‘สำนักงบฯ’ แจ้ง 'หน่วยงานรัฐ’ ยื่นคำขอจัดสรร 'งบลงทุน' ปี 67 ให้พิจารณา ‘ความพร้อมในการก่อหนี้’ หลังมีเวลาใช้จ่ายงบปี 67 แค่ 5 เดือน พร้อมแจง 10 หลักเกณฑ์ยื่นของบฯ ต้องสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใน 'บัญชีนวัตกรรม' ไม่น้อยกว่า 30%
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์สำนักงบประมาณเผยแพร่เอกสารสรุปการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจตอนหนึ่งว่า กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบฯ 2567 กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3,480,000 ล้านบาท โดยคาดการณ์จัดเก็บรายได้ 2,787,000 ล้านบาท และกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 693,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในกรณีรายจ่ายลงทุนนั้น เนื่องจากภายหลังการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะเหลือเวลาเพียง 5 เดือน ดังนั้น ขอให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำคำของบประมาณโดยพิจารณาจากความพร้อมในการก่อหนี้ผูกพันใหม่ หรือทบทวนรายการปีเดียวที่มีวงเงินสูง เนื่องจากประสิทธิภาพในการใช้จ่ายจะถูกนำมาพิจารณาในการจัดสรรงบประมาณปีต่อไป
นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังสรุปหลักเกณฑ์ในการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนนวน 10 ข้อ ได้แก่ 1.น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาด้านต่างๆ 2.การแสดงวัตถุประสงค์ความจำเป็น ผลสัมฤทธิ์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 3.การยื่นคำของบประมาณรายจ่ายให้พิจารณาลำดับความสำคัญ ซึ่งต้องมีความพร้อม และถูกต้องตามหลักเกณฑ์
4.ให้คำนึงถึงความเสมอภาคมิติเพศสภาวะ การคำนึงถึงผลประโยชน์ที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนได้เสีย 5.การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในบัญชีนวัตกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
6.งบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับบุคลากรของรัฐและสวัสดิการของบุคลากรของรัฐ ขอให้ตั้งงบประมาณอย่างเพียงพอ และปรับขนาดกำลังคนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล 7.หน่วยรับงบประมาณที่มีรายการผูกพันใหม่ที่มีวงเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ให้นำเสนอ ครม.ก่อนส่งคำขอมายังสำนักงบประมาณ
8.หน่วยรับงบประมาณที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายการในงบลงทุนที่มีวงเงินเกิน 500 ล้านบาท ให้ทำประเมินความเสี่ยงการทุจริตตามแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริตก่อนเสนอรายละเอียดคำขอมายังสำนักงบประมาณ
9.การขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามภารกิจที่ต้องดำเนินการในพื้นที่ ให้พิจารณาถึงหลักการกระจายงบประมาณอย่างเหมาะสมเป็นธรรม ไม่ให้กระจุกอยู่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และ 10.ให้ความสำคัญกับการพิจารณาทุกแหล่งเงิน โดยหน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณมาสมทบตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณที่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่และแผนพัฒนาพื้นที่ โดยให้ระบุความสอดคล้องกับแผนพัฒนาต่างๆ ในรายการที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณ เช่น
1.แผนพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ แผนพัฒนาหมู่บ้าน/แผนพัฒนาชุมชน/แผนพัฒนาตำบล/แผนพัฒนาท้องถิ่น/แผนพัฒนาอำเภอ/แผนพัฒนาจังหวัด/แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด/แผนพัฒนาภาค 2.การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เช่น การประชาพิจารณ์ การประชุมเชิงปฏิบัติการ 3.แผนปฏิบัติราชการของหน่วยรับงบประมาณ
ขณะที่หลักเกณฑ์การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ดังนี้ 1.ภารกิจที่ยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาภาค/เมือง/ จังหวัด/กลุ่มจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงเป็นแผนงาน/โครงการที่บรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น
2.ได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารท้องถิ่น หรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และ/หรือเป็นภารกิจถ่ายโอนจากส่วนกลางไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายและขั้นตอนการกระจายอำนาจ 3.พิจารณาแหล่งเงินอื่น เช่น เงินนอกงบประมาณที่มีอยู่มาสมทบตามความเหมาะสม 4.จัดทำแผนความต้องการครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำของบประมาณรายจ่ายของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด มีหลักเกณฑ์เพิ่มเติม ดังนี้
1.โครงการ/กิจกรรมที่จะขอตั้งงบประมาณต้องอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) คณะบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ (ก.น.บ.) โดยจัดลำดับความสำคัญของโครงการเพื่อพิจารณากลั่นกรองตามขั้นตอน
2.ให้ความสำคัญกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาคตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.2565 3.ไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณที่เสนอตั้งในแผนงานอื่นๆ 4.การยื่นคำขอฯ ให้เสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด และยื่นต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อเสนอต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ช่วงปลายปีงบประมาณ มีการขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบความซ้ำซ้อนด้วย
อ่านเพิ่มเติม : เอกสารสรุปการประชุมสัมมนา การมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2566
อ่านประกอบ :
ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน! ครม.อนุมัติ ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 67
เปิดรายละเอียดกรอบงบ 67 รัฐลงทุน 7.19 แสนล. มองGDPปีหน้าโต 3.2%-หลายปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า
ขาดดุลฯ 6.93 แสนล.! ครม.ไฟเขียวเพิ่ม'กรอบวงเงิน'งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน
เปิดยุทธศาสตร์งบ 67 รบ.'เศรษฐา'ดัน 28 เรื่องด่วน-คาดทูลเกล้าฯ'ร่างพ.ร.บ.งบฯ'เม.ย.ปีหน้า
ขาดดุลเพิ่มแสนล.! รบ.เคาะกรอบงบปี 67 เป็น 3.48 ล้านล้าน-‘เศรษฐา’ย้ำแจก‘หมื่นบาท’ไม่กู้