‘บอร์ด กสทช.’ เห็นชอบเอกชนทั้ง 3 ราย ‘สเปซ เทคฯ-บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ-พร้อม เทคนิคคอลฯ’ มีคุณสมบัติฯ เข้าร่วมเคาะประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ 15 ม.ค.นี้
......................................
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความสามารถทางด้านการเงินของผู้ขอรับอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือกฯ 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทลูกของ บมจ.ไทยคม) ,บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด
ทั้งนี้ เอกชนทั้ง 3 ราย มีสิทธิเข้าร่วมประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุดในวันที่ 15 ม.ค.2566 นี้ โดยจะมีการประมูลสาธิต (mock auction) ให้ผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 14 ม.ค.นี้ ที่ สำนักงาน กสทช.
สำหรับการประมูลครั้งนี้ ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น
ขณะเดียวกัน กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการประมูลครั้งนี้ และให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการในกิจการดาวเทียมตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้ “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน”
ดังนั้น กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ให้สอดคล้องตามแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งตามนโยบายในการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในการประกอบกิจการดาวเทียม
ขณะที่สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูลในครั้งนี้ เป็นการนำสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และมีลักษณะการให้บริการในเชิงพาณิชย์ จึงได้ใช้วิธีการประมูลในการคัดเลือกผู้ขอรับการอนุญาต ซึ่งเป็นวิธีที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากยกเลิกการประมูล และให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ย่อมส่งผลกระทบ ขาดความต่อเนื่อง
และอาจถูกเพิกถอนสิทธิจาก ITU ได้ กรณีที่ไม่สามารถส่งดาวเทียมได้จริง รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการดาวเทียมในประเทศไทยกลับไปสู่การผูกขาด และเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติให้ “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือการจัดทำบริการสาธารณะ”
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ย้ำว่า การประมูลครั้งนี้ กสทช.ได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เห็นได้จาก การกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องมีหน้าที่จัดช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในแต่ละชุดของข่ายงานดาวเทียมจำนวน 1 transponder กรณีดาวเทียม broadcast และจำนวน 400 Mbps กรณีดาวเทียม broadband ซเทียบกับสัมปทานเดิม รัฐได้รับทั้งหมดเพียง 1 transponder เท่านั้น ไม่ว่าจะมีดาวเทียมกี่ดวงก็ตาม
นอกจากนี้ ในส่วนของสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ ชุดที่ 3 ได้มีการเปิดโอกาสให้รัฐสามารถตั้งสถานีควบคุมบริหารจัดการดาวเทียมในส่วนที่รัฐรับผิดชอบได้ เป็นต้น
“กสทช.ยินดีสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และหากเป็นการให้บริการเพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะ โดยไม่มีวัตถุประสงค์การใช้งานในเชิงพาณิชย์แล้ว กสทช.พร้อมที่จะอนุญาตให้สิทธิดังกล่าวแก่หน่วยงานรัฐ หรือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ โดยไม่ต้องประมูล เหมือนที่ กสทช.ได้สนับสนุนและอนุญาตให้สิทธิแก่กองทัพอากาศและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นต้น
ส่วนกรณีการนำสิทธิไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ กสทช.ต้องพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาต ให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เสรี และเป็นธรรม รวมทั้งสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้ด้วย เพราะต้องเข้าใจว่ากิจการดาวเทียมสื่อสารไม่ใช่ให้บริการเฉพาะภายในประเทศ แต่สามารถให้บริการในต่างประเทศได้ด้วย รวมทั้งต่างประเทศเองก็ต้องการมาให้บริการในประเทศไทยด้วยเช่นกัน” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว
อ่านประกอบ :
เข้าชิง 3 เจ้า! ‘สเปซเทคฯ-NT-พร้อมเทคนิคคอลฯ’ยื่นซองประมูลสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ
เปิดแผนรัฐลุย‘ดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ’-‘บิ๊กป้อม’สั่ง‘NT’เจรจา‘กสทช.’ขอสิทธิใช้วงโคจรฯ
ครม.เห็นชอบแผนแม่บท ‘อวกาศ-ดาวเทียมแห่งชาติ’ ให้ NT เป็นแม่งาน
'กสทช.'เผย 5 เอกชนรับซองประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียมฯ'มิวสเปซ-NT'มาแล้ว-'ไทยคม'ส่งบ.ลูกชิง
‘กสทช.’เปิดเคาะประมูลสิทธิฯใช้วงโคจรดาวเทียม 8 ม.ค.66-‘ศาลปค.’รับฟ้องคดีควบ TRUE-DTAC
เอื้อให้เกิดรายใหม่! ‘กสทช.’เปิดฟังความเห็นร่างประกาศฯประมูลเข้าใช้‘วงโคจรดาวเทียม’
เปิดประมูล ธ.ค.นี้! ชงบอร์ด‘กสทช.’เคาะร่างประกาศฯอนุญาตเข้าใช้‘วงโคจรดาวเทียม’ 5 ชุด
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดชี้ขาด กรณี ‘กสทช.-ก.ดีอีเอส’ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคดีดาวเทียมไทยคม 7-8
ฟ้องนัว 4 คดี! ‘ไทยคม-ดีอีเอส’ ยื่น ‘ศาลปค.กลาง’ ชี้ขาดข้อพิพาทดาวเทียม-ตั้งอนุญาโตฯ
ไม่มีการแข่งขัน! 'บอร์ด กสทช.' ล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียมฯ หลัง 'ไทยคม' ยื่นรายเดียว