‘ธปท.’ เผยสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ไตรมาส 1/66 โต 0.5% หลังธุรกิจใหญ่หันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้-เร่งคืนหนี้-โอนพอร์ตลูกหนี้ให้ ‘บ.ลูก’ ขณะที่หนี้เสียลดลงเหลือ 2.68%
...........................................
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1/2566 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะถัดไปได้
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2566 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์มีอัตราการขยายตัวที่ 0.5% ชะลอลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่สินเชื่อฯขยายตัว 2.1% จากการชำระคืนหนี้ของภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ และ Soft loans รวมทั้งการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการระดมทุน จากตลาดสินเชื่อไปเป็นการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
อย่างไรก็ดี หากรวมกับพอร์ตสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งได้โอนขายพอร์ตลูกหนี้รายย่อยไปยังบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นแล้ว พบว่าสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์จะขยายตัวได้ที่ระดับ 1.3%
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดของสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อธุรกิจหดตัว 0.3% ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 2.1% และเมื่อพิจารณาการปล่อยสินเชื่อแยกตามขนาดธุรกิจ พบว่าสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ยังขยายตัวได้ที่ 2% แต่สินเชื่อ SME หดตัว 3.5% นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสินเชื่ออุปโภคบริโภคแยกตามพอร์ตสินเชื่อ พบว่าหากไม่รวมสินเชื่อที่ธนาคารฯโอนไปยังบริษัทลูก สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตยังขยายตัวได้ ส่วนสินเชื่อบ้านยังขยายตัวได้ 2.9%
ด้านคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 498.0 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.68% ลดลงจากไตรมาสก่อน (4/2565) ที่สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.73%
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2566 ปรับดีขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นสุทธิกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝาก และ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ ประกอบกับกำไร FVTPL จากตราสารอนุพันธ์เป็นสำคัญ แม้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2566 ) ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเทียบไตรมาสก่อน (4/2566) ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิลดลง 4% จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับไตรมาสก่อนมีรายได้พิเศษจากการขายและโอนพอร์ตสินเชื่อรายย่อย แม้ค่าใช้จ่ายสำรองและค่าใช้จ่ายดำเนินงานจะปรับลดลง แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกัน (1/2565) พบว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 21.2%
“กำไรในไตรมาสนี้ (1/2566) ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่ม การ Mark to Market ตราสารหนี้ที่มีกำไร และค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง แต่หากเทียบไตรมาสต่อไตรมาส พบว่ากำไรไตรมาสนี้จะต่ำกว่าไตรมาสที่แล้ว ขณะที่ NIM ในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 2.77%” น.ส.สุวรรณี กล่าว
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ในส่วนหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจนั้น แม้ว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง และการฟื้นตัวของธุรกิจบางกลุ่ม ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP ปรับลดลงต่อเนื่อง เพราะมีการชำระคืนหนี้ ด้านความสามารถในการทำกำไรปรับลดลง แต่ฐานะการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี และยังต้องติดตามผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอลง และบางธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
“หนี้ครัวเรือนยังขยายตัวอยู่ แต่ชะลอตัวลง โดยหนี้ในกลุ่มรถชะลอตัว ส่วนบ้านขยายตัวในสัดส่วนเท่าๆเดิม บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลก็ยังขยายตัวอยู่ ซึ่งสะท้อนว่าหนี้ครัวเรือนนั้น มีบางส่วนที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว และยังคงต้องพึ่งพาสินเชื่อเพื่อรักษาสภาพคล่องและการบริโภค ส่วนหนี้ภาคธุรกิจปรับลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดหนี้สินภาคธุรกิจต่อ GDP อยู่ที่ 88.4% สะท้อนว่าภาคธุรกิจมีการคืนหนี้อย่างต่อเนื่อง” น.ส.สุวรรณี ระบุ
น.ส.สุวรรณี ยังระบุว่า ลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือมีแนวโน้มลดลงจากไตรมาสก่อน และในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง
อ่านประกอบ :
คืนหนี้-ออกบอนด์-โอนพอร์ตหนี้! 'ธปท.'เผยไตรมาส 4/65 สินเชื่อแบงก์โต 2.1%-NPLเหลือ 2.73%
‘ธปท.’ เผยสินเชื่อ ‘ระบบธนาคารพาณิชย์’ ไตรมาส 3/65 เติบโต 5.3%-NPL ลดเหลือ 2.77%
'ธปท.'เผยไตรมาส 2/65 ยอดปล่อยสินเชื่อ'ระบบแบงก์พาณิชย์'โต 6.3%-หนี้เสียลดเหลือ 2.88%
'ธปท.' เผยไตรมาส 1/65 สินเชื่อ'แบงก์พาณิชย์' เติบโต 6.9%- 'หนี้เสีย'ทรงตัวที่ 2.93%
ไตรมาสแรก '6 แบงก์ใหญ่' กำไรเพิ่มทั่วหน้า ตั้งสำรองฯลดลง-คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น
‘ธปท.’ เผยปี 64 ระบบแบงก์พาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 23.6%-NPL 2.98%
ธปท.ประกาศให้ 'แบงก์พาณิชย์' จ่ายเงินปันผล ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ ปี 64