‘อนุกรรมการฯกิจการดาวเทียม’ เตรียมเสนอร่างประกาศฯหลักเกณฑ์ว่าด้วยการอนุญาตเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ ให้ ‘บอร์ด กสทช.’ เคาะสัปดาห์หน้า ก่อนเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมรอบใหม่ เผยปรับ'หลักเกณฑ์-เงื่อนไข' หวังเอื้อให้เกิดรายใหม่
.................................
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะอนุกรรมการด้านกิจการดาวเทียม เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช. สัปดาห์หน้า คณะอนุกรรมการฯจะเสนอร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ให้บอร์ด กสทช. พิจารณา ก่อนนำร่างประกาศฯไปรับฟังความคิดเห็นฯต่อไป
สำหรับร่างประกาศหลักเกณฑ์ว่าด้วยการอนุญาตเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุดฯฉบับใหม่ คณะอนุกรรมการฯ ได้นำบทเรียนจากการประมูลฯครั้งก่อน มาปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆของร่างประกาศฯให้มีลักษณะที่จะเอื้อต่อผู้ประกอบการรายใหม่มากขึ้น เช่น มีการจัดชุด (Package) เป็น 5 ชุด จากการประมูลครั้งก่อนที่จัดชุด (Package) เป็น 4 ชุด และบางชุด (Package) จะมีราคาเริ่มต้นประมาณ 10 ล้านบาทเท่านั้น
“เดิมเรามีการจัดชุดเป็น 4 ชุด แต่ตอนนี้แบ่งออกเป็น 5 ชุด โดยเราได้แยกวงโคจร 126 องศา E และ 142 องศา E ที่เดิมเคยเป็นชุดเดียวกัน ออกจากกัน เพื่อเอื้อต่อผู้ประกอบการรายใหม่ และการแบ่งชุดอันนี้จะทำให้ราคาถูกลงได้ด้วย ซึ่งจะทำให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเล่นได้” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าว
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ยังระบุด้วยว่า ร่างประกาศฯฉบับนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลแต่ละชุด (Package) ในลักษณะไม่เหมือนกัน เช่น คุณสมบัติของผู้เข้ามาประมูลชุดที่ 1 และชุดที่ 3 ไม่มีความจำเป็นต้องเหมือนกัน ต่างจากการประมูลครั้งที่แล้วที่กำหนดเงื่อนไขในภาพรวมเป็นแบบเดียวกัน รวมทั้งมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล เพื่อให้ผู้เล่นรายเดิมและผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้ามาร่วมประมูลได้
“สิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (Filing) แต่ละชุด จะมีเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน เช่น คุณสมบัติของผู้เข้ามาในชุดที่ 1 กับชุดที่ 3 ไม่มีความจำเป็นเหมือนกัน ซึ่งเราได้ปรับคุณสมบัติของผู้เข้ารับการคัดเลือกให้สอดคล้องกับชุด (Package) แต่ละชุด และเนื่องจากเราเคยโจมตีเอื้อต่อผู้ประกอบการายเดิม เราจึงผ่อนคลายคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลตรงนี้ด้วย เพื่อให้ผู้เล่นรายเดิมและผู้เล่นรายใหม่เข้ามาได้” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ระบุ
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯยังทบทวนการกำหนดราคาเริ่มต้นของใบอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯใหม่ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมี รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านแข่งขันและราคาเข้ามาช่วยทบทวนราคาเริ่มต้นใหม่ รวมทั้งมีการหลักเกณฑ์เรื่อง Two-Tier Pricing คือ กรณีมีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันเพียงรายเดียว ราคาขั้นต่ำจะสูงกว่ากรณีที่มีผู้เข้าประมูล 2 ราย ประมาณ 30%
“ถ้ามีผู้เข้าประมูล 1 ราย ราคาขั้นต่ำจะสูงกว่ากรณีที่มีผู้เข้ามาประมูล 2 ราย ประมาณ 30% ส่วนการเคาะราคานั้น กรณีที่มี 1 ราย ราคาจะขึ้นครั้งละ 10% แต่ถ้ามีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย ราคาจะขึ้นครั้งละ 5% รวมทั้งในการเปิดประมูล เราจะไม่มีบอกล่วงหน้าว่าจะประมูลชุดไหนก่อน เพื่อไม่ให้ฮั้วกันได้” พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ย้ำ
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวว่า หากบอร์ด กสทช.เห็นชอบร่างประกาศฯฉบับดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จะนำร่างประกาศฯไปรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งจะใช้เวลารับฟังความคิดเห็นประมาณ 30 วัน จากนั้นในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. จะทำการปรับปรุงร่างประกาศฯ และคาดว่าในเดือน พ.ย. เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นเอกสาร และทำ Bidder Conference ก่อนจะเปิดประมูลในเดือน ธ.ค.2565
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ กสทช. ต้องเร่งรัดในการดำเนินการเปิดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เนื่องจาก กสทช. มีหน้าที่ในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดชี้ขาด กรณี ‘กสทช.-ก.ดีอีเอส’ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคดีดาวเทียมไทยคม 7-8
ฟ้องนัว 4 คดี! ‘ไทยคม-ดีอีเอส’ ยื่น ‘ศาลปค.กลาง’ ชี้ขาดข้อพิพาทดาวเทียม-ตั้งอนุญาโตฯ
ไม่มีการแข่งขัน! 'บอร์ด กสทช.' ล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียมฯ หลัง 'ไทยคม' ยื่นรายเดียว