‘ธปท.’ เผยสินเชื่อ ‘ระบบธนาคารพาณิชย์’ ไตรมาส 3/65 ขยายตัว 5.3% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่ NPL ลดเหลือ 2.77% จากการบริหารจัดการหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้ จับตาความสามารถการชำระหนี้ ‘SME-กลุ่มเปราะบาง’
..................................
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2565 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อนั้น มีอัตราการขยายตัวที่ 5.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยมีสาเหตุหลักการชำระคืนสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐ ประกอบกับการเร่งบริหารจัดการคุณภาพหนี้
“สินเชื่อยังคงขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่สินเชื่อ SMEs หดตัวจากสินเชื่อ soft loan ที่ทยอยครบชำระคืนเป็นสำคัญ ส่วนคุณภาพหนี้พบว่า NPL ratio ลดลงเล็กน้อย หรือลดลงมาอยู่ที่ 2.77% จากระดับ 2.88% ในช่วงไตรมาส 2/2565 โดยมีสาเหตุจากการบริหารจัดการหนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอย่างต่อเนื่องของระบบธนาคารพาณิชย์” น.ส.สุวรรณี กล่าว
สำหรับผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 6.04 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 56.8% โดยปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงมาตลอดช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19
ส่วนความคืบหน้าของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ล่าสุด ณ วันที่ 14 พ.ย.2565 มีสินเชื่อฟื้นฟูที่ได้รับอนุมัติแล้ว 1.99 แสนล้านบาท มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 5.78 หมื่นราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ย 3.5 ล้านบาท/ราย ยังเหลือวงเงินที่ยังใช้ได้อีก 5 หมื่นล้านบาท โดยใช้ได้จนถึงเดือน เม.ย.2566 ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการวงเงิน 5.48 หมื่นล้านบาท มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 390 ราย
สำหรับผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2565 มีรายละเอียดดังนี้
ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,094.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ร้อยละ 19.2 เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 890.7 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ร้อยละ 171.6 และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ร้อยละ 186.5
ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการชำระคืนของสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐ ประกอบกับการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ ทั้งนี้ สินเชื่อยังขยายตัวสอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
สินเชื่อธุรกิจขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ขยายตัวตามความต้องการเงินทุนเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ด้านสินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัว ผลจากสินเชื่อ soft loan ที่ทยอยชำระคืนเป็นสำคัญ
สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อ สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งแนวราบและแนวสูง ส่วนหนึ่งจากผลของมาตรการสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยที่จะสิ้นสุดในปี 2565 สำหรับสินเชื่อรถยนต์ขยายตัว สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น
ด้านสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับปริมาณการใช้จ่ายที่ขยายตัว รวมถึงผลของการใช้จ่ายที่อยู่ในระดับต่ำจากการล็อกดาวน์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
“สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในทุกพอร์ต โดยหลักๆมาจากสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตมีการขยายตัว 10.9% และสินเชื่อส่วนบุคคลมีอัตราการขยายตัว 7.7% ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 2.6% ส่วนสินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 1.6%” น.ส.สุวรรณี กล่าว
ด้านคุณภาพสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์บริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non Performing Loan: NPL หรือ stage 3) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 502.7 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.77 ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 6.26 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 6.09
“NPL ของภาคธุรกิจที่ลดลงดังกล่าว สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการขยายตัวของสินเชื่อในภาคอุตสาหกรรม พาณิชย์ และภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วน NPL สินเชื่ออุปโภคบริโภคลดลงเกือบทุกพอร์ต ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ โดย NPL สินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 1.66% จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 1.48%” น.ส.สุวรรณี กล่าว
อย่างไรก็ตาม น.ส.สุวรรณี ระบุว่า แม้ว่า NPL ratio ในภาพรวมจะปรับลดลงจากการบริหารจัดการหนี้ แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึง โดยกลุ่มที่น่ากังวลยังคงเป็นกลุ่ม SME รายย่อยๆ และกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ และต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2565 จำนวน 60.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 56.8 โดยหลักเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงตลอดช่วง COVID-19
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับลดลงจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ลดลงจากรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาลในไตรมาสก่อน
ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.64 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.51 ทั้งนี้ ภาพรวมอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.01 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 1.11
อ่านประกอบ :
'ธปท.'เผยไตรมาส 2/65 ยอดปล่อยสินเชื่อ'ระบบแบงก์พาณิชย์'โต 6.3%-หนี้เสียลดเหลือ 2.88%
'ธปท.' เผยไตรมาส 1/65 สินเชื่อ'แบงก์พาณิชย์' เติบโต 6.9%- 'หนี้เสีย'ทรงตัวที่ 2.93%
ไตรมาสแรก '6 แบงก์ใหญ่' กำไรเพิ่มทั่วหน้า ตั้งสำรองฯลดลง-คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น
‘ธปท.’ เผยปี 64 ระบบแบงก์พาณิชย์ มีกำไรสุทธิ 1.81 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 23.6%-NPL 2.98%
ธปท.ประกาศให้ 'แบงก์พาณิชย์' จ่ายเงินปันผล ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิ ปี 64