‘กสทช.’ กำหนดวันเคาะประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ 5 ชุด ราคาเริ่มต้นรวม 1.3 พันล้าน 8 ม.ค.66 เผยมีผู้สนใจร่วมประมูล 2-3 ราย ขณะที่ ‘ศาลปกครองกลาง’ รับฟ้องคดีเพิกถอนมติควบธุรกิจ TRUE-DTAC
...............................
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว โดยหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะเริ่มดำเนินการเพื่อจัดประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package)
เริ่มจากการเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4-30 พ.ย. 2565 จากนั้นจะจัด Info session เพื่อชี้แจงการเตรียมเอกสารในวันที่ 2 ธ.ค. 2565 และจะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต (1 วัน) ในวันที่ 27 ธ.ค. 2565 หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะทำการตรวจคุณสมบัติ (ใช้เวลา 1 สัปดาห์) ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2565-4 ม.ค. 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ในวันที่ 4 ม.ค. 2566 จากนั้นสำนักงาน กสทช. จะทำ Mock Auction ในวันที่ 7 ม.ค.2566 ส่วนวันประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) กำหนดเป็นวันที่ 8 ม.ค.2566
ทั้งนี้ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียงรายเดียว จะมีการขยายระยะเวลาออกไปอีกไม่น้อยกว่า 14 วัน เริ่มจากเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกในวันที่ 6-11 ม.ค. 2566 และจะจัดให้มี Info session อีกครั้งในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่มในวันที่ 12 ม.ค.2566 จากนั้นจะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต (1 วัน) ในวันที่ 19 ม.ค.2566 และสำนักงาน กสทช. จะทำการตรวจคุณสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 20-26 ม.ค. 2566 และประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกในวันที่ 27 ม.ค.2566 จากนั้นสำนักงาน กสทช.จะทำ Mock Auction ในวันที่ 28 ม.ค. 2566 และประมูลในวันที่ 29 ม.ค.2566 แทน ขั้นตอนหลังจากนั้น กสทช. จะจัดให้มีการประชุมรับรองผลการประมูลภายใน 7 วัน หลังการประมูล
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในครั้งนี้ หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะไป กสทช. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ โดยได้มีการปรับลดราคาขั้นต่ำของการประมูลเพื่อให้เกิดการแข่งขันและมีการปรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูล โดยมีการแยกคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูลในแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในชุดที่ 4 (วงโคจรที่ 126 E) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้ง่าย เพราะราคาเริ่มต้นของชุดข่ายงานดาวเทียมนี้กำหนดเพียง 8 ล้านบาท
นอกจากนี้ กสทช.ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานเพื่อประโยชน์สาธารณะของหน่วยงานภาครัฐ โดยได้กำหนดให้ภาครัฐได้ใช้ดาวเทียมฟรี 1 ทรานสปอนเดอร์ สำหรับดาวเทียมสื่อสารแบบ Broadcast และ 400 Mbps สำหรับดาวเทียมสื่อสารความจุสูงแบบ Broadband ต่อวงโคจรหรือต่อดาวเทียม 1 ดวง ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบสัมปทานเดิมภาครัฐจะได้สิทธิใช้ดาวเทียมฟรีดังกล่าวต่อ 1 สัมปทาน แม้ว่าสัมปทานหนึ่งจะมีดาวเทียม 3-4 ดวง
พล.อ.ท.ดร. ธนพันธุ์ ระบุว่า เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของคณะกรรมการอวกาศแห่งชาติ กสทช. ได้กำหนดให้ บริษัทที่ชนะการประมูลจะต้องอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐที่ได้รับมอบหมายมีส่วนร่วมในการใช้วงโคจรที่ 119.5 E อาทิ มีส่วนร่วมในการจัดสร้างศูนย์ควบคุมเกตเวย์ของรัฐเพื่อควบคุมการใช้งานดาวเทียมในส่วนของภาครัฐและเป็นการฝึกบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในการบริหารจัดการดาวเทียมในส่วนของตนเองโดยในส่วนนี้รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เป็นต้น
สำหรับชุดข่ายงานดาวเทียมที่จะนำมาประมูลฯ ในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 5 ชุด (Package) ราคาเริ่มต้นประมาณ 1,328 ล้านบาท ประกอบด้วย
ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นการประมูล 374 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 360 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 397 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 8 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ 142E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 189 ล้านบาทเศษ
“กสทช. คาดว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลฯที่ปรับปรุงนี้ จะทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 2-3 ราย โดยสิ่งที่ กสทช. ดำเนินการมาก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพราะหากไม่สามารถหาผู้มาใช้สิทธิในการสร้างและส่งดาวเทียมในวงโคจรทั้ง 5 ชุด ได้ ประเทศไทยอาจโดนเพิกถอนสิทธิดังกล่าวจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ได้ จึงคาดหวังว่าการประมูลครั้งนี้จะบรรลุผลและทำให้กิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบการอนุญาตได้และมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าต่อไป” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว
ขณะที่ความคืบหน้ากรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนมติ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ที่มีมติรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เนื่องจากเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งในด้านเนื้อหาและกระบวนการ นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว
ส่วนกรณีที่ สอบ. ได้ยื่นคำขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษานั้น ศาลได้รับคำขอดังกล่าวไว้ โดยต้องรอให้ TRUE และ DTAC เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าวก่อนจึงจะเริ่มพิจารณา เนื่องจากมองว่าทั้ง 2 บริษัทเป็นบุคคลภายนอกที่อาจได้รับผลกระทบจากการพิพากษาคดี ดังนั้น จำเป็นต้องให้ทั้ง 2 บริษัท ได้มีโอกาสชี้แจงโต้แย้งข้อเท็จจริงต่อศาล จึงมีคำสั่งเรียกทรูและดีแทคเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดด้วย (อ่านประกอบ : ‘สอบ.-ผู้บริโภค’ยื่นฟ้อง‘ศาลปกครอง’ เพิกถอน‘มติ กสทช.’ไฟเขียวควบ TRUE-DTAC แล้ว)
อ่านประกอบ :
เอื้อให้เกิดรายใหม่! ‘กสทช.’เปิดฟังความเห็นร่างประกาศฯประมูลเข้าใช้‘วงโคจรดาวเทียม’
เปิดประมูล ธ.ค.นี้! ชงบอร์ด‘กสทช.’เคาะร่างประกาศฯอนุญาตเข้าใช้‘วงโคจรดาวเทียม’ 5 ชุด
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดชี้ขาด กรณี ‘กสทช.-ก.ดีอีเอส’ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคดีดาวเทียมไทยคม 7-8
ฟ้องนัว 4 คดี! ‘ไทยคม-ดีอีเอส’ ยื่น ‘ศาลปค.กลาง’ ชี้ขาดข้อพิพาทดาวเทียม-ตั้งอนุญาโตฯ
ไม่มีการแข่งขัน! 'บอร์ด กสทช.' ล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียมฯ หลัง 'ไทยคม' ยื่นรายเดียว