“…จะเห็นว่าแม้กฎระเบียบข้อบังคับของธุรกิจบัตรเครดิตไทยจะมีความเข้มข้นกว่า แต่สัดส่วนการทำกำไรของธุรกิจบัตรเครดิตไทยกลับมากกว่าตัวภาคการเงินไทยเอง และมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่นำมาเปรียบเทียบ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะธุรกิจบัตรเครดิตไทยนั้นยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว หรือลักษณะของเศรษฐกิจสังคมไทยที่แตกต่าง…”
.......................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ.ดร.จักรกฤช เจียวิริยบุญญา และ ดร.สีร นุกูลกิจ เผยแพร่งานศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง ‘การเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตระหว่างไทยและต่างประเทศ’
โดยงานศึกษาวิจัยฯดังกล่าว พบว่า แม้อัตราดอกเบี้ยและและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตในไทยจะอยู่ 16% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่า 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ เยอรมนี และสหรัฐฯ แต่เนื่องจากรายได้เฉลี่ยของคนไทยน้อยกว่าทั้ง 5 ประเทศ การกำหนดดอกเบี้ยบัตรเครดิตเต็มเพดานที่ 16% จึงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
อีกทั้งเพดานดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของผู้บริโภค เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงสุด ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก นั้น (อ่านประกอบ : 'สภาผู้บริโภค'แพร่งานวิจัยฯ ชี้ดบ.'บัตรเครดิต'ไทย ไม่สอดคล้องรายได้-ความเสี่ยง'ลูกหนี้')
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสรุปสาระสำคัญของงานศึกษาวิจัย เรื่อง ‘การเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตระหว่างไทยและต่างประเทศ’ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะของ ‘คณะผู้วิจัย’ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@เพดานดอกเบี้ย‘บัตรเครดิต’ไทย 16% ต่ำสุดเทียบ 5 ชาติ
บัตรเครดิตคือผลิตภัณฑ์ทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งใช้แทนเงินสดเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงเป็นเสมือนการให้สินเชื่อในการสร้างสภาพคล่อง (ไม่มีหลักประกัน) อย่างไรก็ตาม ภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม (รวมถึงค่าปรับ) ที่เกิดจากการให้บริการดังกล่าวอาจนำไปสู่การเกิดภาระหนี้สูงเกินไป
ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ธุรกิจธนาคาร (Bank) และธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) คิดเป็นจำนวนผู้ให้บริการ 14 ราย และ 10 ราย ตามลำดับ โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและธรรมเนียม รวมถึงอัตราการจ่ายขั้นต่ำ
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมามองในมุมของผู้ถือบัตรเครดิต กลับพบคำถามว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมมีความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคที่ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2562 มีหน้าที่ หนึ่ง คือ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ของผู้บริโภคในด้านการเงินและการธนาคาร
ดังนั้น งานวิจัยฯ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของไทยและต่างประเทศ รวมถึงเปรียบเทียบเรื่องการกำกับดูแลการคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการกำหนดอัตราดอกเบี้ยฯ ที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป
ส่วนขอบเขตการศึกษาของต่างประเทศจะครอบคลุม 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ (งบการเงิน) ในช่วงปี พ.ศ.2561-2565 และการสนทนากลุ่ม (Focus Group)
โครงสร้างตลาดธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทยและต่างประเทศ
ผลการศึกษาในด้านโครงสร้างตลาดธุรกิจบัตรเครดิตของประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ในปี พ.ศ.2565 การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม (Pricing) ของไทย ที่กำหนดจากธนาคารกลางให้คิดไม่เกินร้อยละ 16 ต่อปี ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้ง 5 ประเทศที่ศึกษา
การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมนี้ เป็นการทำ price ceiling (เพดานราคา) แต่เนื่องจากในบริบทของเศรษฐกิจไทยในด้านขนาดเศรษฐกิจ (GDP) และอำนาจซื้อ (วัดผ่านอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงและรายได้ต่อหัว) ที่ต่างจากเศรษฐกิจของประเทศอื่นที่ทำการศึกษา ทำให้การเปรียบเทียบดังกล่าวกับต่างประเทศมีข้อจำกัด
อย่างไรก็ดี การกำหนดเพดานราคาที่ร้อยละ 16 มีช่องว่างที่อาจทำให้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทยเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เพดานดังกล่าว นัยนี้ชี้ว่า การกำหนดราคาของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตควรคำนึงถึงผู้บริโภค และการแข่งขันที่มากขึ้น
ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 5 ประเทศที่เพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมนั้นสูงกว่าหรือได้ยกเลิกเพดานนั้นไปแล้ว แต่อาจจะมีปัจจัยอื่น เช่น การแข่งขันไม่สมบูรณ์ ธรรมาภิบาล การควบคุมของรัฐ ฯลฯ ที่ทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศอื่นที่นำมาเปรียบเทียบ ไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงสุดเท่าที่ทำได้
การกำหนดเพดานราคาของดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรในเศรษฐกิจไทย จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเบื้องลึกของธุรกิจบัตรเครดิต
ผู้วิจัยเปรียบเทียบกับงานของ เดือนเด่น (Nikomborirak, 2017) ซึ่งทำการศึกษาระเบียบการเก็บค่าธรรมเนียมการโอนเงินในธนาคารไทยเมื่อ ปี พ.ศ.2552 โดยเสนอแนะว่า กฎเกณฑ์การกำกับเพดานราคา นั้น ทำให้ธนาคารต่างๆ ตั้งราคาสูงสุดที่เพดานราคา และร่วมมือกันในการคงราคานั้นไว้ เป็นการทำ price collusion (รวมหัวกันตกลงราคา)
การออกแบบนโยบาย จึงต้องมีความละเอียดอ่อน หากจะปรับเพดานราคาลงมาอีก หรือหาช่องทางนโยบายอื่นให้มีตั้งราคาและกำไรในระดับที่ปกติและเหมาะสม
โครงสร้างตลาดธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทยและต่างประเทศ
จำนวนบัญชีบัตรเครดิต มูลค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายต่อบัตร และยอดคงค้างหนี้ต่อบัตรในประเทศไทย มีค่าประมาณเท่ากับ 25 ล้านบัญชี 88,000 บาท และ 18,768 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่าประเทศจีนและสหรัฐฯ มีจำนวนบัญชีเครดิตที่สูงกว่ามาก เป็นไปได้ว่าเนื่องมาจากขนาดจำนวนประชากร
ขณะที่เมื่อเทียบการใช้จ่ายต่อบัตรกลับมีมูลค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ประเทศเกาหลีใต้ (1.54 ล้านบาท/บัญชีบัตรเครดิต) ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมการใช้บัตรเครดิตเพื่อใช้การชำระแทนเงิน คล้ายๆ กับประเทศสหรัฐฯ ที่มีการนิยมใช้บัตรเครดิตในการทำธุรกรรม (0.33 ล้านบาท/บัญชีบัตรเครดิต)
ในด้านยอดคงค้างหนี้บัตรเครดิตต่อบัญชี มีความสอดคล้องกับมูลค่าการใช้จ่ายต่อบัตร กล่าวคือ ประเทศเกาหลีใต้ มีมูลค่ายอดคงค้างหนี้ต่อบัตรสูงเป็นอันดับสอง 135,724 บาทต่อบัญชี รองจากประเทศมาเลเซีย ที่มียอดคงค้างหนี้ต่อบัตรสูงสุดถึง 141,023 บาทต่อบัญชี ขณะที่ประเทศไทยมียอดคงค้างหนี้ต่อบัตรเพียง 18,768 บาทต่อบัญชี
เมื่อพิจารณาการวัดการกระจุกตัวด้านรายได้และด้านสินทรัพย์ของกลุ่มตัวอย่างธุรกิจบัตรเครดิต ทั้งธุรกิจธนาคาร (Bank) และธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทย มีระดับการกระจุกตัวสูง ซึ่งคล้ายกับประเทศเยอรมนี แต่จีนและสหรัฐฯ กลับมีค่าการกระจุกตัวค่อนข้างต่ำถึงปานกลาง
@ธุรกิจ‘บัตรเครดิตไทย’อัตรากำไร 6.57% มากสุดเทียบ 5 ปท.
ผลการศึกษาการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
เมื่อคำนึงถึงต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนการดำเนินงาน และต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อบัตรเครดิต นำไปสู่การวิเคราะห์อัตรากำไร Effective spread (ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรับเฉลี่ย (Effective Loan Rate : ELR) และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจ่ายเฉลี่ย (Effective Deposit Rate : EDR)) และ Return on Average Assets (ROAA)
พบว่า ภาพรวมตัวเลขอัตรากำไรดังกล่าวของกลุ่มตัวอย่างธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทย อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 6.57 และร้อยละ 2.29 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่ากลุ่มตัวอย่างธุรกิจบัตรเครดิตในต่างประเทศทั้ง 5 ประเทศ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดพบข้อสรุปสำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก ในประเทศไทยกลุ่มตัวอย่างธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) มี Effective spread และ ROAA สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างจากธุรกิจธนาคาร (Bank) และ
ประการสอง เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) (ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเป็นสำคัญ) ของไทย กับเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา ผลการศึกษายังคงเหมือนเดิม คือ Effective spread และ ROAA ของไทย ยังมีอัตราที่สูงกว่าต่างประเทศ
จากผลการศึกษาดังกล่าวชี้ว่า ประเทศไทย มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต ต่ำกว่าต่างประเทศทั้ง 5 ประเทศ แต่มีความสามารถในการทำอัตรากำไร Effective spread และ ROAA ได้ดี มีความเป็นไปได้ว่ามีการบริหารส่วนต่างรายได้สุทธิ และ/หรือต้นทุนได้ดี เนื่องมาจาก
1) ธุรกิจบัตรเครดิต โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) มีการทำรายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตได้ดีเมื่อเทียบกับต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนทางการเงินที่ต่ำของไทยในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการบริหารต้นทุนความเสี่ยงมีค่าเฉลี่ยไม่สูงอยู่ที่่ร้อยละ 2-3 ของสินเชื่อบัตรเครดิต และ
2) การเริ่มลงทุนด้านเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลและคัดเลือกลูกค้า ในด้านการวิเคราะห์และเปรียบเทียบ
แนวทางการกำกับดูแลการคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตของไทยและต่างประเทศ
เป็นการพิจารณาผ่านประกาศของธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ร่วมกับการอภิปรายกลุ่มใน 4 เรื่อง คือ (1) คุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิต (2) วงเงินบัตรเครดิต (3) การเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมใดๆ และค่าใช้จ่ายอื่น และ (4) การดูแลผู้บริโภค
ผลการศึกษาส่วนนี้ พบว่า คุณสมบัติของผู้ถือบัตรเครดิตในไทยใช้เกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน และ/หรือเงินฝากในจำนวนที่กำหนด การถือบัตรเครดิต แบ่งเป็นบัตรหลักและบัตรเสริม ผู้ถือบัตรหลักเป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมายต่อผู้ถือบัตรเสริม
สำหรับในต่างประเทศเงื่อนไขการพิจารณามีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่จะมีการพิจารณาเน้นคุณสมบัติผู้ถือบัตรเครดิตด้วยคะแนนเครดิตส่วนบุคคล เช่น ในประเทศเยอรมนี มีหน่วยงาน SCHUFA ที่เป็นฐานข้อมูลคะแนนเครดิตให้กับบริษัทผู้ออกบัตร
นอกจากนี้ ในด้านวงเงินบัตรเครดิตในประเทศไทย ธปท.ได้กำหนดวงเงินบัตรเครดิตแบ่งตามช่วงของรายได้เป็น 3 วงเงิน คือ ไม่เกิน 1.5 เท่า ไม่เกิน 3 เท่า และไม่เกิน 5 เท่าของแต่ละช่วงรายได้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาวงเงินจะดูภาระหนี้้สินของผู้ถือบัตรเครดิต รวมถึงการเพิ่มวงเงินภายหลังอนุมัติมาแล้วสามารถทำได้แบบถาวรและแบบชั่วคราว
สำหรับการให้วงเงินบัตรเครดิตนั้น คณะผู้วิจัยเห็นว่า ควรตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า บัตรเครดิตทำหน้าที่เสมือนเงินทดรองจ่ายของผู้ถือบัตรเครดิต การกำหนดวงเงินบัตรเครดิตนั้น จึงควรมีการกำหนดวงเงินรวมของผู้ถือบัตรแต่ละรายไว้ในจำนวนที่เหมาะสมป้องกันการเกิดความเสี่ยงในการเป็นหนี้สินสะสมจนไม่สามารถชำระได้ในอนาคต
@กฎระเบียบเข้มข้น แต่ธุรกิจ‘บัตรเครดิตไทย’ทำกำไรได้ดี
การเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต
การเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และอื่นๆ พบว่า ในประเทศไทยมีการกำหนดไม่เกินร้อยละ 16 ต่อปี (กรณีกดเงินสดไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี) ปัจจุบันเฉพาะการคิดดอกเบี้ย คำนวณจากการชำระขั้นต่ำร้อยละ 8 (ปี พ.ศ.2568 เพิ่มเป็นขั้นต่ำร้อยละ 10)
ขณะที่ในต่างประเทศบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ มีความแตกต่าง คือ การชำระขั้นต่ำไม่ได้กำหนดเป็นอัตราร้อยละ แต่กำหนดเป็นจำนวนเงินชำระขั้นต่ำ แม้กระทั่งในบางประเทศ มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นหลายอัตรา เช่น ประเทศมาเลเซีย กำหนดอัตราเป็น 3 ระดับ คือ 15% 17% และ 18% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธปท. กำลังพิจารณาการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง สำหรับสินเชื่อของรายย่อย ซึ่งรวมถึงธุรกิจบัตรเครดิต (Risk-Based Pricing) ทำให้อนาคตอาจมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่างกันสำหรับความเสี่ยงของผู้ถือบัตรเครดิตต่างกัน
สำหรับด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ธปท. ได้ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบัตรเครดิต การติดตามการชำระหนี้ ขั้นตอนการโอนหนี้บัตรไปยังสถาบันการเงินอื่น ซึ่งเห็นได้จากมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (ออกเมื่อ 1 ม.ค.2567) การคุ้มครองผู้บริโภคนี้มีความคล้ายคลึงกับต่างประเทศ
จะเห็นว่าแม้กฎระเบียบข้อบังคับของธุรกิจบัตรเครดิตไทยจะมีความเข้มข้นกว่า แต่สัดส่วนการทำกำไรของธุรกิจบัตรเครดิตไทยกลับมากกว่าตัวภาคการเงินไทยเอง และมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่นำมาเปรียบเทียบ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะธุรกิจบัตรเครดิตไทยนั้นยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว หรือลักษณะของเศรษฐกิจสังคมไทยที่แตกต่าง
ผลการศึกษาส่วนสุดท้ายของคณะผู้วิจัย คือ การพิจารณาความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต การประเมินความเสี่ยงนี้ แบ่งเป็นความสามารถในการชำระหนี้ ระบบเรียกเก็บหนี้ ระบบการติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายและการชำระหนี้ และระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร
ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนนี้ คือ ความสามารถการชำระหนี้ต้องพิจารณาภาระหนี้ทั้งหมดอย่างครอบคลุม และเมื่อนำไปหักออกจากรายได้ต้องสามารถเพียงพอต่อการดำรงชีพ
ขณะที่ระบบการเรียกเก็บหนี้ พบว่าปกติผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตดำเนินการเอง เว้นแต่บางกรณีใช้พันธมิตรทางธุรกิจ กรณีเป็นหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และมีการขายหนี้ส่วนนี้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้รับเสนอจากการสนทนากลุ่มว่าควรมีการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม
แม้ว่าเมื่อ 1 ม.ค.2567 ธปท.ได้กำหนดแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องเสนอปรับโครงสร้างหนี้แก่ผู้ถือบัตรก่อนเป็น NPL 1 ครั้ง และหลังเป็น NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนการฟ้องดำเนินคดี โอนขายหนี้หรือยึดทรัพย์ และห้ามไม่ให้โอนขายหนี้หลังเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้เป็นระยะเวลา 60 วัน
แต่เมื่อหนี้ถูกขายให้แก่บริหารสินทรัพย์แล้วนั้น พบว่า สินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อประเภทไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (เป็นเหตุให้สามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมได้ถึงร้อยละ 16 ต่อปี) ถูกโอนขายหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ และมีผู้ถูกดำเนินคดียึดทรัพย์และขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้
ขณะที่ระบบการติดตามพฤติกรรมผู้ถือบัตรในประเทศไทยและต่างประเทศ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนใหญ่มีฐานข้อมูลเครดิตเป็นส่วนประกอบสำคัญในการติดตาม ท้ายสุดการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารธุรกิจบัตรเครดิต มีการใช้เทคโนโลยี AI มากขึ้น
จากที่กล่าวมาสามารถอภิปรายว่า ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศนั้น เรามีข้อกฎหมายและระเบียบที่เข้มงวดกว่า ทั้งที่เป็นข้อบังคับของรัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยเรามีทั้งเพดานการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย รวมถึงการจ่ายชำระขั้นต่ำซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบัตรเครดิตในหลายระดับนั้นมีมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่นำมาเปรียบเทียบ โดยระเบียบข้อบังคับนั้น ส่งผลถึงทั้งผู้ให้บริการบัตรเครดิตและผู้บริโภค
สรุป
โครงการวิจัยเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตระหว่างไทยและต่างประเทศในฉบับนี้ ก็เช่นเดียวกันที่พบปัญหาที่ระเบียบข้อบังคับไม่ได้เป็นตัวกำหนดทิศทางของธุรกิจและแนวโน้มของภาคการเงินในภาพรวม
จากการวิเคราะห์งบการเงินของธุรกิจบัตรเครดิตทั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เราพบว่า ในขณะที่ Return on Average Asset ของภาคการเงินไทยนั้น มีระดับที่ลดลงเรื่อยๆ แต่ธุรกิจบัตรเครดิตในไทยกลับมีผลตอบแทน ROAA และ effective spread ที่สูงกว่าภาคการเงินไทยและมากกว่าประเทศอื่นๆ
โดย ROAA ที่คำนวณจากสัดส่วน กำไรต่อสินทรัพย์เฉลี่ย ในช่วงเวลา 5 ปี (พ.ศ.256-พ.ศ. 2565) ที่คณะวิจัยแปรผลข้อมูลงบการเงินที่รวบรวมมาได้นั้น ธุรกิจบัตรเครดิตไทยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.29 ในขณะที่มาเลเซียร้อยละ 0.96 จีนร้อยละ 0.90 เกาหลีใต้ร้อยละ 1.60 เยอรมนีร้อยละ 0.31 และสหรัฐอเมริการ้อยละ 1.45
ขณะที่ effective spread ที่คำนวณจากสัดส่วน รายได้หักต้นทุนต่อสินเชื่อ ในช่วงเวลา 5 ปี (พ.ศ.2561-พ.ศ. 2565) ธุรกิจบัตรเครดิตไทยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.57 ในขณะที่มาเลเซียร้อยละ 0.97 จีนร้อยละ 2.91 เกาหลีใต้ร้อยละ 4.34 เยอรมนีร้อยละ 0.50 และสหรัฐอเมริการ้อยละ 2.45
จะเห็นว่าแม้กฎระเบียบข้อบังคับของธุรกิจบัตรเครดิตไทยจะมีความเข้มข้นกว่า แต่สัดส่วนการทำกำไรของธุรกิจบัตรเครดิตไทยกลับมากกว่าตัวภาคการเงินไทยเอง และมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่นำมาเปรียบเทียบ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะธุรกิจบัตรเครดิตไทยนั้นยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว หรือลักษณะของเศรษฐกิจสังคมไทยที่แตกต่าง
เมื่อเทียบดัชนีการกระจุกตัวทางรายได้และสินทรัพย์ (Concentration ratio และ Herfindahl Hirschman Index) โดยคณะผู้วิจัยพบว่า ไทยมีค่าการกระจุกตัวรายได้ที่สูง ซึ่งมีลักษณะคล้ายประเทศเยอรมนี ตามมาด้วยประเทศมาเลเซียและประเทศเกาหลีใต้ ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีนมีค่าการกระจุกตัวค่อนข้างต่ำเกือบปานกลาง
เมื่อกลับมาพิจารณาการวัดการกระจุกตัวด้านสินทรัพย์ พบว่า ภาพรวมของผลการศึกษาไม่ได้แตกต่างจากการวัดการกระจุกตัวด้านรายได้ แม้จะมีข้อจำกัดในการใช้ข้อมูล คือ
ประการแรก กลุ่มตัวอย่างที่เลือกมาเป็นตัวแทนของตลาดธุรกิจบัตรเครดิตทั้ง 6 ประเทศ งานวิจัยพยายามหาตัวอย่างที่เป็นตัวแทนประชากรเกินร้อยละ 60-70 ของทั้งตลาด
ประการสอง เนื่องจากธุรกิจธนาคาร (Bank) และธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ไม่ได้ประกอบธุรกิจแค่บัตรเครดิต แต่มีความหลากหลายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ประการสุดท้าย การวัดการกระจุกตัวเป็นการมองเชิงโครงสร้าง
ผลของงานวิจัย จึงต้องไปดูที่ภาคการเงินภาพรวม ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาทางโครงสร้างของภาคการเงิน รวมทั้งภาพรวมเศรษฐกิจสังคมไทยของหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ภาคธุรกิจ การปรับเปลี่ยนกฎและระเบียบวิธีการ จึงมีความจำเป็นมาก อย่างเช่น การทำหนี้ให้เป็นเงินกู้ที่มีอายุ (Term loan) วิธีการออกกฎและระเบียบ จึงต้องปรับเปลี่ยนและหาช่องทางใหม่เพื่อที่จะช่วยผู้บริโภค
@แนะ‘ธปท.’กำหนดดอกเบี้ยบัตรเครดิตตามความเสี่ยง‘ลูกหนี้’
ข้อเสนอแนะจากการศึกษา
1) การทำ Risk-based Pricing
จากข้อค้นพบของการศึกษา พบว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตไว้อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 16 ต่อปี แต่กลับพบว่าผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตไม่ได้มีการแข่งขันในด้านราคา และเลือกที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเต็มเพดานที่ร้อยละ 16 ต่อปีตามกฎหมายกำหนด ไม่ว่าผู้ถือบัตรนั้นจะเป็นผู้ที่่มีประวัติการชำระหนี้เป็นอย่างไรก็ตาม
คณะผู้วิจัยจึงเสนอแนะให้ ธปท. ออกข้อบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ทำการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมแบบ Risk-based Pricing ตามข้อมูลคะแนนเครดิตของผู้ถือบัตร โดยธนาคารแห่งประเทศไทยควรกำหนดเกณฑ์การพิจารณาคะแนนเครดิตของผู้ถือบัตร เพื่อเป็นการแยกระหว่างผู้บริโภคที่มีเครดิตดี และเครดิตไม่ดี (Credit Scoring) พร้อมกับกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-based Pricing)
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ต้องสร้างฐานข้อมูลคะแนนเครดิตของผู้ถือบัตรด้วย แต่ทั้งนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงนี้ ต้องทำควบคู่กับการกำกับเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต เช่น ผู้ถือบัตรเครดิตที่ใช้งานกรณีทั่วไปถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอยู่ที่ร้อยละ 16 (เพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่กำหนด)
และเมื่อผู้ถือบัตรมีประวัติชำระหนี้ที่ดีต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งโดยไม่ผิดนัดชำระเลย เช่น 12 เดือนต่อเนื่อง จึงควรมีการกไหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตปรับลดอัตราดอกเบี้ยทันทีโดยผู้ถือบัตรเครดิตไม่ต้องร้องขอ
2) การเปิดเผยข้อมูลต้นทุนในการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลงบการเงินของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเพื่อคำนวณหาความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ คณะผู้วิจัยพบว่า ข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยนั้น เป็นงบการเงินที่ไม่ได้มีการแจกแจงรายละเอียด รวมถึงไม่ได้มีการจำแนกงบการเงินเฉพาะส่วนธุรกิจบัตรเครดิต
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม คณะผู้วิจัยเสนอให้ ธปท. ออกแนวทางให้สถาบันการเงินเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนของการประกอบธุรกิจอันเป็นที่มาของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม (Pricing) โดยเฉพาะในส่วนต้นทุนการดำเนินงานซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับต้นทุนประเภทอื่น
3) การกำหนดวงเงินบัตรเครดิตรวม
จากผลการศึกษาในส่วนการกำกับดูแลธุรกิจบัตรเครดิต เรื่องการกำหนดวงเงินบัตรเครดิต พบว่า มีกฎระเบียบที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดวงเงินบัตรเครดิตต่อบัตร ซึ่งมีลักษณะเป็นขั้นบันไดตามรายได้ของผู้ถือบัตร (1.5 เท่า 3 เท่า และ 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน) แต่ทั้งนี้ ไม่ได้มีการกำหนดวงเงินรวม ส่งผลให้มีผู้ใช้บัตรเครดิตที่มีวงเงินจากบัตรเครดิตหลายใบรวมกันมากกว่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือนเป็นจำนวนมาก
อีกทั้งคณะผู้วิจัยได้รับข้อมูลจากการทำการสนทนากลุ่มว่า พบปัญหาการฟ้องร้องกันถึงชั้นศาล และพบว่า มีผู้ประกอบการเพียงบางรายที่พิจารณาอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิตจากการตรวจสอบวงเงินบัตรเครดิตเดิมของผู้สมัครบัตรเครดิต
คณะผู้วิจัยเสนอให้ ธปท. ทำการกำหนดวงเงินรวมของผู้ถือบัตรแต่ละรายไว้ในจำนวนที่เหมาะสมป้องกันการเกิดความเสี่ยงในการเป็นหนี้สินสะสม จนไม่สามารถชำะได้ในอนาคต รวมถึงเสนอให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตแบ่งปันข้อมูลวงเงินบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรที่มีกับตนเองแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นเพื่อให้สามารถพิจารณาวงเงินบัตรเครดิตใบใหม่แก่ผู้ถือบัตรได้อย่างเหมาะสม
4) การเปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving loan) เป็นสินเชื่อที่มีอายุการผ่อนชำระแน่นอน (Term loan)
ข้อมูลจากการศึกษาเรื่องระบบการเรียกเก็บหนี้ ระบบติดตามพฤติกรรมการชำระหนี้ รวมถึงข้อมูลจากการสนทนากลุ่มพบว่า หากผู้ถือบัตรเครดิตมีการก่อหนี้และเลือกชำระเพียงขั้นต่ำ และด้วยอัตราดอกเบี้ยฯ ที่่กำหนดไว้สูงถึงร้อยละ 16 ต่อปี ส่งผลให้ผู้ถือบัตรต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะชำระหนี้ได้ครบ
คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่า การเป็นหนี้สินที่ต่อเนื่องยาวนานนั้น มีความเสี่ยงต่อผู้ถือบัตรอย่างมาก เพราะหากผู้ถือบัตรบริหารการเงินผิดพลาดเพียงช่วงใดช่วงหนึ่ง ก็จะส่งผลให้ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และอาจรวมถึง ค่าธรรมเนียมในการทวงถามหนี้เพิ่มเติม อันเป็นการสร้างภาระทางการเงินแก่ผู้บริโภคอย่างมาก
คณะผู้วิจัยเสนอให้ ธปท. มีการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องเสนอเปลี่ยนประเภทหนี้ของผู้ถือบัตรในกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้้เรื้อรัง (ลูกหนี้ที่มีระยะเวลาผ่อนนาน จ่ายแต่ดอกเบี้ย เงินต้นลดน้อย) โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเสนอเปลี่ยนประเภทหนี้ของผู้ถือบัตรจาก Revolving loan เป็น Term loan
ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ลูกหนี้ที่ได้ผ่อนชำระเงินต่อเนื่องยาวนานจนมูลค่าที่ผ่อนชำระมากเกินกว่ายอดใช้จ่ายจริง โดยเกณฑ์การวัดอาจกำหนดเป็นร้อยละต่อยอดใช้จ่าย เช่น 1.5 เท่า หรือ 2 เท่า ของยอดใช้จ่าย เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตที่เป็นหนี้สินเรื้อรัง
ข้อจำกัดการศึกษาครั้งนี้
การศึกษาครั้งนี้มีการพบปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก ปัญหาการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในบัตรเครดิต ซึ่งมีไม่มาก โดยเฉพาะงานวิจัยกรณีบัตรเครดิตในประเทศไทยที่มุ่งวิเคราะห์ไปในทางการตลาด (Marketing) ทางคณะผู้วิจัยจึงทำการทบทวนงานวิจัยที่เป็นภาพใหญ่ของภาคการเงิน เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยในธุรกิจธนาคาร (Nominal spread Effective spread และ Net interest margin)
ประการสอง การรวบรวมข้อมูลในงบการเงินของธุรกิจบัตรเครดิตทั้งธุรกิจธนาคาร (Bank) และธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) พบว่า ต้องพยายามใช้ฐานข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงการหาตัวแปรที่สะท้อนเฉพาะธุรกิจบัตรเครดิต เนื่องจากการรายงานงบการเงิน จะเป็นการรายงานงบรวมไม่ได้แยกประเภทสินเชื่อ
คณะผู้วิจัยได้ติดต่อธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เนื่องจากงบการเงินเฉพาะไม่สามารถถูกเปิดเผยได้ ดังนั้นจึงจำ เป็นต้องทำการประมาณการไปที่กลุ่มธุรกิจธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) ทั้งในประเทศไทย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นผลการศึกษาตัวแทนในครั้งนี้
เหล่านี้เป็นสรุปสาระสำคัญของงานศึกษา เรื่อง ‘การเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตระหว่างไทยและต่างประเทศ’ ซึ่ง 'สภาองค์กรของผู้บริโภค ' จะนำข้อเสนอแนะในงานศึกษาฯดังกล่าว ไปจัดทำข้อเสนอเพื่อการคุ้มครอง ‘ผู้บริโภค’ และยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป!
อ่านประกอบ :
'สภาผู้บริโภค'แพร่งานวิจัยฯ ชี้ดบ.'บัตรเครดิต'ไทย ไม่สอดคล้องรายได้-ความเสี่ยง'ลูกหนี้'