‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป มิ.ย.67 โต 0.62% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ 6 เดือนแรกปีนี้ เงินเฟ้อทั่วไปโต 0% คงเป้าทั้งปี 67 ที่ 0-1%
.........................................
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน มิ.ย.2567 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน มิ.ย.2567 เท่ากับ 108.50 ขยายตัว 0.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.2567 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2567 แต่ขยายตัวชะลอตัวลงจากเดือนก่อน (พ.ค.2567)
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย.2567 ขยายตัวที่ 0.62% มีปัจจัยสำคัญมาจาก ผลกระทบจากฐานต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าในเดือนก่อนหน้าสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดสูงขึ้นในอัตราชะลอตัว เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกหลังจากสิ้นสุดช่วงสภาพอากาศร้อนจัด สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
เมื่อพิจารณาการขยายตัวเป็นรายหมวดสินค้าในเดือน มิ.ย.2567 พบว่า หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 0.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้า เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ มะม่วง ทุเรียน มะเขือเทศ พริกสด ต้นหอม ผักบุ้ง มะเขือ และผักชี รวมถึงอาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้านที่ปรับสูงขึ้น เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟสำเร็จรูป ตลอดจนเครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำตาลทราย กะทิสำเร็จรูป น้ำพริกแกง ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร ปลาทู มะนาว น้ำมันพืช ส้มเขียวหวาน หัวหอมแดง และกระเทียม
ส่วนหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัว 0.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งแก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล เช่น แป้งทาผิว ยาสีฟัน เครื่องแต่งผมสตรีและบุรุษ กระดาษชำระ รวมถึงสุราและเบียร์ ที่ราคาสูงขึ้น สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ เสื้อยืด เสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้า
นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน มิ.ย.2567 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน (มิ.ย.2566) พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 272 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ มะเขือเทศ ขิง ฟักทอง มะม่วง กาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน (ข้าราดแกง) ค่าเช่าบ้าน และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
ส่วนสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 52 รายการ เช่น ชุดนอนเด็ก รองเท้ากีฬาสตรี ค่าบริการขนขยะ ค่าน้ำประปา ค่าโดยสารเรือ ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ค่าโดยสารรถไฟ และค่าเบี้ยประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 106 รายการ เช่น เนื้อสุกร ปลาทู ไก่ย่าง มะนาว ผักคะน้า แตงกวา ลองกอง ส้มเขียวหวาน น้ำมันพืช ค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก และแชมพู เป็นต้น
นายพูนพงษ์ ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2567) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยขยายตัว 0.0% หรือไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน มิ.ย.2567 เท่ากับ 104.73 ขยายตัว 0.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 6 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2567) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยขยายตัว 0.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 3/2567 คาดว่ามีแนวโน้มอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2/2567 โดยปัจจัยที่ยังทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ 1.ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า ตามมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ 2.สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตรมากขึ้น หลังจากสิ้นสุดช่วงอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าภาคการเกษตรปรับเข้าสู่ระดับปกติ
และ 3.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกรายใหญ่ รวมทั้งการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ตามสภาวะที่มีการแข่งขันสูง
ส่วนปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 3.ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้น
นายพูนพงษ์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่าง 0-1% (ค่ากลางร้อยละ 0.5)
อ่านประกอบ :
‘พาณิชย์’เผย‘เงินเฟ้อทั่วไป’พ.ค.67 ขยายตัว 1.54% สูงสุดในรอบ 13 เดือน-คงเป้าทั้งปี 0-1%
‘พาณิชย์’เผย‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ เม.ย.67 ขยายตัว 0.19% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.67 ติดลบ 0.47%-ปรับคาดการณ์ทั้งปีเป็นขยายตัว 0-1%
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.67 ติดลบ 0.77% หดตัวเป็นเดือนที่ 5-'Core CPI'ยังโต 0.43%
หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.67 ติดลบ 1.11%-Core CPI บวก 0.52%
หดตัวเดือนที่ 3! เงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.66 ลบ 0.83%-‘พาณิชย์’ย้ำยังไม่ถึงจุดเป็นภาวะเงินฝืด
ต่ำสุดรอบ 33 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หด 0.44%-ธ.ค.ส่อลบอีก แต่ไม่เข้านิยาม‘เงินฝืด’
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ
อานิสงส์รัฐลด‘ค่าไฟ-ดีเซล’! เงินเฟ้อ ก.ย.66 โต 0.3%-‘สนค.’หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1-1.7%
ราคาพลังงานสูงขึ้น! เงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.66 ขยายตัว 0.88%-8 เดือนแรก Core CPI โต 1.61%
ราคาอาหาร-น้ำมันลดต่อเนื่อง! เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.ขยายตัว 0.38%-เฉลี่ย 7 เดือนแรกโต 2.19%
หั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือ 1-2%! ‘พาณิชย์’เผย CPI มิ.ย.66 โต 0.23% ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน
ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค.66 ขยายตัว 0.53%-Core CPI ชะลอตัวเหลือ 1.55%
ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.ขยายตัว 2.83%-หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1.7-2.7%
ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.66 ขยายตัว 3.79%-สินค้าขยับขึ้นราคา 334 รายการ