‘ครม.’ มอบหมาย ‘คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ’ เสนอแนะแนวทางดำเนินงาน ‘ดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ’ ที่เหมาะสม ก่อนชง ครม. เคาะอีกครั้ง ขณะที่ ‘พล.อ.ประวิตร’ สั่ง ‘ประธานบอร์ด NT’ เจรจา ‘กสทช.’ ขอสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2565 พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบหลักการร่างนโยบายการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เสนอ
พร้อมกันนั้น ครม.มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เสนอแนะแนวทางการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติที่เหมาะสมที่สุด และนำเสนอ ครม.ต่อไป โดยให้รับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางประกอบการพิจารณาให้สอดคล้องกับกฎหมายและพันธกรณีต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย
สำหรับร่างนโยบายการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ ที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เสนอให้ครม.เห็นชอบดังกล่าว จะใช้เป็นกรอบนโยบายในการจัดสร้างหรือการบริหารจัดการดาวเทียม และการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมของรัฐ เพื่อสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานของรัฐ โดยในระยะแรกจะให้ความสำคัญกับการดำเนินงานจัดสร้างหรือการบริหารจัดการดาวเทียมสื่อสารของรัฐเป็นลำดับแรก ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
นโยบายการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ ประกอบด้วย
แนวความคิดหลัก ในการดำเนินการออกแบบนโยบายการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติอยู่บนพื้นฐานของแนวความคิดหลักในการดำเนินงาน ดังนี้
1.จัดให้มีดาวเทียมสื่อสารของประเทศที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ รัฐมีสิทธิในการควบคุม และ/หรือบริหารจัดการ เพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของประเทศ
2.ใช้ประโยชน์จากเอกสารข่ายงานดาวเทียมและตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมในนามประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 60
3.ให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจด้านการให้บริการการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการดำเนินการภายใต้กรอบแห่งกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ
แนวทางการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ
จากการวิเคราะห์สถานการณ์การใช้ประโยชน์จากดาวเทียมและข้อมูลดาวเทียมของภาครัฐ สถานการณ์และกรณีศึกษาของต่างประเทศผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมสื่อสารภาครัฐในระยะที่ผ่านมา และการวิเคราะห์ความสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติ และกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถเสนอแนวทางในการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ ที่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนากิจการอวกาศในปัจจุบันของประเทศ และเป็นไปตามกรอบแห่งกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอเป็นทางเลือกการดำเนินการเป็น 3 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 รัฐลงทุนการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติเองโดยตรง เป็นการดำเนินงานโดยรัฐลงทุนในดาวเทียมเองโดยตรง และใช้ดาวเทียมดังกล่าวในกิจการรัฐเท่านั้น ซึ่งรัฐจะมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการดาวเทียม โดยให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พิจารณาการจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมรองรับการดำเนินงานดาวเทียมแห่งชาติ
แนวทางที่ 2 รัฐมอบหมายให้ NT เข้าร่วมการคัดเลือกผู้ขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เป็นการดำเนินงาน โดยรัฐมอบหมายให้ NT เข้ารับการคัดเลือกผู้ขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยแข่งขันกับเอกชนอย่างเป็นธรรม เมื่อ NT ได้รับการจัดสรรวงโคจรดาวเทียมแล้ว ให้ NT จัดสรรความจุบางส่วนให้รัฐใช้งาน และนำความจุที่เหลือไปหารายได้ทางธุรกิจต่อไป
แนวทางที่ 3 รัฐมีนโยบายให้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการคัดเลือกผู้ขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) รัฐมีนโยบายให้ กสทช. กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการคัดเลือกผู้ขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) จะต้องจัดสรรช่องสัญญาณในสัดส่วนหรือรูปแบบการบริหารความจุตามที่รัฐกำหนดเพื่อการใช้งานในภารกิจของรัฐเป็นการเฉพาะ
โดยรัฐจะต้องมีสิทธิในการบริหารจัดการช่องสัญญาณในส่วนของรัฐ และมี Gateway เฉพาะสำหรับสนับสนุนการใช้งานของรัฐ รวมทั้งมีสิทธิในการเป็นผู้ควบคุมดาวเทียมร่วมกับผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในส่วนการบริหารจัดการการใช้งานในภารกิจของรัฐดังกล่าว รัฐจะมอบหมายให้ NT ดำเนินการ โดยรัฐจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการใช้งานในภารกิจของรัฐ และคลื่นความถี่ที่เหลือไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว ล้วนมีข้อดี ข้อเสีย/ข้อจำกัดในการดำเนินการที่แตกต่างกันไป ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกในการดำเนินการที่สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ ความพร้อมและศักยภาพ ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ
ชุดข่ายงานดาวเทียมที่มีความเป็นไปได้
สำหรับการดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ จากการวิเคราะห์ชุดข่ายงานดาวเทียมจากชุดข่ายงานดาวเทียมตาม (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package) (ฉบับแก้ไขปรับปรุง โดย กสทช. ได้ดำเนินการจัดชุดข่ายงานดาวเทียม (Package) แบ่งเป็น 5 ชุด ดังนี้
1.ชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 1 ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่ 50.5 องศาตะวันออก และ 51 องศาตะวันออก
2.ชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 2 ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่ 78.5 องศาตะวันออก
3.ชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 3 ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่ 119.5 องศาตะวันออก และ 120 องศาตะวันออก
4.ชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 4 ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่ 126 องศาตะวันออก
5.ชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 5 ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่ 142 องศาตะวันออก
พบว่า ชุดขายงานดาวเทียมที่ 2 (ตำแหน่งวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก) และชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 3 (ตำแหน่งวงโคจรที่ 119.5 องศาตะวันออก และ 120 องศาตะวันออก) มีความเป็นไปได้สำหรับการดำเนินงานดาวเทียมแห่งชาติ เนื่องจากมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมประเทศไทยและละแวกใกล้เคียงอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีดาวเทียมที่ใช้งานตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวอยู่แล้วซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของสถานีภาคพื้นดินสำหรับการใช้งานชุดข่ายงานดาวเทียมทั้ง 2 ชุดดังกล่าว
ส่วนอำนาจในการพิจารณาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรและข่ายงานดาวเทียม สำหรับการดำเนินงานดาวเทียมแห่งชาติ เป็นอำนาจของ กสทช. ในการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานตามนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ จะต้องอาศัยความร่วมมือและความพร้อมของหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานกำกับดูแล จึงต้องคำนึงถึงระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำเนินงานตามนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ ทั้งในด้านงบประมาณในการดำเนินงาน ความพร้อมทางเทคโนโลยี บุคลากร/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนโยบายและการบริหารจัดการของรัฐ
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ มีความเห็นร่วมกันว่า ในระยะเร่งด่วนควรแจ้งให้สำนักงาน กสทช. พิจารณากำหนดเงื่อนไขในการคัดเลือกผู้ขอรับอนุญาตฯ เพิ่มเติม โดยให้จัดสรรความจุให้เพียงพอต่อความต้องการของภาครัฐ และมอบหมายให้ NT พิจารณาการเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุม และ/หรือ บริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ที่มีเหตุวิกฤตฉุกเฉินหรือสงคราม
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ มีมติมอบหมายให้ NTดำเนินการจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญดำเนินการสำรวจความต้องการใช้งานดาวเทียมฯในเชิงลึกต่อไป โดยให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้วย เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. เป็นต้น
พร้อมทั้งมอบหมายให้ประธานกรรมการ NT และกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT ร่วมกันพิจารณาตามข้อสั่งการของประธานกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินงานดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติเกิดผลสำเร็จ ดังนี้
1.การมีดาวเทียมเป็นของตนเอง และสามารถบริหารจัดการและควบคุมดาวเทียมได้เอง ภายในระยะเวลา 3 ปี 2.การเข้าร่วมประมูลเพื่อคัดเลือกผู้ขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) และ 3.ประสานงานกับ กสทช. ในการเจรจาขอรับสิทธิในการเข้าใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมใหม่ กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU)
สำหรับคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการฯ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 8 ม.ค.2566 สำนักงาน กสทช. จะมีการเปิดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ทั้งสิ้น 5 ชุด (Package) ราคาเริ่มต้นประมาณ 1,328 ล้านบาท ประกอบด้วย
ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นการประมูล 374 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 360 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 397 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 8 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ 142E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 189 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ การประมูลฯดังกล่าวมีเอกชน 6 ราย เข้ามาขอรับเอกสารการคัดเลือกฯ ประกอบด้วย 1.บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด 2.บริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล จำกัด ซึ่งบริษัทในเครือ C.P. Group 3.บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด 4.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทลูกของ บมจ.ไทยคม) และ 6.บริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด
อ่านประกอบ :
ครม.เห็นชอบแผนแม่บท ‘อวกาศ-ดาวเทียมแห่งชาติ’ ให้ NT เป็นแม่งาน
'กสทช.'เผย 5 เอกชนรับซองประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียมฯ'มิวสเปซ-NT'มาแล้ว-'ไทยคม'ส่งบ.ลูกชิง
‘กสทช.’เปิดเคาะประมูลสิทธิฯใช้วงโคจรดาวเทียม 8 ม.ค.66-‘ศาลปค.’รับฟ้องคดีควบ TRUE-DTAC
เอื้อให้เกิดรายใหม่! ‘กสทช.’เปิดฟังความเห็นร่างประกาศฯประมูลเข้าใช้‘วงโคจรดาวเทียม’
เปิดประมูล ธ.ค.นี้! ชงบอร์ด‘กสทช.’เคาะร่างประกาศฯอนุญาตเข้าใช้‘วงโคจรดาวเทียม’ 5 ชุด
‘ศาลปค.สูงสุด’นัดชี้ขาด กรณี ‘กสทช.-ก.ดีอีเอส’ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคดีดาวเทียมไทยคม 7-8
ฟ้องนัว 4 คดี! ‘ไทยคม-ดีอีเอส’ ยื่น ‘ศาลปค.กลาง’ ชี้ขาดข้อพิพาทดาวเทียม-ตั้งอนุญาโตฯ
ไม่มีการแข่งขัน! 'บอร์ด กสทช.' ล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียมฯ หลัง 'ไทยคม' ยื่นรายเดียว