ครม. ‘เศรษฐา’ เคาะ 7 แนวทาง จัดทำงบประมาณปี 68 ต้องสอดคล้อง ‘ยุทธศาสตร์ชาติ-แผนพัฒนาฯ ฉบับ 13’ สนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัว ยกเลิกโครงการที่หมดความจำเป็น
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณ และปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้เป็นแนวทางประกอบการวางแผนดำเนินงานและกำหนดแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา
สำหรับแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ประกอบด้วย 7 แนวทาง ได้แก่
1.มุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566-2570) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ รวมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ
2.จัดทำงบประมาณเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการสร้างรายได้ ขยายโอกาส ดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคง ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีสวัสดิการที่เหมาะสม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการภาครัฐ โดยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี หรือแนวปฏิบัติใหม่ๆ ในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบราชการ
3.จัดทำงบประมาณโดยพิจารณาลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่หมดความจำเป็นหรือมีความสำคัญในระดับต่ำ และคำนึงถึงศักยภาพการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณในปีที่ผ่านมา
4.จัดทำแผนงานโครงการ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด ผลลัพธ์ที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ โดยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อลดความซ้ำซ้อน เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ
5.จัดทำงบประมาณโดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณ เช่น เงินรายได้ เงินสะสมคงเหลือ มาดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเป็นลำดับแรก รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินอื่นเพื่อดำเนินโครงการภาครัฐ เช่น เงินกู้ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnerships-PPP) เพื่อลดภาระงบประมาณของประเทศ
6.ให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณมิติพื้นที่ (Area) ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่ ระดับภูมิภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และท้องถิ่น ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือระหว่างราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล
7.ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน
ส่วนปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 มีกรอบระยะเวลาดำเนินการที่น่าสนใจ เช่น 27 ธ.ค.2566-12 ม.ค.2567 กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ร่วมกับพิจารณาประมาณการรายได้ กำหนดนโยบาย กรอบวงเงินงบประมาณ และโครงสร้างงบประมาณปีงบ 2568 และนำเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ
16 ม.ค.2566 ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบาย วงเงินงบประมาณรายจ่าย และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2568 ,เดือน ธ.ค.2566-27 ม.ค.2567 หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณปีงบ 2568 ,วันที่ 27 ม.ค.-19 มี.ค.2568 สำนักงบประมาณพิจารณารายละเอียดงบประมาณ และเสนอให้ ครม.พิจารณา , วันที่ 26 มี.ค.2568 ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณและแนวทางการปรับปรุงงบประมาณ
วันที่ 7 พ.ค.2567 ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และให้สำนักงบประมาณจัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ,วันที่ 5-6 มิ.ย.2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วาระ 1 ,วันที่ 28-29 ส.ค.2567 2567 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วาระ 2-3
วันที่ 9-10 ก.ย.2567 วุฒิสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 และวันที่ 17 ก.ย.2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป (อ่านละเอียดด้านล่าง)
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ภายใต้แผนการคลังระยะกลาง (ปีงบ 2567-2570) ฉบับทบทวน มีการประมาณสถานะทางการคลังในระยะปานกลาง โดยคาดว่าในปีงบ 2568 งบประมาณรายจ่ายจะอยู่ที่ 3,591,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 3.2% และคาดว่ารายได้รัฐบาลสุทธิจะอยู่ที่ 2,899,000 ล้านบาท หรือขาดดุลการคลัง 692,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.43% ต่อจีดีพี
(ที่มา : แผนการคลังระยะกลาง (ปีงบ 2567-2570) ฉบับทบทวน)
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2568 ดังกล่าว เป็นการจัดทำงบประมาณในช่วงคาบเกี่ยวกับการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดงบประมาณ และคาดว่าจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปีงบ 2567 ขึ้นทูลเกล้าฯในวันที่ 17 เม.ย.2567 (อ่านประกอบ : เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า)
อ่านประกอบ :
‘สำนักงบฯ’แจงเกณฑ์ยื่นคำของบปี 67 ลงทุนต้องดูความพร้อม-สนับสนุนสินค้า'บัญชีนวัตกรรม'30%
ครม.เห็นชอบ 4 หน่วยคมนาคม 53 โปรเจ็กต์พันล้านผูกพันงบปี 67
ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน! ครม.อนุมัติ ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 67
เปิดรายละเอียดกรอบงบ 67 รัฐลงทุน 7.19 แสนล. มองGDPปีหน้าโต 3.2%-หลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้