‘แบงก์ชาติ’ เผยไตรมาส 4/65 สินเชื่อ ‘ระบบธนาคารพาณิชย์’ เติบโต 2.1% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน หลัง ‘ธุรกิจขนาดใหญ่-ภาครัฐ’ แห่ชำระคืนหนี้-‘แบงก์’ โอนพอร์ตสินเชื่อไปยัง ‘บริษัทลูก’ ขณะที่ยอด NPL ลดเหลือ 2.73%
........................................
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาพรวมธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 2565 และปี 2565 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องติดตามการชำระหนี้ของลูกหนี้ในกลุ่มเปราะบาง และการฟื้นตัวของธุรกิจบางประเภท
สำหรับสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ใน ปี 2565 ขยายตัวในอัตรา 2.1% ชะลอลงจากปีก่อน จากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ และการชำระหนี้ของภาครัฐให้กับสถาบันการเงิน ขณะที่สินเชื่อ Soft loan ที่เริ่มครบกำหนดชำระ2 ปี นับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.2565 เป็นต้นมา รวมทั้งการโอนพอร์ตสินเชื่อรายย่อยประเภทสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งไปยังบริษัทลูก และการบริหารจัดการคุณภาพหนี้
อย่างไรก็ดี สินเชื่อในภาพรวมยังขยายตัวได้ จากธุรกิจรายใหญ่ในภาคพาณิชย์ และสินเชื่อรายย่อยพอร์ตที่อยู่อาศัยและส่วนบุคคลเป็นสำคัญ
ด้านคุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan : NPL หรือ stage 3) ณ สิ้นปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 499.2 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.73
ส่วนผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2565 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยหลักเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงตลอดช่วง COVID-19 ส่งผลให้ผลกำไรปรับเพิ่มขึ้น
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ในส่วนของหนี้ครัวเรือนนั้น แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยล่าสุดในช่วงไตรมาส 3/2565 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 86.8% แต่ครัวเรือนยังเปราะบางจากภาระหนี้สูง และยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบ COVID-19 และอาจได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพและดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น
ขณะที่ในภาคธุรกิจนั้น สัดส่วนหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 87.1 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน และความสามารถในการทำกำไรโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตามฐานะการเงินของภาคธุรกิจ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง
ส่วนลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือมีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น โดยในเดือน ธ.ค.2565 มียอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.38 ล้านล้านบาท จำนวนบัญชีที่ได้รับการช่วยเหลือ 5.22 ล้านบัญชี ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัว มีการอนุมัติสินเชื่อแล้วทั้งสิ้น 2.12 แสนล้านบาท มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 5.98 หมื่นราย และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการ 6.49 หมื่นล้านบาท มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 442 ราย
สำหรับผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 2565 และปี 2565 มีรายละเอียด ดังนี้
ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ร้อยละ 19.4 สภาพคล่องปรับตัวดีขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจากการคืนหนี้ของลูกหนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ร้อยละ 197.3 ขณะที่เงินสำรองปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ร้อยละ 171.9
ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4 ปี 2565 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐ และสินเชื่อ Soft Loan รวมทั้งการโอนพอร์ตสินเชื่อรายย่อยไปยังบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากบวกยอดโอนพอร์ตสินเชื่อรายย่อยที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งโอนให้บริษัทลูก สินเชื่อรวมจะขยายตัวร้อยละ 2.8
ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งในภาคสื่อสาร พลังงาน และภาคค้าปลีก มีการระดมทุนอย่างต่อเนื่องผ่านการออกตราสารหนี้ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ และรีไฟแนนซ์ตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด รวมทั้งนำเงินบางส่วนมาชำระสินเชื่อสถาบันการเงิน
สำหรับการขยายตัวของสินเชื่อเมื่อแยกตามพอร์ตสินเชื่อ นั้น สินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากหักหนี้ของภาครัฐที่ชำระเข้ามาและหักหนี้ในส่วนของ Soft Loan สินเชื่อธุรกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.2
ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวร้อยละ 3.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากก่อนสิ้นสุดมาตรการ LTV ในช่วงสิ้นปี 2565 ทำให้มีการเร่งโอนและตกลงกู้เงิน สำหรับสินเชื่อรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากไตรมาสก่อน สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่ชะลอลง
ด้านสินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว 14.2% แต่หากนำยอดหนี้บัตรเครดิตที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งโอนให้บริษัทลูกกลับเข้ามาแล้ว สินเชื่อบัตรเครดิตจะขยายตัวร้อยละ 6.8 เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 แต่หากบวกสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์โอนไปให้บริษัทลูก สินเชื่อส่วนบุคคลจะขยายตัว 8.5 ซึ่งสอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนมีความจำเป็นต้องใช้เงินจากสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
ด้านคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น โดยสัดส่วนคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.73 จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.77 โดยหลักๆมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอย่างต่อเนื่อง และการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะการขายหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยเฉพาะ AMC แห่งหนึ่งที่มีการตั้งเป็น Joint Venture เพื่อรับซื้อหนี้จากธนาคารพาณิชย์จำนวนหนึ่ง
เมื่อพิจารณาสัดส่วน NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภค พบว่า NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ร้อยละ 3.01 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ NPL อยู่ที่ร้อยละ 3.25 อย่างไรก็ดี NPL สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดย NPL สินเชื่อรถยนต์ อยู่ที่ร้อยละ 1.88 , NPL สินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 3.12 และ NPL สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 2.4
ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 จำนวน 62 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.3 โดยหลักเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายกันสำรองลดลง ส่งผลให้ในปี 2565 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 236 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ไตรมาส 4/2565 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.88 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.64 ทั้งนี้ ภาพรวมอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) อยู่ที่ร้อยละ 1.05 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 1.01 และอัตรากำไรสุทธิต่อส่วนผู้ถือหุ้น (return on equity : ROE) อยู่ที่ร้อยละ 7.85 จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 7.51
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ เผยสินเชื่อ ‘ระบบธนาคารพาณิชย์’ ไตรมาส 3/65 เติบโต 5.3%-NPL ลดเหลือ 2.77%
'ธปท.'เผยไตรมาส 2/65 ยอดปล่อยสินเชื่อ'ระบบแบงก์พาณิชย์'โต 6.3%-หนี้เสียลดเหลือ 2.88%
'ธปท.' เผยไตรมาส 1/65 สินเชื่อ'แบงก์พาณิชย์' เติบโต 6.9%- 'หนี้เสีย'ทรงตัวที่ 2.93%
ไตรมาสแรก '6 แบงก์ใหญ่' กำไรเพิ่มทั่วหน้า ตั้งสำรองฯลดลง-คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น
‘ธปท.’ เผยปี 64 ระบบแบงก์พาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 23.6%-NPL 2.98%
ธปท.ประกาศให้ 'แบงก์พาณิชย์' จ่ายเงินปันผล ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ ปี 64