'ธปท.' เผยเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค. ดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ ‘ภาคธุรกิจ’ ได้รับแรงกดดันจาก ‘ต้นทุนเพิ่ม-กำลังซื้ออ่อนแอ’ เผย 5 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
.....................................
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน เดือน พ.ค.2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.2565 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการใช้จ่ายภายในประเทศ การส่งออกสินค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดแรงงานค่อยๆทยอยฟื้นตัว แม้ว่าจะยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ทำให้การผลิตในบางภาคส่วนได้รับผลกระทบ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นตามหมวดพลังงานเป็นสำคัญ
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือน มิ.ย. และระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพราะจากเครื่องชี้เร็ว ทั้ง google mobility และดัชนีชี้วัดการเดินทางของประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่เพิ่มขึ้นหวือหวาแต่ก็ยังไปได้
นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการระหว่างวันที่ 1-20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการระบุว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีประเด็นเกี่ยวกับต้นทุนและราคาสินค้าที่สูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันการฟื้นตัวอยู่ โดยในกลุ่มภาคการผลิต ภาวะธุรกิจปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะกลุ่มส่งออกอาหาร ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการที่หลายประเทศระงับการส่งออกอาหาร
ภาคบริการดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร รวมทั้งการขนส่งสินค้า จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ พบว่าความต้องการบ้านแนวราบยังมีอยู่ แต่จากสถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมยังทรงๆอยู่ สำหรับกลุ่มก่อสร้าง การลงทุนมีการฟื้นตัว แต่ยังมีแรงกดดันจากราคาวัตดุก่อสร้างที่สูงขึ้น
ส่วนภาคการค้า พบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคได้รับแรงกดดันจากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น และกำลังซื้อของประชาชนที่อ่อนแอ ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคบางหมวดลดลงบ้าง ขณะที่ยอดขายสินค้าคงทน เช่น รถยนต์จะพบว่ารถยนต์บางรุ่นมียอดผลิตและจัดส่งเพิ่มขึ้น แต่บางรุ่นมียอดจองลดลง ส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อที่เปราะบาง และการขาดแคลนชิปเซ็ต ทำให้การส่งมอบต้องใช้เวลา ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนชะลอการตัดสินใจ
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า มีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ ธปท. ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ 1.การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้า 2.ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนว่าจะคลี่คลายได้เร็วแค่ไหน และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
“ตามเครื่องชี้ 2 เดือน (เม.ย.-พ.ค.2565) เศรษฐกิจในภาพรวมฟื้นตัวต่อเนื่อง และถ้าเทียบตัวเลขปีต่อปี เครื่องชี้หลายตัวขึ้นค่อนข้างดี เราจึงมองว่าเศรษฐกิจเรายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และนับตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป ก็จะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้น และชัดเจนขึ้น ส่วนเงินเฟ้อนั้น ในช่วงไตรมาสที่ 3 น่าจะเป็นช่วงเงินเฟ้อสูงที่สุดในปีนี้” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2565) ที่ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 จะเป็นช่วงการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ ซึ่งในภาวะปกติจะไม่เห็นตัวเลขอย่างนี้ เพราะมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเข้ามาช่วย และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี การส่งกลับกำไรจะลดลง และมีรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาช่วย ซึ่ง ธปท. คาดว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อถามว่า มีโอกาสจะได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าไปที่ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้หรือไม่ น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า คงพูดลำบากว่าตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์ของโลกที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นที่ต้องการ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ประกอบกับดอกเบี้ยในสหรัฐปรับเพิ่มขึ้น จึงทำให้คนหันไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น
“เราเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ เมื่อดอลลาร์แข็ง เราจะได้รับแรงกดดันด้านอ่อนค่าอยู่แล้ว แต่ถามว่าจะอ่อนไปแค่ไหนนั้น ต้องมองภาพเศรษฐกิจ เพราะค่าเงินควรสะท้อนภาพเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น ในช่วงหลังของปี หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวกลับเข้ามา ก็คิดว่าความผันผวนด้านอ่อนคงไม่หวือหวา แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านต่างประเทศด้วย” น.ส.ชญาวดี กล่าว
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.2565 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron ที่น้อยลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงลดลงจากความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นหลัก สอดคล้องกับอุปสงค์โดยรวมที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงบ้างหลังจากเร่งขึ้นในเดือนก่อนตามยอดขายวัสดุก่อสร้าง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอาเซียนและอินเดีย เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางอย่างต่อเนื่องจากทั้งฝั่งไทยและต่างประเทศ
มูลค่าการส่งออกขยายตัว 11.3% โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยขยายตัวที่ 13.4% สอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัว ประกอบกับการส่งออกผลไม้ไปจีนเร่งขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกบริหารจัดการปัญหาการขนส่งได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนปรับลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการผลิตหมวดยานยนต์ที่ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตในหลายหมวดยังคงปรับเพิ่มขึ้น อาทิ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดปิโตรเลียม
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง หมวดสินค้าทุน และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากรายจ่ายลงทุนซึ่งมีการทยอยเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับการเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจลดลง เนื่องจากการก่อสร้างเกิดความล่าช้าในโครงการคมนาคม สำหรับรายจ่ายประจำทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ตามการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาในหมวดอาหาร และผลของฐานค่าน้ำประปาที่ต่ำในปีก่อนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ
ด้านตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นจากการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ แม้ดุลการค้าจะเกินดุลมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่องสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ชี้หาก‘กนง.’ขึ้น'ดอกเบี้ย'จะไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุด-เชื่อ‘ศก.สหรัฐ’ไม่ถดถอย
'ธปท.'เผยเศรษฐกิจ เม.ย. ปรับตัวดีขึ้น-ขาดดุล'บัญชีเดินสะพัด'พุ่ง 3.4 พันล.ดอลล่าร์ฯ
‘ธปท.’ ห่วง ‘บาทอ่อน’ กดดัน ‘เงินเฟ้อ’ เพิ่ม-เผยเศรษฐกิจ มี.ค.ชะลอตัวเล็กน้อย
‘บาท’ อ่อนค่ามากสุดในรอบ 5 ปี ‘ธปท.’ชี้มาจากปัจจัยภายนอก-ต่างชาติส่งกลับ‘เงินปันผล’
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ก.พ.ฟื้นต่อเนื่อง-จับตาผลกระทบ‘โอไมครอน-สินค้าแพง-แซงก์ชั่นรัสเซีย’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด