‘ธปท.’ ระบุเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย. ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่การขาดดุล 'บัญชีเดินสะพัด’ พุ่งแตะ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดนับแต่เดือน พ.ค.2556 พร้อมมองแนวโน้มเศรษฐกิจ พ.ค. ดีขึ้นต่อเนื่อง
................................
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน เม.ย.2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.2565 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นจากการใช้จ่ายในหมวดบริการ สอดคล้องกับความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ Omicron ที่ลดลง ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามหมวดก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มเติม นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังขยายตัวได้
อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน และการทยอยเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2565 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุล จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามการส่งออกทองคำที่ลดลงเป็นสำคัญ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้น
“เศรษฐกิจเดือนเม.ย.ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเกือบทุกองค์ประกอบ มีเพียงรายจ่ายภาครัฐที่ปรับลดลง การผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันจากขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ส่วนตลาดแรงงานปรับดีขึ้น แต่ยังเปราะบางอยู่ และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว” น.ส.ชญาวดี ระบุ
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.2565 ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น จากความกังวลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่ค่อยๆปรับลดลง และการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตาม ได้แก่ การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้า ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าว่าจะกลับมาได้มากน้อยเพียงใด และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาสู่แนวทางที่ ธปท.มองไว้ ส่วนปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ นั้น ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่หากมองในแง่ประวัติศาสตร์จะพบว่าเรื่องการเมืองไม่ได้ส่งกระทบมากนัก ส่วนการเมืองระหว่างประเทศนั้น ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์โลกคงต้องจับตา เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางในหลายอย่าง ซึ่งส่งผลต่อการมองภาพในระยะข้างหน้า
ส่วนรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย.2565 มีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายหมวดบริการและหมวดสินค้าไม่คงทน สะท้อนถึงความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron ที่น้อยลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งยังเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภคภาคเอกชน
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดก่อสร้างปรับดีขึ้น ตามยอดขายวัสดุก่อสร้างและการขออนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง ตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนในเกือบทุกสัญชาติ หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปตะวันออกปรับลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โลหะ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ยางสังเคราะห์ รวมทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ของจีน
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ หมวดยางและพลาสติกตามราคายางที่ปรับดีขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างสอดคล้องกับการก่อสร้างของภาคเอกชน รวมทั้งหมวดยานยนต์สอดคล้องกับการส่งออกในหมวดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การผลิตลดลงในบางหมวด อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ตามปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน ซึ่งถูกซ้ำเติมจากมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 อย่างเข้มงวดของจีน และหมวดอาหารและเครื่องดื่มจากการผลิตน้ำตาลที่น้อยลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงปิดหีบอ้อย
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากการนำเข้าปิโตรเลียมที่ลดลงตามการบริหารคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ และการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องระบายอากาศ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับหน่วยงานด้านการศึกษาและด้านคมนาคมทยอยเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวดีตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านโทรคมนาคมเป็นสำคัญ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเล็กน้อยตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุล 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลมากที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ค.2556 ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการส่งออกทองคำที่ลดลงเป็นสำคัญ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้นตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลงส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลง
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ ห่วง ‘บาทอ่อน’ กดดัน ‘เงินเฟ้อ’ เพิ่ม-เผยเศรษฐกิจ มี.ค.ชะลอตัวเล็กน้อย
‘บาท’ อ่อนค่ามากสุดในรอบ 5 ปี ‘ธปท.’ชี้มาจากปัจจัยภายนอก-ต่างชาติส่งกลับ‘เงินปันผล’
‘ธปท.’เผยเศรษฐกิจ ก.พ.ฟื้นต่อเนื่อง-จับตาผลกระทบ‘โอไมครอน-สินค้าแพง-แซงก์ชั่นรัสเซีย’
น้ำมัน-อาหารแพง! 'กนง.'ปรับเป้าเงินเฟ้อฯคาดพุ่งแตะ 4.9%-หั่นจีดีพีปีนี้เหลือโต 3.2%
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5% ต่อปี-มองแรงกดดัน'เงินเฟ้อด้านอุปสงค์'อยู่ในระดับต่ำ
'ธปท.'จ่อปรับคาดการณ์'เงินเฟ้อ'เกิน 1.7%-เชื่อราคา'น้ำมัน-หมู'ลด ช่วงครึ่งหลังของปี
มติเอกฉันท์! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อปี หนุนศก.ฟื้นตัว-เงินเฟ้อปี 65 สูงเกินคาด