‘ธปท.’ กังวล ‘บาทอ่อน’ กระทบต้นทุนนำเข้า-กดดัน ‘เงินเฟ้อ’ เพิ่ม ย้ำดูแล ‘ค่าเงิน’ ไม่ให้กระทบต่อ 'การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อในอนาคต' ระบุเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค. ชะลอลงเล็กน้อย จากการระบาดโอไมครอน
..............................
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากสุดในรอบเกือบ 5 ปี ว่า ตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 2.5% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น โดยในเรื่องค่าเงินบาท ธปท. จะเข้าไปดูแลในเรื่องความผันผวน และหากค่าเงินบาทเป็นไปตามทิศทางของพื้นฐานเศรษฐกิจ ก็คงต้องเป็นอย่างนั้น
“เราจะเข้าไปดูแล ถ้าเราเห็นว่า มีความผันผวนที่ผิดปกติ นี่เป็นจุดที่เราจับตาดูอย่างต่อเนื่อง ถ้าถามว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากระทบอะไร ตอนนี้สิ่งที่เรากังวล คือ ต้นทุนต่างๆที่จะเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ เพราะถ้าค่าเงินบาทอ่อนมาก ก็จะกระทบต้นทุนการนำเข้า และส่งผ่านมาที่เงินเฟ้อ จึงเป็นประเด็นที่เราต้องติดตามต่อไป” นายสักกะภพ กล่าว และย้ำว่า “ในเรื่องค่าเงินบาท ถ้ามีอะไรที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐาน ธปท. คงต้องเข้าไปดูแล”
นายสักกะภพ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า หลักๆจะมาจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงกว่าที่คาดไว้ และความกังวลของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งเมื่อมองไปข้างหน้าจะพบว่าค่าเงินยังคงมีความผันผวนสูง ดังนั้น ภาคเอกชนต้องระมัดระวัง รวมทั้งต้องให้ความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น
นายสักกะภพ ระบุว่า ธปท.จะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไป จนไปส่งกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อในอนาคต
นายสักกะภพ ยังกล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้น ส่งผลกระทบดีต่อผู้ส่งออก เพราะจะทำให้มีสภาพคล่องในรูปเงินบาทสูงขึ้น แต่ผลกระทบที่เข้ามา คือ ต้นทุนของการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น และส่งผ่านมาที่เงินเฟ้อ เพราะราคาพลังงานและวัตถุดิบที่มีราคาสูงอยู่แล้ว จะถูกซ้ำเติมจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากๆ และจะสร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้นต่ออัตราเงินเฟ้อ แต่ตอนนี้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่ามากจนถึงจุดนั้น
นายสักกะภพ กล่าวแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือน เม.ย. ว่า เรื่องเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ ธปท. จับตาดูอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ประมาณการว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 มีโอกาสสูงที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงกว่า 5% ก่อนจะปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสที่ 4 ในขณะที่สมมุตฐานอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ธปท. ได้รวมปัจจัยที่รัฐบาลลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลเข้าไปแล้ว แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ เรื่องการปรับขึ้นราคาสินค้าประเภทต่างๆ
“มีเรื่องเข้ามาเรื่อยๆ เดี๋ยวก็มีการขึ้นราคาสินค้าประเภทต่างๆ ถ้ามันเริ่มเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ เริ่มมีดีมานด์เข้ามาเพิ่มมากขึ้น เราก็จะไปดูให้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าไปดูจริงๆ จะพบว่าส่วนใหญ่มาจะมาจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก ฉะนั้น การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อของเราในช่วงที่ผ่านมาก็มาจากราคาพลังงานและอาหารเป็นหลัก ซึ่งเราจับตามองอยู่ทั้งเงินเฟ้อที่มองไปข้างหน้า และการคาดการณ์เงินเฟ้อของเอกชน”นายสักกะภพ ระบุ
นายสักกะภพ กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน มี.ค.2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.2565 ชะลอลงเล็กน้อย ตามการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนที่ปรับลดลง ทั้งการบริโภคและการลงทุน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม จากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron และต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง
อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นตามปัจจัยตามราคาน้ำมันและราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน
“แม้ว่าเครื่องชี้ต่างๆในเดือน มี.ค. จะชะลอลง แต่ถ้าดูรายไตรมาส จะพบว่าในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 เทียบกับไตรมาสที่ 4/2564 เศรษฐกิจยังขยายตัวดีขึ้นตามมูลค่าการส่งออกสินค้า จำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เครื่องชี้ในแง่การบริโภคและการลงทุนยังเพิ่มขึ้น แม้ว่าการบริโภคอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากการระบาดของโอไมครอน และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น” นายสักกะภพ กล่าว
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.2565 คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่ปัจจัยที่จะมีผลกระทบ คือ ค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และนอกจากเรื่องต้นทุนและการระบาดที่อาจกลับมาอีกครั้ง ปัจจัยใหม่ที่ต้องติดตาม ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย
สำหรับรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค. มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron และค่าครองชีพที่สูงขึ้นซึ่งบั่นทอนกำลังซื้อของภาคครัวเรือน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของภาคธุรกิจ โดยปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้างที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า และหมวดวัสดุก่อสร้างที่ความต้องการในประเทศลดลง และราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หมวดชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับลดลงจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตที่มีต่อเนื่อง
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวจากรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทานเป็นสำคัญ หลังเร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร โลหะ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นผลจากทั้งอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังคงขยายตัว และราคาสินค้าส่งออกบางประเภทที่ปรับสูงขึ้น อาทิ ข้าว และเหล็ก อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าบางหมวดปรับลดลงบ้าง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะน้ำตาลที่ส่งออกไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ เชื้อเพลิง ปุ๋ย โลหะ และข้าวสาลี ซึ่งผู้ประกอบการมีการเร่งนำเข้าเนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกสัญชาติ หลังมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปตะวันออกปรับลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงขึ้นเป็นสำคัญ
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าปรับดีขึ้น ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังปรับเพิ่มขึ้น แม้จะชะลอลงบ้างจากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron และต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากรายจ่ายลงทุน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นมากตามราคาพลังงานและราคาอาหารสด เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
อ่านประกอบ :
‘บาท’ อ่อนค่ามากสุดในรอบ 5 ปี ‘ธปท.’ชี้มาจากปัจจัยภายนอก-ต่างชาติส่งกลับ‘เงินปันผล’
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ก.พ.ฟื้นต่อเนื่อง-จับตาผลกระทบ‘โอไมครอน-สินค้าแพง-แซงก์ชั่นรัสเซีย’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด