‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.65 ขยายตัว 5.89% ตามราคา ‘พลังงาน-อาหาร’ ที่ยังขยายตัว ส่งผลให้ ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ ทั้งปี 65 ขยายตัว 6.08% สูงสุดในรอบ 24 ปี ขณะที่ ‘เงินเฟ้อพื้นฐาน’ ทั้งปีเติบโต 2.51% คาดเงินเฟ้อปี 66 ขยายตัว 2-3%
..........................................
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือน ธ.ค.2565 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน ธ.ค.2565 เท่ากับ 107.86 ขยายตัว 5.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคากลุ่มพลังงาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งกลุ่มอาหารสด ที่ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน
“เงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค.2565 ขยายตัว 5.89% ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหารที่ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน (ธ.ค.2564) ประกอบกับฐานราคาของเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ไม่สูงมากนัก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศปรับดีขึ้น” นายพูนพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค.2565 ที่ขยายตัว 5.89% นั้น เป็นอัตราการขยายตัวที่ลดลง -0.06% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2565
นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้า พบว่าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัว 8.87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูปมีราคาสูงขึ้น 9.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ราคาอาหารจานเดียว ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น รวมถึงได้รับแรงกดดันจากความต้องการในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจด้วย
ส่วนหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัว 3.87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่เพิ่มขึ้น 14.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า เนื้อสุกร กับข้าวสำเร็จรูป น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเช้า ไข่ไก่ ไก่สด ข้าวสารเจ้า และต้นหอม น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก ยาสีฟัน แชมพูสระผม ค่าแต่งผมชายและสตรี เป็นต้น
ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำปลี พริกสด ผักกาดขาว ขิง โฟมล้างหน้า แป้งผัดหน้า ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี มะขามเปียก เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น ส่วนราคาสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ชุดนอนเด็ก กางเกงขายาวบุรุษ ค่าจัดฟัน ค่าบริการที่จอดรถ ค่าใบอนุญาตขับขี่ หนังสือพิมพ์ และค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ เป็นต้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2565 ขยายตัว 6.08% เมื่อเทียบกับปี 2564 และเป็นอัตราการขยายตัวของเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงสุดในรอบ 24 ปี นับจากปี 2541 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวที่ระดับ 8.1% อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2565 ดังกล่าว เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่ สนค. คาดการณ์ไว้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 5.5-6.5% โดยมีค่ากลางที่ 6% อ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ธ.ค.2565 อยู่ที่ 103.98 ขยายตัว 3.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือเพิ่มขึ้น 0.13% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2565 ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 2565 ขยายตัว 2.51% เมื่อเทียบกับปี 2564
นายพูนพงษ์ ระบุว่า สนค.คาดว่า เงินเฟ้อในปี 2566 น่าจะขยายตัวไม่มากนัก เนื่องจาก 1.ราคาสินค้าที่เริ่มทรงตัว หลังจากทยอยปรับขึ้นตามต้นทุนแล้วในปี 2565 ที่ผ่านมา 2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลง 3.ฐานราคาในปี 2565 ซึ่งใช้ในการคำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับค่อนข้าง และ 4.มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งการกำกับดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นได้ เช่น การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา ,การปรับขึ้นค่าจ้างทั้งระบบ ,ค่าเงินบาทที่ยังมีความผันผวน ,อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ทั้งนี้ สนค.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 จะขยายตัวที่ 2-3% โดยมีค่ากลาง 2.5% โดยมีสมมติฐานที่สำคัญ ได้แก่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3-4% ,ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ที่ 85-95 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ที่ 36-37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปี 2566 เช่น ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ,สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยุติ ,ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ,สภาพอากาศที่แปรปรวน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งโรคระบาดในสัตว์
อ่านประกอบ :
เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.โต 5.55% ชะลอเป็นเดือนที่ 3-ส่งผ่านต้นทุนพลังงานดัน Core CPI แตะ 3.22%
ชะลอตัวเป็นเดือนที่ 2! ‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.ขยายตัว 5.98%-Core CPI โต 3.17%
‘พาณิชย์’ เผย ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ เดือน ก.ย.65 ขยายตัว 6.41%-Core CPI ยังโตเกิน 3%
ถึงจุดสุดสูงแล้ว! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.ขยายตัว 7.86%-เฉลี่ย 8 เดือน 6.14%
‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.ค. 7.61%-ขยับคาดการณ์ทั้งปี 65 สูง 5.5-6.5%
สูงขึ้นทางเทคนิค! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป มิ.ย.ขยายตัว 7.66%-เงินเฟ้อพื้นฐาน 2.51%
‘พาณิชย์’ เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค. พุ่ง 7.1%-พบสินค้าขึ้นราคา 298 รายการ
'พาณิชย์'เผยเงินเฟ้อทั่วไป เม.ย.เพิ่ม 4.65% 'ก๋วยเตี๋ยว-ข้าวแกง-อาหารตามสั่ง'ขึ้นยกแผง
น้ำมันพุ่ง-อาหารแพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.เพิ่ม 5.73%-พบสินค้าขึ้นราคา 280 รายการ
สูงสุดรอบ 13 ปี! อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ. พุ่ง 5.28%-สินค้าขึ้นราคา 260 รายการ
น้ำมันแพง! ดันเงินเฟ้อ ม.ค.พุ่ง 3.23%-‘พาณิชย์’ชี้แค่‘เงินเฟ้ออ่อนๆ-ยังไม่ต้องสกัด'