‘ธปท.’ เผยปี 64 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% จากปีก่อน ขณะที่ ‘หนี้เสีย’ ลดลงมาอยู่ที่ 2.98% ต่อสินเชื่อรวม
..............................
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังมีผลอยู่
ขณะที่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีการกันสำรองฯในระดับสูง ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสาขา อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19
“คุณภาพสินเชื่อยังสะท้อนการฟื้นตัวที่ยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคธุรกิจ เราจึงสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ SMEs และกลุ่มลูกหนี้รายย่อย” น.ส.สุวรรณี กล่าวและว่า “ธปท.ยังคงพยายามผลักดันให้สถาบันการเงินยังคงช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังสามารถไปต่อได้” น.ส.สุวรรณี ระบุ
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ด้วยวิกฤติที่ยังหนัก ยาวนาน และมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน จะทำให้ลูกหนี้บางกลุ่มทยอยเป็น NPL เช่น กลุ่มปิดกิจการไปแล้ว หรือกลุ่มลูกหนี้ที่ติดต่อไม่ได้ ส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่ยังติดต่อได้ ธปท.อยากให้สถาบันการเงินและลูกหนี้เจรจาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างกัน โดยสามารถเจรจากันได้จนถึงสิ้นปี 2566
“ตัวเลข NPL ณ สิ้นปี 2564 ที่ออกมาที่ 2.98% สะท้อนว่าสถาบันการเงินกับลูกหนี้ยังมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กันอยู่ ไม่เช่นนั้น NPL คงปรับสูงขึ้นมากกว่านี้ ซึ่งในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้แบงก์ชาติให้ความสำคัญมาก โดยเรามีมีการหารือกับสถาบันการเงินเป็นระยะๆ และเห็นความคืบหน้าในการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง” น.ส.สุวรรณี กล่าว
สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2564 มีดังนี้ง
ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,039.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ร้อยละ 19.9 เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 889.8 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ร้อยละ 162.6 และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ร้อยละ 189.2
“เราพบว่าธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจเสื่อมลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จำนวนเงินกันสำรองในปี 2564 มีจำนวนน้อยกว่าในปี 2563” น.ส.สุวรรณี กล่าว
ส่วนภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สินเชื่อธุรกิจขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขยายตัวในเกือบทุกประเภทธุรกิจ สะท้อนความต้องการเงินทุนของภาคธุรกิจตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐที่ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อธุรกิจ SMEs ขยายตัวต่อเนื่อง จากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเป็นสำคัญ
สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ร้อยละ 4.0 โดยสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือน สินเชื่อรถยนต์ทรงตัวสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวในอัตราชะลอลงตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลงจากปีก่อน
คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2564 ในภาพรวมค่อนข้างทรงตัวจากปีก่อน เป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เป็นสำคัญ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 530.7 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.98 เท่ากับช่วงสิ้นปี 2562 ก่อนที่จะมีโควิด ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยง
“NPL สินเชื่อธุรกิจลดลงมาอยู่ที่ 3.08% จากสิ้นปี 2563 ที่อยู่ที่ 3.23% ส่วน NPL สินเชื่ออุปโภคบริโภคอยู่ที่ 2.73% ลดลงจากสิ้นปี 2563 ที่อยู่ที่ 2.85% และหากแยกเป็น SME กับรายใหญ่ พบว่า NPL ของสินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินน้อยกว่า 500 ล้านบาท จะอยู่ที่ 7.08% และ NPL ของสินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินมากกว่า 500 ล้านบาท อยู่ที่ 2.23%” น.ส.สุวรรณี กล่าว
ด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 6.39 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ร้อยละ 6.62
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคโดยรวมพบว่าทรงตัวจากปีก่อน เนื่องจากการบริหารจัดการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย NPL อยู่ที่ 3.52% ,สินเชื่อรถยนต์ NPL อยู่ที่ 1.50% ,สินเชื่อบัตรเครดิต NPL อยู่ที่ 2.25% และสินเชื่อส่วนบุคคล NPL อยู่ที่ 2.33%
ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในปี 2564 จำนวน 181.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 23.6 โดยหลักจากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปีก่อน ประกอบกับการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงาน เช่น ค่าใช้จ่ายในด้านการจัดการอาคารสถานที่ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.81 จากปีก่อนที่ร้อยละ 0.69
ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ และการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.46 จากปีก่อนที่ร้อยละ 2.63
น.ส.สุวรรณี กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ว่า ณ วันที่ 14 ก.พ.2565 ธปท.อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 1.51 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 60% ของวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูฯที่ตั้งไว้ 2.5 แสนล้านบาท โดยมีจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 46,463 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.3 ล้านบาท/ราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการ 3.95 หมื่นล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 285 ราย
ส่วนความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ธ.ค.2564 มีจำนวนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 5.66 ล้านบัญชี สินเชื่อรวม 3.52 ล้านล้านบาท เป็นธุรกิจรายใหญ่ 2 หมื่นบัญชี ,ธุรกิจ SMEs 5.6 แสนบัญชี และรายย่อย 5.08 ล้านบัญชี
อ่านประกอบ :
ธปท.ประกาศให้ 'แบงก์พาณิชย์' จ่ายเงินปันผล ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ ปี 64