‘ธปท.’ เผยเศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค. ดีขึ้นต่อเนื่อง เหตุส่งออกขยายตัวดี-นักท่องเที่ยวพิ่มขึ้น ขณะที่ ‘โอไมครอน’ ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือน ม.ค. ชะลอตัว ด้าน ‘ผู้ประกอบการ’ ห่วงกำลังซื้อยังอ่อนแอ-ปัญหาการขนส่ง
..............................
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือน ธ.ค.2564 ว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค.2564 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวค่อนข้างดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหา supply disruption คลี่คลายลง ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งตัวขึ้น และการใช้จ่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลง ประกอบกับดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลเพิ่มขึ้น
ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และมีแรงกระตุ้นจากภาครัฐ การส่งออกเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ของคู่ค้า ปัญหา supply disruption ที่ทยอยคลี่คลาย ทำให้การผลิตและการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากเปิดประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4/2564 จะขยายตัวมากไตรมาสที่ 3/2564
“ตัวเลขเศรษฐกิจไทยทั้งปี คงต้องรอตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 4 ถือว่าดีกว่าที่คาดอยู่บ้าง เพราะเท่าที่ดูจะเห็นว่าเครื่องชี้ออกมาค่อนข้างดี โดยเฉพาะการส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างชาติ” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค.2565 พบว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงบ้าง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ และยังคงต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อ ปัญหาการผลิต และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนจะมีการปรับมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปี 2565 อันเนื่องจากผลกระทบโควิดสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ นั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สัปดาห์หน้า จะมีการหารือในเรื่องนี้ด้วย
“กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.2565 ชะลอตัวลงไปบ้าง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฤดูกาล เพราะเดือน ธ.ค.เป็นช่วงที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเยอะ แต่ก็มีเรื่องของโอไมครอน ซึ่งทำให้คนรู้สึกว่าไม่สบายใจและอยู่บ้านมากขึ้น” น.ส.ชญาวดี กล่าว
น.ส.ชญาวดี ยังระบุว่า ข้อมูลจากการสำรวจผู้ประกอบการ ระหว่างวันที่ 1-21 ม.ค.2565 ของ ธปท. พบว่า กิจกรรมในภาคบริการและภาคการค้าลดลงจากเดือนก่อน ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร การขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ลดลงนั้น ผู้ผลิตระบุว่า เป็นเพราะกำลังซื้อที่ฟื้นตัวได้ช้า ผลของมาตรการภาครัฐหมดลง และราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนกิจกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้างทรงตัว
สำหรับอุปสรรคหรือความกังวลที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิมได้ นั้น ผู้ประกอบการ 52.4% ระบุว่า เป็นเพราะกำลังซื้ออ่อนแอ รองลงมา 42.3% เป็นเพราะปัญหาการขนส่ง ขณะที่ 33.3% ระบุว่า เป็นเพราะการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ และ 301% ระบุว่า เป็นเพราะคู่ค้าปิดโรงงาน
ทั้งนี้ รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ธ.ค.2564 มี ดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเพราะได้รับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และปัญหาการขนส่งคลี่คลายทำให้มีการผลิตและเร่งส่งออกตามคำสั่งซื้อที่คงค้างในช่วงก่อนหน้า
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเร่งขึ้นมากจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยุโรป อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมยังไม่มาก เนื่องจากหลายประเทศยังคงมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการ เป็นผลจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวต่อเนื่อง
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ปรับดีขึ้น
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเคมีภัณฑ์ตามอุปสงค์ในประเทศที่สูงขึ้น และหมวดยานยนต์ที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คลี่คลายลงจากการที่ได้รับจัดสรรจากผู้ผลิตในต่างประเทศ
มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงที่มีการเร่งนำเข้าในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ขณะที่การนำเข้าหมวดสำคัญอื่นๆ ทั้งวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวหลังจากเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไปแล้วในช่วงต้นปีงบประมาณ 2565
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากราคาพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง จากแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประกอบกับมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ในประเทศ
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว และปัญหา supply disruption ที่ทยอยคลี่คลายลง ซึ่งมีส่วนทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังคงเปราะบาง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าไตรมาสก่อน
อ่านประกอบ :
‘น้ำมันแพง’ ซ้ำเติมเศรษฐกิจ จับตาราคาพุ่ง 100 ดอลล์ ฉุดจีดีพีไทยเสี่ยงโตต่ำ 3%
'ผู้ว่าฯธปท.'จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง ทำเศรษฐกิจ‘สะดุด’-ห่วง'ค่าครองชีพ'พุ่ง สวนทาง'รายได้'
ส่องกระแสเศรษฐกิจ 2565 : จีดีพีฟื้นดี-คาดโต 2.8-4.5% จับตาความเสี่ยง‘โอไมครอน-เงินเฟ้อ’
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น