ประชุม กสทช. มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้ ‘สำนักงาน กสทช.’ ยื่นหนังสือถึง ‘นายกฯ’ ใช้ดุลพินิจสั่งการ ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจของกฎหมายของ ‘กสทช.’ กรณีการพิจารณารวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’ รอบสอง พร้อมแพร่ข้อมูล '5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค'
.................................
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม กสทช. มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกฯ ใช้ดุลพินิจพิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. กรณีการพิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เป็นครั้งที่ 2
“ที่ประชุม กสทช. มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้ส่งหนังสือถึงนายกฯ เพื่อให้นายกฯ พิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ในการพิจารณากรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้ กสทช มีหลังพิงในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้” แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ระบุ
สำหรับกรรมการ กสทช. 3 เสียง ที่ลงมติเห็นชอบในกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ,พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช. ส่วนกรรมการ กสทช. ที่ไม่เห็นชอบ ประกอบด้วย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. และ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช.
ทั้งนี้ การลงมติของที่ประชุม กสทช. ดังกล่าว มีขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. ที่มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า กสทช. สามารถส่งหนังสือไปถึง นายกฯ เพื่อให้ใช้ดุลพินิจสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเกี่ยวกับอำนาจ กสทช. กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวจะทำให้ กสทช. มีหลังพิงในแง่อำนาจทางกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ขอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ไม่รับตีความในเรื่องนี้ เนื่องจากเห็นว่า ประเด็นที่สำนักงาน กสทช. หารือมานี้ เป็นกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. โดยเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
ประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 ที่เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการรวมธุรกิจที่เป็นประเด็นหารือนี้ มีการฟ้องเพิกถอนเป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งตามข้อ 9 (1) แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 กำหนดว่า กรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา
วันเดียวกัน สำนักงาน กสทช. เผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ Infographics ภายใต้หัวเรื่อง '5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค' ประกอบด้วย
Fact ที่ 1 – ดีลนี้เป็นครั้งแรกที่มูลค่าทรัพย์สินและรายได้ตกกับบริษัทควบรวมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การควบรวมกิจการด้านการสื่อสารของประเทศ อาจส่งผลให้ผู้รายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดได้ยากขึ้น และอาจส่งผลกระทบทำให้การแข่งขันด้านราคาค่าบริการลดลง ที่สำคัญกรณีนี้แตกต่างอย่างชัดเจนจากการขอรวมธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้รับใบอนุญาตที่เป็นบริษัทในกลุ่มหรือเครือเดียวกัน หรือเป็นการรวมที่มีสินทรัพย์ไม่เกินวงเงินที่กฎหมายกำหนด รวมถึงกรณีที่เป็นการควบรวมของรัฐวิสาหกิจ CAT กับ TOT เป็น NT ตามมติ ครม.
Fact ที่ 2 – ประสบการณ์การควบรวมกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศปรากฏผลทั้งที่อนุญาตแบบมีเงื่อนไขเข้มข้นมากและไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการขอควบรวมจาก 4 ราย เหลือ 3 รายใหญ่ และพบว่าแทบไม่มีประเทศใดเลยที่เป็นการควบรวมจาก 3 ราย เหลือ 2 รายใหญ่อย่างประเทศไทย เว้นแต่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งปรากฏว่าหลังจากที่ควบรวมเหลือ 2 รายแล้ว ผ่านไป 10 ปี จึงมีรายที่ 3 เข้าตลาดมาใหม่ ส่วนประเทศนอร์เวย์นั้น ปรากฏว่ามีรายใหม่เข้าสู่ตลาดพอดีในช่วงที่มีการขอควบรวม หน่วยงานกำกับดูแลจึงบังคับผู้ขอควบรวมให้ขายโครงสร้างพื้นฐานและขายฐานลูกค้าให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ในประเทศนอร์เวย์จึงยังคงมีผู้ให้บริการในตลาดที่ 3 รายเหมือนเดิม
Fact ที่ 3 – กรอบระยะเวลาในการพิจารณาการควบรวมกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในต่างประเทศที่ผ่านมา มีตั้งแต่ใช้เวลา 3 เดือน จนถึงไม่กำหนดกรอบระยะเวลา ซึ่งประเทศเหล่านั้นเป็นการขอรวมธุรกิจภายใต้บริบทจากผู้ประกอบกิจการ 4 ราย เหลือ 3 ราย ส่วนของประเทศไทยนั้นเป็นการขอรวมธุรกิจจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย จึงอาจจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างสำนักงาน กสทช. ขอขยายระยะเวลาในการปรับปรุงแก้ไขรายงานฯ ตามข้อสั่งการของที่ประชุมที่ให้หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ กสทช. พิจารณาในขั้นสุดท้าย
Fact ที่ 4 – ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านต่างๆที่กสทช. ชุดปัจจุบัน (ได้รับการโปรดเกล้าฯเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 18 เมษายน) แต่งตั้งขึ้นภายใต้Roadmap เพื่อพิจารณาดีลการควบรวมนี้ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2565
-คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายชี้ว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต ตลอดจนกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำที่เป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน โดยกำหนดเงื่อนไขเท่าที่จำเป็น
-คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้ขอรวมธุรกิจจะมีแรงจูงใจในการขึ้นค่าบริการหลังควบรวมสำเร็จ ผู้เล่นรายใหม่จะเจออุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดยากขึ้น GDP จะลดลงราว 0.05% - 1.99% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 0.05 – 2.07%
-คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี เห็นว่า กรณีการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจมีผลดี/ผลเสียแตกต่างกัน และผู้ประกอบการที่มีโครงข่ายและคลื่นน้อยที่สุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
-คณะอนุกรรมการด้านผู้บริโภค เห็นว่าไม่ควรให้ควบรวม แต่หากให้มีการควบรวม ก็ควรมีการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการ ทั้งเงื่อนไขกำกับในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กำหนดให้มีการกระจายการถือครองคลื่นความถี่ เสาโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐาน มีการกำหนดค่าตอบแทนการใช้โครงข่ายที่เป็นธรรม ตลอดจนกำหนดเงื่อนไขกำกับด้านพฤติกรรมของผู้ประกอบกิจการ เช่น การบริการและคุณภาพไม่ต่ำกว่าเดิม รายการส่งเสริมการขายที่หลายหลาย พื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม พัฒนาขยายโครงข่าย 5G ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นมาตรการหลักประกันในการให้และรับบริการในด้านต่างๆ ไว้ไม่น้อยกว่าเดิม
Fact ที่ 5 – สำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินการจัดจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านต่าง ๆ จากการรวมธุรกิจระหว่างทรู-ดีแทค โดยขอบเขตอำนาจทางกฎหมายเห็นว่า กสทช.มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน ในส่วนมาตรการเชิงโครงสร้างและพฤติกรรมเห็นว่า กสทช.ควรมีการเรียกคืนคลื่นความถี่การถือครองที่มากเกินความจำเป็นและควรมีการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ กำหนดสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อรายได้ รวมทั้งกำหนดความครอบคลุมของพื้นที่การให้บริการ (Coverage)
อ่านประกอบ :
‘อนุฯที่ปรึกษากม.’หนุน‘กสทช.’ชง‘นายกฯ’สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจถกควบ TRUE-DTAC รอบสอง
จ่อยื่นรอบ 2! 'กสทช.'มอบ'อนุฯกม.'ถก ก่อนชง'บิ๊กตู่'สั่ง'กฤษฎีกา’ตีความอำนาจควบTRUE-DTAC
'กสทช.'ตั้ง'ทีมกุนซือกม.'ชุดใหม่ 'บวรศักดิ์'ประธานฯ 'จรัญ-เข็มชัย-สุรพล-สมคิด'กรรมการ
'ชัยวุฒิ'ตอบกระทู้'ก้าวไกล'ควบรวมทรู-ดีแทค ยันนโยบาย กสทช.ไม่ให้ขึ้นราคาค่าบริการแน่นอน
ข้อมูลยังไม่ครบ!‘บอร์ด กสทช.’ สั่งวิเคราะห์เพิ่ม 6 ประเด็น ก่อนถกดีลควบรวม TRUE-DTAC
เวทีเสวนาฯย้ำควบ TRUE-DTAC ลดการแข่งขัน-ค่าบริการพุ่ง จับตาโค้งสุดท้าย‘กสทช.’จบดีลแสนล.
เรื่องอยู่ในศาลฯ-เป็นอำนาจ‘กสทช.’! ‘กฤษฎีกา’ไม่รับตีความประเด็น‘กม.’ดีลควบ TRUE-DTAC
ฟังทัศนะ 5 กรรมการ ‘กสทช.’ ก่อนถกดีลควบ TRUE-DTAC ยัน ‘ไม่มีธง-ยึดประโยชน์สาธารณะ’