ธปท.ระบุหาก ‘กนง.’ ขึ้น 'ดอกเบี้ยนโยบาย' จะไม่ทำให้เศรษฐกิจไทย ‘สะดุด’ พร้อมระบุการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 65 เป็นขยายตัวที่ 3.3% ได้รวมปัจจัยการขึ้นดอกเบี้ยเอาไว้แล้ว เชื่อเศรษฐกิจสหรัฐไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย
...................................
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานประชุมนักวิเคราะห์ ว่า แม้ว่าในช่วงนี้จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในสหรัฐมากขึ้น แต่เนื่องจากเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ต้องการให้เศรษฐกิจชะลอตัวแบบ soft landing และมีการปรับนโยบายที่แรงและเร็วเพื่อสกัดไม่ให้เงินเฟ้อฝังในระบบ จึงยังมีความหวังอยู่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เกิด recession
“นี่เป็นความเสี่ยงที่เราต้องดูอยู่ ส่วนในแง่ผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น เราคาดว่าในปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอลงชัดเจนจากปีนี้ แต่ในภาพรวม จะไม่ได้เกิด recession และถ้ามองเศรษฐกิจคู่ค้าหลักๆของเรา เราคาดว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจคู่ค้าของเราในปีหน้ากับปีนี้จะใกล้เคียงกัน ดังนั้น เราจึงไม่คิดว่าจะเกิดภาวะ recession ในโลก หรือแม้แต่ในสหรัฐ แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่มีอยู่ได้” นายปิติ กล่าว
นายปิติ กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมกันอีก 3 ครั้ง ซึ่งถือเป็นจังหวะที่พอเหมาะในการติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น และหากไปดูในหลายๆประเทศจะพบว่ามีการประชุมฯถี่น้อยกว่าของไทย เช่น สวีเดนประชุมปีละ 5 ครั้ง ,ไต้หวันและสวิตเซอร์แลนด์ 4 ครั้ง และสิงคโปร์ 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประชุม กนง.ของไทย มีความยืดหยุ่น ดังนั้น หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็ประชุมนอกรอบได้
“เงื่อนเวลา (การประชุม กนง.) ที่เราวางไว้ ถือว่าเหมาะสมกับสภาวะทั่วไป และในปัจจุบันก็ถือว่าเหมาะสมอยู่” นายปิติ ระบุ
นายปิติ ย้ำว่า ความเสี่ยงอันดับต้นๆของเศรษฐกิจ คือ การที่เงินเฟ้อระดับสูงๆฝังอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเงินเฟ้อที่มาจากอุปทาน นั้น ธปท.คาดว่าน่าจะคลี่คลายในช่วง 1-1 ปีครึ่ง แต่มี 2 ปัจจัยที่ กนง.จะติดตามเป็นลำดับแรกๆ คือ 1.เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปหรือไม่ เช่น มีการจ้างงานเพิ่ม หรือหาคนงานไม่ได้แล้วต้องเพิ่มค่าจ้าง ซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการก็ไปปรับเพิ่มราคาสินค้าตามมา และ2.การคาดการณ์เงินเฟ้อที่หลุดจากยึดเหนี่ยวหรือไม่
"เราจำเป็นต้องถอนคันเร่ง แต่ถามว่าการถอนคันเร่งในช่วงนี้จะกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยหรือเปล่า ขอเรียนว่า การประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดที่ ธปท.ได้แถลงไปนั้น ได้สะท้อนถึงการปรับนโยบายไปแล้วในตัว ดังนั้น แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มี มันได้สะท้อนการถอนคันเร่งอยู่แล้ว และเมื่ออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ การถอนคันเร่งในช่วงต้น กนง. ได้ประเมินแล้วว่า จะไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด” นายปิติ กล่าว
นายปิติ ยังระบุด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลักที่กระแทกเข้ามา ได้แก่ 1.การปรับตัวจากโควิดเข้าสู่ความปกติใหม่ (new normal) ของประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย และ2.ภูมิทัศน์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนไปอย่างมากจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้รัสเซียที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ มีบทบาทลดลงเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาว
“2 ปัจจัยนี้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นค่อนข้างเร็ว ในอัตราที่สูง และไม่ได้คาดคิดไว้ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของนโยบายการเงิน โดยที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักๆได้ปรับเข้าสู่ภาวะปกติ และในหลายๆประเทศก็มีการปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะที่การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ เกิดขึ้นในจังหวะ ความเร็ว และขนาดที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการเปลี่ยนผ่านได้เร็วกว่าประเทศอื่น เพราะเศรษฐกิจฟื้นค่อนข้างเร็ว และแรง การเปลี่ยนนโยบายจึงค่อนข้างเร็ว และเยอะ ส่วนเอเชีย รวมถึงไทย เศรษฐกิจฟื้นช้ากว่า และในอัตราที่ไม่สูงเท่า จึงนำไปสู่การปรับนโยบายที่มีความเร็วที่แตกต่างกัน อย่างในประเทศไทย เราพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเรามาช้ากว่าประเทศอื่น แต่ถ้ามองไปในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ เราคาดว่าจะมาค่อนข้างเร็ว
ดังนั้น โจทย์ของเศรษฐกิจ จึงอยู่ที่การทำให้เศรษฐกิจทะยานขึ้นอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นความท้าทายของนโยบายการเงินที่ต้องถอนคันเร่งแบบพอเหมาะ และถูกจังหวะ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งที่ดีพอ ในการทำให้ฟันเฟืองเศรษฐกิจเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง และในอัตราที่ไม่ร้อนแรงเกินไป ที่จะไปซ้ำเติมเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วจากแรงกระแทกด้านอุปทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย และเป็นถนนที่แคบที่นโยบายการเงินจะต้องเดินในระยะต่อไป” นายปิติ ระบุ
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า จากประมาณการล่าสุด ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% และปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 4.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.4%
โดยเครื่องยนต์หลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในรอบนี้ คือ การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 4.9% ส่วนปีหน้าขยายตัว 3.6% และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยปีนี้คาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 ล้านคน ส่วนปีหน้าคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 19 ล้านคน ซึ่งแม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจะเพิ่มขึ้น แต่ยังคิดเป็นเพียง 47.7% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงก่อนเกิดโควิด
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ธปท. คาดว่า ในปีนี้ไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่คาดว่าไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการท่องเที่ยวเป็นสำคัญโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของภาคการท่องเที่ยว ธปท.คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาวันละ 3 หมื่นคน” นายสักกะภพ กล่าว
ส่วนสถานการณ์ตลาดแรงงานนั้น จากเครื่องชี้พบว่าตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น โดยล่าสุดจำนวนผู้ว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 6 แสนคน และผู้เสมือนว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 2.6 ล้านคน ขณะที่แนวโน้มรายได้ของแรงงานทุกกลุ่มปรับตัวดีขึ้นทั้งในปีนี้และปีหน้า ซึ่งเป็นการฟื้นตัวตามแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ส่วนความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม เช่น แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน
นายสักกะภพ ระบุว่า ในด้านเงินเฟ้อ จากรายงานนโยบายการเงินล่าสุด ได้มีปรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้เป็นขยายตัว 6.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.9% และปีหน้าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.7% โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับสมมุติฐานราคาพลังงาน ซึ่ง ธปท.คาดว่าปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 105 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และปีหน้าคาดว่าราคาจะอยู่ที่ 105 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล รวมถึงการส่งผ่านต้นทุน
“ที่เราปรับเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าที่เราคาดการณ์ไว้เดิม เพราะมีการส่งผ่านต้นทุน และเราได้ใส่ประมาณการเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามาอยู่ในประมาณการครั้งนี้ด้วย ซึ่งเราคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะพีคในช่วงไตรมาส 3 และค่อยๆทยอยปรับลดลงในช่วงไตรมาส 4 และไตรมาส 1 ปีหน้า ก่อนปรับเข้ากรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีหน้า เช่นเดียวกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีการปรับขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน” นายสักกะภพ กล่าว
นายสักกะภพ กล่าวด้วยว่า มีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ หากราคาน้ำมันดิบสูงกว่าที่ประมาณการไว้ และการส่งผ่านต้นทุน โดยเฉพาะหากในช่วงครึ่งปีหลังมีแรงกดดันด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มากขึ้น ก็มีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่สูงและนานกว่าที่ ธปท.คาดไว้ได้
ด้าน นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือน พ.ค.2565 ที่ขยายตัว 7% นั้น พบว่ามีสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นผิดปกติมีสัดส่วนมากขึ้น และมีการส่งผลต้นทุนไปยังสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเงินเฟ้อพื้นฐาน เช่น อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน เครื่องประกอบอาหาร เป็นต้น ขณะที่การส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ ธปท. ต้องติดตามต่อไป
“จากการที่เราได้สำรวจธุรกิจต่างๆ แม้ว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะสั้นหรือ 1 ปีข้างหน้า จะสูงขึ้น แต่สิ่งที่มีนัยยะต่อนโยบายการเงิน คือ เงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางหรือ 5 ปี และระยะยาว 10 ปี ซึ่งผลสำรวจพบว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะกลางและระยะยาว ยังอยู่ที่ประมาณกึ่งกลางของเงินเฟ้อเป้าหมายของเราที่กำหนดไว้ที่ 1-3% โดยเคลื่อนไหวอยู่ที่ 2.1-2.3% ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่น่าตกใจนัก” นายสุรัช กล่าว
นายสุรัช ระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังคงเน้นไปที่การสร้างมั่นใจให้กับสาธารชนว่า นโยบายการเงินจะดูแลเรื่องเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนเข้าใจว่าเงินเฟ้อจะขึ้นไปเรื่อยๆ
“นโยบายการเงินจำเป็นต้องถอนคันเร่ง จากแนวโน้มความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ลดลง ในขณะที่มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นในระยะข้างหน้า” นายสุรัช กล่าว
นายสุรัช ยังกล่าวว่า แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนค่าลง 5% แต่จริงๆแล้วการอ่อนของค่าเงินบาทดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยค่าเงินบาทอยู่ระดับกลางๆ คือ ต่ำกว่าอินโดนีเซีย และสูงกว่ามาเลเซีย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนค่าลง เป็นผลจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
“การที่เราพยายามถอนคันเร่ง และดูแลเงินเฟ้อ เหล่านี้จะส่วนช่วยให้ความผันผวนของเงินบาทไม่ได้สูงขึ้นในระยะต่อไป” นายสุรัช กล่าว และว่า “กนง.เห็นพ้องกันว่าความจำเป็นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษในบริบทปัจจุบันมีความจำเป็นลดลง เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ และเงินเฟ้อสูงขึ้นชัดเจน ดังนั้น นโยบายการเงินจะทยอยปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และสอดคล้องกับแนวโน้มความเสี่ยงเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป”