‘ผู้ว่าฯเพชรบูรณ์’ สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี ‘ภาคประชาชน’ คัดค้านเปิดเหมืองทองคำ ขณะที่ ‘บ.อัคราฯ’ ย้ำประกอบการตามมาตรฐาน ‘ระดับสากล’ ยึดหลักธรรมาภิบาล
.......................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ได้เปิดทำเหมืองแร่และการประกอบโลหกรรม ‘เหมืองแร่ทองคำชาตรี’ เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังจากเมื่อเดือน ธ.ค.2564 บริษัทฯได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ 4 แปลง ได้แก่ แปลงเลขที่ 26910/15365 ,แปลงเลขที่ 26911/15366 ,แปลงเลขที่ 26912/15367 และแปลงเลขที่ 25528/14714 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ และพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย. นางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์ แกนนำกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ทำหนังสือถึงแกนนำกลุ่มฯ แจ้งความคืบหน้ากรณีที่ทางกลุ่มฯได้ร้องทุกข์ต่อผู้ว่าฯจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อคัดค้านการเปิดเหมืองทองคำครั้งใหม่ เนื่องจากประทานบัตรทั้ง 4 แปลงดังกล่าว อยู่ระหว่างการดำเนินคดีบุกรุกป่าไม่รวม 15 คดี
โดยผู้ว่าฯจังหวัดเพชรบูรณ์แจ้งว่า จังหวัดเพชรบูรณ์ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว หากผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทางกลุ่มฯรับทราบต่อไป นอกจากนี้ จังหวัดเพชรบูรณ์ยังได้รายงานเรื่องนี้ไปให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมทราบแล้วด้วย
นางวันเพ็ญ ย้ำว่า การที่อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ และอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร มีคำสั่งอนุญาตให้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เดินหน้าทำเหมืองแร่ทองคำครั้งใหม่นั้น เป็นการอนุญาตโดยไม่ชอบ เพราะก่อนหน้านี้มีการตรวจสอบพบว่าประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตทั้ง 4 แปลงดังกล่าว อยู่ระหว่างการดำเนินคดีบุกรุกป่า ขณะที่ พ.ร.บ.แร่ฯ ได้บัญญัติให้ รมว.อุตสาหกรรมต้องใช้อำนาจสั่งให้เพิกถอนประทานบัตร แต่กลับไม่มีการดำเนินให้เพิกถอนแต่อย่างใด
นางวันเพ็ญ ระบุว่า แม้ว่าการเปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีของ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ในครั้งนี้ บริษัทฯระบุว่าจะมีการจ้างงาน 1,000 ตำแหน่ง แต่เท่าที่ทราบพบว่าเป็นการจ้างงานคนนอกพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ เป็นคนในพื้นที่ไม่มาก และสุดท้ายแล้วเมื่อแร่ทองคำหมดลง คนงานเหมืองก็ต้องตกงาน เหมือนเช่นการทำเหมืองแร่ทองคำใน สปป.ลาว ที่เมื่อมีการขุดแร่ทองคำออกไปจนหมดแล้ว บริษัทเอกชนก็ปิดเหมือง และคนงานก็ตกงาน
“วันหนึ่งเหมืองก็ต้องปิด แล้วคนงานก็ต้องตกงาน ซึ่งที่เราต่อสู้ครั้งนี้ เราต้องการให้บริษัทฯทำทุกอย่างให้ถูกต้องกฎหมาย ไม่ใช่เอาคนงานเหมืองมาเป็นตัวประกัน และที่ผ่านมามีคดีของบริษัทฯที่อัยการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อยู่ระหว่างการดำเนินการหลายคดี เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่า การลักลอบขุดถนนหลวงและทางสาธารณะประโยชน์ รวมทั้งมีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แล้วว่า การทำเหมืองก่อนหน้านี้มีสารพิษรั่วไหลออกมานอกเหมือง เป็นต้น” นางวันเพ็ญระบุ
นางวันเพ็ญ ยังกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ยังไม่ได้เริ่มถลุงสินแร่อย่างเต็มที่ จึงไม่ทราบว่าจะมีการรั่วไหลของสารพิษออกมานอกพื้นที่เหมืองหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว คือ เคยมีการรั่วไหลของสารพิษมานอกพื้นที่เหมืองทองคำจริง ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 237 และเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ฯ โดยล่าสุด DSI ได้ตั้งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสืบสวนที่ 11/2566 แล้ว และอยู่ระหว่างการสืบสวน
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า หลังจาก บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ได้กลับมาเปิดทำเหมืองทองคำอีกครั้ง บริษัทฯได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ ‘บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด มหาชน’ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2566 ว่า บริษัทฯประกอบการด้วยมาตรฐานระดับสากลภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยึดหลักธรรมาภิบาลที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมุ่งหวังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ของชุมชนโดยรอบและประเทศมาโดยตลอด
ขณะที่ก่อนหน้านั้น บริษัทฯ ได้ตั้งจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองทองอัคราฯ รวม 8 จุด ได้แก่ 1.บ้านเขาดิน หมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร 2.บ้านคลองสายยางรุ้ง (จิตเสือเต้น) หมู่ 4 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร 3.บ้านนิคม หมู่ 8 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร 4.บ้านเขาหม้อ หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร 5.บ้านดงหลง หมู่ 8 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์
6.บ้านหนองแสง หมู่ 10 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ 7.บ้านทุ่งทอง (ทุ่งยาว) หมู่ 1 ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ 8.บ้านคลองตาลัด ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.อุตสาหกรรม ได้กล่าวในแถลงข่าวเปิดตัวเข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา กรณีการเปิดเหมืองทองอัคราฯ ว่า เรื่องนี้ตนได้ชี้แจงในการอภิปรายในหลายๆครั้งไปแล้วว่า ในช่วงต้นรัฐบาลได้พยายามจะดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ซึ่งขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งให้ยุติการทำเหมืองชั่วคราว
หลังจากนั้น ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีต่อประชาชนนั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่ว่ากัน จึงได้มีการเจรจาพูดคุยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด และในที่สุดเรื่องก็ยุติได้ โดยรัฐบาลไทยเองไม่ถูกฟ้องร้อง จากเดิมที่จะฟ้องร้องเป็นหมื่นล้าน เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ประเทศไทยก็ไม่ต้องเสียค่าชดเชยตามที่ บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ไปยื่นร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
“เรื่องนี้ก็จบแล้ว ส่วนเรื่องที่ไปยื่น ป.ป.ช. ผมเองไม่ได้มีผลประโยชน์ในข้อตกลงต่างๆ แต่ทำไปในนามของประเทศชาติ” นายสุริยะ กล่าว
อ่านประกอบ :
DSI แถลงผลคดีพิเศษ 4 ด้าน ยกความสำเร็จปมโรงพัก สตช.-ป.ป.ช.ชี้มูลเหมืองทองอัครา
มีรั้วกั้นเขตแต่ไม่ตรวจสอบ! พลิกคดีออกโฉนด‘บ.อัคราฯ’มิชอบ-ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลฯ
‘ป.ป.ช.’ชี้มูลความผิด‘จนท.รัฐ-บ.อัคราฯ’ คดีออกโฉนดรุกพื้นที่ป่าไม้-ส่งสำนวน‘อัยการ’แล้ว
‘ดีเอสไอ’ตั้งเรื่องสืบสวนฯ กรณีร้องเรียน‘บ.อัคราฯ’ทำสารพิษรั่วไหลออกนอกเหมืองทองคำปี 60
ไม่มีเหตุอันควร! แพร่คำสั่ง‘อัยการสูงสุด’ไม่อุทธรณ์ คดีเปลี่ยนแปลงแผนผังเหมืองทองอัคราฯ
ยกฟ้อง! อดีตอธิบดีกรมอุตฯ-พวก ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทอง- ป.ป.ช.ค้าน อสส.
DSI สั่งฟ้อง‘บ.อัคราฯ’ข้อหานอมินี-เครือข่ายปชช.จี้‘อัยการ’สาง 4 คดี ชี้ 4 ปีไม่คืบหน้า
ร้อง‘นายกฯ’ตรวจสอบ กรณี‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่รอบเหมืองทอง‘อัคราฯ’
ครม.รับทราบคืบหน้าเจรจา 'คิงส์เกต' ชี้สัญญาณดี ปมเหมืองทองอัครา
อภิปรายไม่ไว้วางใจ :‘จิราพร’ ย้ำปมเหมืองทองอัครา เตือน 9 ครั้ง ไม่ฟังทำชาติเสียหาย
กพร.แพร่งานวิจัยบ่อเก็กกากแร่ที่ 1 เหมืองทองอัครารั่ว กระทบแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบ