที่ปรากฎตามข่าวว่า กนอ.ในฐานะนิติบุคคล มีสัญญาเช่าที่ดินระหว่างกันกับการรถไฟฯ ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และที่บริเวณสถานีมักกะสัน หากข้อมูลดังกล่าวเป็นจริงอาจทำให้เข้าข่ายกรณีเป็นกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือผู้มีอํานาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจ
หากเทียบเคียงกับบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 654/2550 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า
“การกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารในมาตรา 8 ตรี (12) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2518 นอกจากจะเป็นการป้องกันมิให้บุคคลซึ่งมีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจนั้นเพื่อแสวงประโยชน์ใด ๆ อันมิชอบในรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่านิติบุคคลดังกล่าวจะเป็นภาคเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจด้วยกันก็ตามแล้ว
ยังป้องกันความขัดแย้งในบทบาทการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งและในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียในนิติติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวได้”
อ่านประกอบ