‘ประธาน กสทช.’ มอบ ‘อนุกรรมการที่ปรึกษากม.’ หารือ ก่อนสรุปความเห็น กรณีทำหนังสือถึง ‘บิ๊กตู่’ ขอให้สั่งการ ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ ‘กสทช.’ ชี้ขาดดีลควบ TRUE-DTAC เป็นครั้งที่ 2
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา กรรมการ กสทช. รายหนึ่ง ได้เสนอต่อที่ประชุม กสทช. ว่า ควรให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เพื่อขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เป็นครั้งที่ 2 หลังจากก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กสทช. กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC มาแล้วครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาข้อเสนอของ กรรมการ กสทช. รายนี้ และเห็นว่าควรจะมีการลงมติกัน ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่าที่ประชุม กสทช. มีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กรรมการ กสทช. รายนี้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ตกไป เนื่องจาก ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เห็นควรให้ส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. ที่มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานอนุกรรมการ เพื่อหารือว่า สมควรที่ กสทช. จะส่งหนังสือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความอำนาจของ กสทช. กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นครั้งที่ 2 หรือไม่
“แม้ว่าบอร์ด กสทช. จะมีมติ 3 ต่อ 2 เสียง เห็นว่า ไม่ควรส่งเรื่องไปให้นายกฯ แต่ ประธาน กสทช. (ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) เห็นว่า ควรส่งเรื่องดังกล่าวไปให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. ชุดที่มีท่านบวรศักดิ์ เป็นประธาน เพื่อหารือกันว่า ควรส่งหนังสือถึงนายกฯ เพื่อให้นายกฯสั่งการให้กฤษฎีกาตีความอำนาจของ กสทช. กรณีการควบรวม TRUE และ DTAC หรือไม่ และแจ้งมาที่บอร์ดอีกครั้ง” แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงเดือน มิ.ย.2565 สำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ขอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วย 7 ประเด็น คือ
1.หากการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2.500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องนั้น จะถือว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 หรือไม่ อย่างไร และ กสทช. ต้องพิจารณาต่อรายงานการรวมธุรกิจในกรณีนี้อย่างไร
2.กสทช. สามารถยกเลิกหรือแก้ไขประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ภายหลังจากที่บริษัท ทรูฯ และบริษัท โทเทิ่ลฯ ยื่นรายงานการรวมธุรกิจแล้วได้หรือไม่ และจะมีผลต่อการรวมธุรกิจอย่างไร
3.ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 9 กำหนดว่า “การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549” มีความหมายอย่างไร
และหากปรากฏว่าการรวมธุรกิจจะทำให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมแล้ว กสทช. จะมีอำนาจในการนำประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 มาใช้เพื่อประกอบการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกรณีนี้ได้เพียงใด และ กสทช. สามารถนำประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 มาใช้บังคับกับการรวมธุรกิจได้หรือไม่ เพียงใด และมีอำนาจพิจารณาในการสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การรวมธุรกิจ และหรือมีคำสั่งอย่างอื่นได้หรือไม่เพียงใด
4.ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 9 กำหนดว่า “การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549” และโดยที่ข้อ 12 ของประกาศฉบับเดียวกันกำหนดให้เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ
หากรายงานการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กสทช. อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น จากที่มีการกำหนดไว้ในข้อ 8 ประกอบกับข้อ 12 ดังกล่าวข้างต้น จะถือว่าเป็นการมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของ กสทช ตาม 27(11) ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ให้เลขาธิการ กสทช หรือไม่และจะมีผลประการใด
และจะเป็นการกระทบต่อหลักการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรนาคมตามกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร
5.หากกรณีการกำหนดประกาศตามข้อ 9 และข้อ 12 มิใช่การมอบอำนาจให้เลขาธิการ กสทช. กรณีเช่นนี้ ระยะเวลาการใช้อำนาจพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 และกำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องอยู่ภายใต้ระยะเวลา 60 วันตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม หรือไม่ประการใด
6.ระยะเวลา 60 วันตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม สามารถขยายระยะเวลาการดำเนินการโดยอาศัยตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้หรือไม่ อย่างไร
7.ปัจจุบันมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และขอศาลให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ กสทช. ดังกล่าว หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับแล้ว กสทช. จะสามารถพิจารณาการรวมธุรกิจในครั้งนี้ได้หรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายใด
แต่ต่อมาในวันที่ 27 ก.ค.2565 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการ กสทช. ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่อาจรับข้อหารือของสำนักงาน กสทช. เรื่อง ขอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ไว้พิจารณาได้
เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ประเด็นที่สำนักงาน กสทช. หารือมานี้ เป็นกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. โดยเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค.2560 ที่เป็นเครื่องมือของ กสทช. ในการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการรวมธุรกิจที่เป็นประเด็นหารือนี้ มีการฟ้องเพิกถอนเป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งตามข้อ 9 (1) แห่งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 กำหนดว่า กรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี ได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา
อ่านประกอบ :
'กสทช.'ตั้ง'ทีมกุนซือกม.'ชุดใหม่ 'บวรศักดิ์'ประธานฯ 'จรัญ-เข็มชัย-สุรพล-สมคิด'กรรมการ
'ชัยวุฒิ'ตอบกระทู้'ก้าวไกล'ควบรวมทรู-ดีแทค ยันนโยบาย กสทช.ไม่ให้ขึ้นราคาค่าบริการแน่นอน
ข้อมูลยังไม่ครบ!‘บอร์ด กสทช.’ สั่งวิเคราะห์เพิ่ม 6 ประเด็น ก่อนถกดีลควบรวม TRUE-DTAC
เวทีเสวนาฯย้ำควบ TRUE-DTAC ลดการแข่งขัน-ค่าบริการพุ่ง จับตาโค้งสุดท้าย‘กสทช.’จบดีลแสนล.
เรื่องอยู่ในศาลฯ-เป็นอำนาจ‘กสทช.’! ‘กฤษฎีกา’ไม่รับตีความประเด็น‘กม.’ดีลควบ TRUE-DTAC
ฟังทัศนะ 5 กรรมการ ‘กสทช.’ ก่อนถกดีลควบ TRUE-DTAC ยัน ‘ไม่มีธง-ยึดประโยชน์สาธารณะ’
ชงบอร์ด'กสทช.'ถกดีลควบ'TRUE-DTAC' 3 ส.ค.นี้-อนุกรรมการฯด้าน'ผู้บริโภค'ค้านรวมธุรกิจ
‘สำนักงาน กสทช.’ ปฏิเสธข่าว ‘อนุกรรมการฯ’ โหวตคว่ำดีลควบรวมธุรกิจ ‘TRUE-DTAC’
คำให้การ TRUE-DTAC! ‘ร้องสอด’คดีเพิกถอนประกาศ‘กสทช.’ ยก 7 เหตุผลหนุน‘ควบรวมธุรกิจ’
เปิดหนังสือหารือ‘กฤษฎีกา’ ตีความอำนาจ‘กสทช.’ 7 ประเด็น คลี่ปมดีลรวมธุรกิจ‘TRUE-DTAC’
‘ศาลปค.’ ชี้ ‘กสทช.’ มีอำนาจสั่งห้ามควบรวม ‘TRUE-DTAC’ หากเห็นว่าก่อให้เกิดการผูกขาด