6 แบงก์ใหญ่ รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/65 พบมีกำไรเพิ่มขึ้นทั่วหน้า ‘ไทยพาณิชย์’ กำไร 1.01 หมื่นล้าน เติบโต 1% ตั้งเงินสำรองฯ ลดลง 12.6% ‘กสิกรไทย’ กำไร 1.12 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 5.5% ขณะที่ 'แบงก์กรุงไทย' กำไร 8.7 พันล้าน โตพุ่ง 57.4% 'แบงก์กรุงเทพ' มีกำไร 7.1 พันล้าน เติบโต 2.8% ส่วน ‘กรุงศรี’ โชว์กำไรสุทธิ 7.41 พันล้าน คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น ด้าน ‘ทีเอ็มบีธนชาต’ กำไรโต 15% แตะ 3,195 ล้านบาท
..............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย 6 แห่ง ได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2565 โดยธนาคารทั้ง 6 แห่ง ต่างก็มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ธนาคารส่วนใหญ่มีการตั้งสำรองฯลดลง คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้น และมีหนี้เสีย (NPLs) ลดลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารทั้ง 6 แห่ง ยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และมีการติดตามคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้อย่างใกล้ชิด
@'ไทยพาณิชย์' กำไร 1.01 หมื่นล้าน-ตั้งสำรองฯลดลง 12.6%
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2565 จำนวน 10,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการขยายตัวของฐานรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองจำนวน 21,713 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 4.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วที่มีการปิดเมืองเป็นวงกว้าง
ในไตรมาส 1 ของปี 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 24,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและอัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อที่ปรับตัวดีขึ้นในขณะที่สินเชื่อรวมขยายตัวเล็กน้อย
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 12,960 ล้านบาท ลดลง 9.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการลดลงของรายได้จากเงินลงทุน และการชะลอตัวของธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 15,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจโดยรวมที่เพิ่มมากขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 42.4% ในไตรมาส 1 ของปี 2565
ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองในไตรมาส 1 ของปี 2565 จำนวน 8,750 ล้านบาท ลดลง 12.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภายหลังจากที่ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองไว้ในระดับที่สูงกว่าสภาวะปกติตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 3.70% ปรับตัวลดลงจาก 3.79% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 143.9% และเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.6%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารในไตรมาสแรกสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่โดยรวมยังคงมีความเปราะบางและมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายและความผันผวนอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบของธนาคาร โดยผ่านโครงการการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้ลูกค้าสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันยอดสินเชื่อภายใต้โครงการฯ (มาตรการสีฟ้า) มีจำนวน 249,000 ล้านบาท
“สุดท้ายนี้ ธนาคารมีความยินดีกับผลสำเร็จของการแลกหุ้นของธนาคารไปสู่บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับการตอบรับคำเสนอซื้อหุ้นมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ และฝ่ายจัดการมีความเชื่อมั่นที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวจากการปรับโครงสร้างนี้”นายอาทิตย์ กล่าว
@‘กสิกรไทย’ กำไรสุทธิ 1.12 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 5.5%
ส่วน ธนาคารกสิกรไทย รายงานว่า ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 11,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 584 ล้านบาท หรือ 5.50% หลักๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 3,618 ล้านบาท หรือ 12.86% จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ
ส่วนใหญ่เกิดจากการให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคารแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ และมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าโดยการเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ รวมทั้งลูกค้าบางส่วนยังอยู่ภายใต้มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารยังคงต้องมีการบริหารจัดการดอกเบี้ยค้างรับอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 3,032 ล้านบาท หรือ 25.49% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 859 ล้านบาท หรือ 5.20% หลักๆ จากค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และค่าใช้จ่ายทางการตลาด รวมทั้งธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 686 ล้านบาท หรือ 7.93% สอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มจากเศรษฐกิจโลก
ส่วนผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2565 เปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 11,211 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1,310 ล้านบาท หรือ 13.23% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 951 ล้านบาท หรือ 3.09% ส่วนใหญ่จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.19%
ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 2,861 ล้านบาท หรือ 24.40% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to market) ของสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 3,088 ล้านบาท หรือ 15.08% เนื่องจากในไตรมาสก่อนมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ และค่าใช้จ่ายทางการตลาดซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 42.82%
นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยยังคงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ท่ามกลางการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 158.33% เป็นระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,133,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 จำนวน 29,849 ล้านบาท หรือ 0.73% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 3.78% โดยธนาคารมีการติดตามดูแลคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด
ขณะที่สิ้นปี 2564 อยู่ที่ระดับ 3.76% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทย ตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 18.34% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.35%
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2565 ยังคงเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยแม้จะมีแรงหนุนจากการส่งออกสินค้า การใช้จ่ายและมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาครัฐ แต่การใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการขยับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิต
สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี มองว่า เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน เพราะยังคงต้องรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีต่อทิศทางราคาพลังงานและแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
@‘กรุงไทย’ กำไร 8.7 พันล้าน เพิ่มขึ้น 57.4%-หนี้เสียลด
ด้าน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ธนาคารและบริษัทย่อยมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไตรมาส 1 ปี 2565 ธนาคารฯมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้รวมขยายตัวทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากสินเชื่อที่เติบโตโดยธนาคารมุ่งเน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน
สินเชื่อเติบโตดี ทั้งสินเชื่อภาครัฐ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อย อีกทั้ง ธนาคารมีการบริหารต้นทุนทางการเงินเป็นอย่างดีอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้จากการดำเนินงานอื่นที่ขยายตัว รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งลดลงร้อยละ 3.5 ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.25 ลดลงจากร้อยละ 44.25 ในไตรมาส 1 ปี 2564
ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 5,470 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 32.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังยึดหลักระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะมีผลกระทบกับคุณภาพของสินทรัพย์ โดยมี NPLs Ratio อยู่ที่ร้อยละ 3.34 ลดลงจากร้อยละ 3.50 ณ สิ้นปีที่ผ่านมา และลดลงจากร้อยละ 3.66 ณ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงกว่าสถานการณ์ปกติ โดยเท่ากับร้อยละ 173.6 เทียบกับร้อยละ 168.8 ณ สิ้นปี 2564 และร้อยละ 153.9 ณ 31 มีนาคม 2564
เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.6 จากไตรมาสที่ผ่านมา โดยรายได้รวมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงท้าทาย และการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดลงร้อยละ 16.8 ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 41.25 ลดลงจากร้อยละ 49.16 ในไตรมาส 4 ปี 2564 ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่ยังยึดหลักระมัดระวัง ถึงแม้ลดลงร้อยละ 33.6 จากไตรมาสที่ผ่านมา
ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง (งบเฉพาะธนาคาร) เท่ากับร้อยละ 16.34 และ ร้อยละ 19.67 ตามลำดับ อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งในเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนประเภทที่ 2 อายุ 10 ปี จำนวน 18,080 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AA(tha) แนวโน้มคงที่ จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเงินกองทุน เพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขัน และรองรับการขยายตัวของธุรกิจ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังคงจะเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด และมาตรการเฉพาะจุดที่หลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ของภาครัฐ โดยภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศและภาคการส่งออกยังมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก
โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังมีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มทะยานสูงขึ้น อีกทั้ง ยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตลดลง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นมาก
“ธนาคารกรุงไทย จึงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง บริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิดให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่อง รักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูง เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในอนาคต และการมีระดับของเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเพื่อเตรียมพร้อมในการขยายธุรกิจสำหรับการแข่งขันในอนาคต รวมทั้งดูแลช่วยเหลือลูกค้าที่มีศักยภาพทุกกลุ่มอย่างใกล้ชิด ครอบคลุมลูกค้ารายย่อย และลูกค้าธุรกิจ ทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน มาตรการเฉพาะกลุ่ม และมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน” นายผยงกล่าว
@'ธนาคารกรุงเทพ' กำไรสุทธิ 7.1 พันล้าน เติบโต 2.8%
ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 โดยมีกำไรสุทธิ จำนวน 7,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.11
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 16.1 ส่วนใหญ่จากกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดด้วยมูลค่ายุติธรรมลดลงตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจบัตรเครดิต และบริการประกันผ่านธนาคารและกองทุนรวม ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 1.6 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 49.8
ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 6,489 ล้านบาท โดยธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 229.0
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,587,534 ล้านบาท อยู่ในระดับเดียวกับสิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยมีสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้นสุทธิกับการลดลงของสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.3
ด้านเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 3,194,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้ายังคงต้องการดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 81.0
ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.5 ร้อยละ 16.0 และร้อยละ 15.2 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากผลกระทบอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกรอบ รัฐบาลจึงต้องเข้มงวดเรื่องการเข้าเมืองอีกครั้ง ทำให้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศชะลอลง
ขณะเดียวกัน สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน นำไปสู่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและพลังงานโลก ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภท ด้วยเหตุนี้ อัตราเงินเฟ้อจึงได้ปรับเพิ่มขึ้นในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ทำให้การบริโภคของภาคเอกชนภายในประเทศชะลอตัว
นอกจากนี้ ยังทำให้ธนาคารกลางในบางประเทศต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ทำให้ภาคการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 12.2 จากเดิมที่เคยขยายตัวได้ถึงร้อยละ 22.1ในไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับในระยะข้างหน้าความผันผวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะใช้เวลานานและไม่เท่ากัน โดยแต่ละธุรกิจใช้เวลาในการปรับตัวที่แตกต่างกันออกไป บางธุรกิจฟื้นตัวได้รวดเร็ว เช่น กิจการส่งออกไปต่างประเทศในขณะที่บางธุรกิจฟื้นตัวช้ากว่า
เช่น กิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและสันทนาการ ซึ่งธนาคารกรุงเทพได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าในแต่ละภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบในแต่ละช่วงที่ลูกค้าประสบปัญหา โดยเน้นให้การสนับสนุนสภาพคล่องทั้งในระยะสั้นเพื่อประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอด และสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเมื่อธุรกิจกลับมาฟื้นตัว
นอกจากนี้ ธนาคารดำเนินธุรกิจด้วยเจตนารมณ์ของการเป็น 'เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน' พร้อมแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนลูกค้าให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ในขณะเดียวกันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
@‘แบงก์กรุงศรี’ โชว์กำไร 7.4 พันล้าน-คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือกรุงศรี รายงานว่า ไตรมาสแรกปี 2565 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและบริษัทในเครือ มีกำไรสุทธิ 7,418 ล้านบาท จากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยกรุงศรีมุ่งมั่นสานต่อพันธกิจหลักเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดที่ยืดเยื้อและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์การเมือง
“แม้เผชิญความท้าทายของสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ เงินให้สินเชื่อรวมของกรุงศรียังคงเติบโตได้ที่ 2.0% ในไตรมาสแรกของปี 2565 จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเติบโตถึง 3.9% และ 4.0% ตามลำดับ สะท้อนความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น กอปรกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยตัวชี้วัดด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงแข็งแกร่งจากอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 2.03% และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับสูงสุดที่เคยบันทึกที่ 191.6%”กรุงศรี ระบุ
สำหรับสรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับไตรมาส 1/2565 มีดังนี้
กำไรสุทธิ จำนวน 7,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,033 ล้านบาท หรือ 16.2% จากไตรมาสที่สี่ของปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2564 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 913 ล้านบาท หรือ 14.0% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงานและการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 2.0% หรือจำนวน 38,194 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งเติบโตถึง 3.9% และ 4.0% ตามลำดับ
เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 2.8% หรือจำนวน 50,041 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์ สะท้อนการปรับตัวดีขึ้นของสัดส่วนของเงินรับฝากประเภทออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถามต่อเงินรับฝากทั้งหมด
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.28% เทียบกับ 3.41% จากไตรมาสก่อนหน้า
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ลดลงจำนวน 502 ล้านบาท หรือ 5.7% จากไตรมาสที่สี่ของปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากกิจกรรมทางธุรกิจของลูกค้าตามฤดูกาลในไตรมาสที่ผ่านมา
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 42.7% ลดลงจาก 43.9% ในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 สะท้อนถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมายของอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สำหรับปี 2565 ในช่วงกลางของ 40%
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 2.03% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 เทียบกับ 2.20% ณ สิ้นปี 2564
อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับสูงสุดที่เคยบันทึกที่ 191.6% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 184.2% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564
อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 18.25% เทียบกับ 18.53% ณ สิ้นปี 2564
นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าจะเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน และปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน หากแต่พันธกิจหลักของกรุงศรีที่มุ่งเน้นในการสนับสนุนการฟื้นฟูภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จึงทำให้สินเชื่อขยายตัวได้ 2.0% ในไตรมาสแรกของปี 2565 จากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สะท้อนความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นกอปรกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
“เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ภายใต้ภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนนับแต่ต้นปี 2565 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออก ควบคู่ไปกับมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ กรุงศรีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม วิกฤตความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์การเมืองในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอลง กรุงศรีจึงปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เป็น 2.8% จากเดิมที่ 3.7%” นายเซอิจิโระ ระบุ
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.93 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.83 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.61 ล้านล้านบาท
ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 291.34 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 18.25% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 13.32%
@‘ทีเอ็มบีธนชาต’ กำไร 3.1 พันล้าน เติบโต 15%
ด้าน ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 3,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายละเอียดผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2565 ดังนี้
ณ สิ้นไตรมาส 1/65 เงินฝาก อยู่ที่ 1,360 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% จากไตรมาสก่อนหน้า
ด้านสินเชื่อ สามารถเติบโตสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายได้ตามแผน โดยในไตรมาส 1/65 สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเติบโตได้ที่ 1.2% และ 0.8% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ลดลง สาเหตุหลักจากการชำระคืนจากสินเชื่อหมุนเวียน จึงส่งผลให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1,366 พันล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยที่ 0.4% จากไตรมาสที่แล้ว
ในด้านรายได้ ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ Pre-Provision Operating Profit (PPOP) จำนวน 8,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จาก 8,461 ล้านบาท ในไตรมาส 4/64 และใกล้เคียงกับ 8,898 ล้านบาท ในไตรมาส 1/64 ปัจจัยหนุนหลักมาจากการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในไตรมาส 1/65 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 6,987 ล้านบาท ลดลง 12.7% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 14.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ช่วยลดแรงกดดันจากด้านรายได้ ซึ่งยังคงเห็นการชะลอตัวอยู่
โดยรายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 15,774 ล้านบาท ชะลอลง 4.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/64 และ 7.9% จากไตรมาส 1/64 สาเหตุหลักจากรายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ยังคงชะลอตัว ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้าธุรกิจปรับตัวดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัว
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาส 1/65 สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 42,144 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับ 42,120 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน ขณะเดียวกัน สัดส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 2.73% จาก 2.81% ในไตรมาสที่แล้ว จึงทำให้ในไตรมาส 1/65 ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ จึงอยู่ที่ 4,808 ล้านบาท ลดลง 4.2% จากไตรมาสก่อน และ 12.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหลังหักสำรองฯ และภาษี มีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 3,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาส 4 ปี 2564 และ 15% จากไตรมาส 1 ปี 2564
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า การดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี ในภาพรวมถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยในปี 2565 ธนาคารตั้งเป้าที่จะเติบโตสินเชื่อในอัตราที่มากกว่าปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การเติบโตก็จะยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง เน้นเฉพาะสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย เช่น สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบ้าน ซึ่งธนาคารมีความชำนาญและเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำตลาด
“นอกเหนือจากการกลับมาเติบโตเงินฝากและสินเชื่อแล้ว ในปีนี้ธนาคารก็ยังมีแผนลงทุนและพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบใหม่ๆ เสริมความสามารถในการแข่งขันให้กับธนาคาร และยกระดับการให้บริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าของเรา เพื่อสร้างชีวิตการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งวันนี้ และอนาคต” นายปิติกล่าว
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ เผยปี 64 ระบบแบงก์พาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 23.6%-NPL 2.98%