“…ถ้าน้ำมันวิ่งไปที่ 100 เหรียญ จะทำให้ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่งเพิ่ม และมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะวิ่งไปถึง 4% ได้ จากเดิมที่เรามองไว้ที่ 2% กว่าๆ ขณะที่น้ำมันที่ระดับ 100 เหรียญ จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่เติบโตต่ำกว่า 3% และเงินที่รั่วออกไป ก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวของเศรษฐกิจไทย…”
....................................
เป็นสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อ 'เศรษฐกิจไทย' อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (U.S. West Texas Intermediate futures) งวดส่งมอบเดือน ก.พ. พุ่งสูงขึ้นแตะระดับ 85.43 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 หรือนับตั้งแต่เดือน ต.ค.2557 ในการซื้อขายเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบเบรนท์ (International benchmark Brent crude futures) งวดส่งมอบเดือน มี.ค. พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเช่นกัน โดยมีราคาอยู่ที่ 87.51 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เช่นเดียวกับ ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai Crude Oil) ที่ราคาเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 86.66 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
นักวิเคราะห์ด้านพลังงาน ระบุว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลมาจากสัญญาณความตึงตัวในตลาดน้ำมัน และความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการรุกรานของรัสเซียในยูเครน รวมถึงภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากสภาวะความมั่นคงในตะวันออกกลางที่แย่ลงอีก เป็นปัจจัยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน อีกทั้งกระตุ้นให้บางคนคาดการณ์ว่า (ราคาน้ำมัน) จะกลับมาเป็นตัวเลข 3 หลัก
@‘โกลด์แมนแซคส์’ คาดน้ำมันดิบแตะ 100 ดอลล์ปลายปีนี้
ขณะที่ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) วานิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐ ออกบทวิเคราะห์ล่าสุด โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อาจพุ่งขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงปลายปี 2565 จากอุปทานน้ำมันดิบที่อยู่ในภาวะตึงตัว และโควิดสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ส่งผลกระทบต่อความต้องการน้อยกว่าที่คาดไว้มาก
โกลด์แมน แซคส์ ยังคาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบในกลุ่มประเทศ OECD จะปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2000 ในช่วงฤดูร้อน ในขณะที่กำลังผลิตสำรองของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตร หรือ OPEC+ จะลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
โดยประเมินว่า กำลังผลิตของ OPEC+ ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเพียง 2.5 ล้านบาร์เรล/วัน จากการชะงักงันในการเพิ่มกำลังผลิตของ OPEC การผลิตที่น่าผิดหวังในบราซิลและนอร์เวย์ รวมถึงรัสเซียที่กำลังดิ้นรนในการเพิ่มกำลังผลิต สวนทางกับความต้องการน้ำมันในตลาดโลกที่จะเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในปีนี้
“ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ 90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในไตรมาสแรกของปี 2565 , 95 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในช่วงสองไตรมาสสุดท้ายของปีนี้” โกลด์แมน แซคส์ ระบุ
ด้าน หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และรัสเซีย ส่งผลกดดันการผลิตน้ำมันดิบ ทำให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับ ความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัว เนื่องจากหลายประเทศสมาชิกกลุ่ม OPEC+ เช่น คองโก ไนจีเรีย ลิเบีย และอิหร่าน ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงได้ เพราะติดข้อจำกัดกำลังการผลิตสูงสุด และความไม่สงบในประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ระดับราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูง ทำให้จีนมีแผนที่จะระบายน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์ในช่วงวันที่ 31 ม.ค. ถึง 6 ก.พ. 2565 เพื่อลดความร้อนแรงของราคาน้ำมันดิบ
@มองน้ำมันดิบมีโอกาสเพิ่มเป็น 100 ดอลล์ ไตรมาส 1
“ผมเห็นต่างจากโกลด์แมน แซคส์ โดยผมเห็นว่าราคาน้ำมันดิบจะไปแตะที่ระดับ 100 เหรียญ ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ เร็วกว่าของโกลด์แมน แซคส์ ที่คาดว่าราคาน้ำมันจะไปถึง 100 เหรียญ ในช่วงปลายปี” อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
อมรเทพ อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มจาก 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ นั้น เนื่องจากเป็นภาวะปกติที่ราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปี เพราะเป็นช่วงฤดูหนาว รวมถึงความขัดแย้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
“ปัญหาการเมืองในฝั่งตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่ฝั่งกบฏที่ยึดพื้นที่ได้มากขึ้น หรือเรื่องรัสเซียกับยูเครนที่น่าจะระอุ และส่งผลกระทบต่อการส่งก๊าซไปยุโรป ซึ่งจะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันในช่วงไตรมาส 1 เพราะปัญหาเหล่านี้ ทำให้มีข้อจำกัดในการผลิตน้ำมัน” อมรเทพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อมรเทพ ระบุว่า หลังผ่านพ้นไตรมาส 1 ไปแล้ว ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลดลง เพราะประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะ OPEC จะมีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่าหากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลากยาวออกไป จะสร้างแจงจูงใจให้สหรัฐกลับมาผลิตเซลล์ออยเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีกับ OPECและรัสเซีย
“ถ้าราคาน้ำมันจะไปถึง 100 เหรียญ ถ้าจะเกิด ก็จะเป็นในช่วงไตรมาส 1 และเกิดในช่วงสั้นๆ เพราะเราเชื่อว่า หากเกิดแพนิค (ตื่นตระหนก) ที่ทำให้น้ำมันดิบวิ่งขึ้นไปเหนือ 100 เหรียญ ฝั่งโอเปกจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น และผมเชื่อว่าโอเปกจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ แต่คงไม่ทำให้น้ำมันดิบลดจาก 100 เหรียญ ลงมาเหลือ 60 เหรียญแน่” อมรเทพ ย้ำ
(อมรเทพ จาวะลา)
@จับตาราคา ‘น้ำมันแพง’ กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
ส่วนผลกระทบของราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นั้น อมรเทพ ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน จากปัจจุบันที่ประเทศเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อจากสินค้าราคาแพงอยู่แล้ว โดยเฉพาะฝั่งอาหาร เช่น หมู ไก่ และอาหารที่ทานนอกบ้าน ที่มีราคาแพงขึ้น
“ถ้าน้ำมันวิ่งไปที่ 100 เหรียญ จะทำให้ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่งเพิ่ม และมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะวิ่งไปถึง 4% ได้ จากเดิมที่เรามองไว้ที่ 2% กว่าๆ ขณะที่น้ำมันที่ระดับ 100 เหรียญ จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่เติบโตต่ำกว่า 3% และเงินที่รั่วออกไป ก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวของเศรษฐกิจไทย” อมรเทพ กล่าว (อ่านประกอบ : ส่องกระแสเศรษฐกิจ 2565 : จีดีพีฟื้นดี-คาดโต 2.8-4.5% จับตาความเสี่ยง‘โอไมครอน-เงินเฟ้อ’)
อมรเทพ ระบุว่า แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะมีมาตรการตรึงระดับราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2565 แต่ภาคการผลิตยังคงมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และคงต้องติดตามว่ารัฐบาลจะตรึงระดับราคาน้ำมันได้นานเพียงใด เพราะยิ่งมีการตรึงราคาน้ำมันนานเท่าใด กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะขาดทุนมากขึ้น
“เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องไปดูว่า การอุดหนุนราคาน้ำมัน โดยวิธีการตรึงราคาเป็นการทั่วไป จะคุ้มค่าหรือเปล่า หรือจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แล้วรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือเฉพาะจุด เช่น การเข้าไปดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆอย่างผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น” อมรเทพ เสนอ
@รัฐยันพร้อมดูแล ‘ราคาพลังงาน’ ลดผลกระทบประชาชน
ด้าน สมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุว่า แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติให้ตรึงระดับราคาน้ำมันดีเซล (B7) ไว้ที่เกิน 30 บาท/ลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้ที่ 318 บาท/ถังขนาด 15 กก. ไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2565
“แม้ว่ากองทุนน้ำมันฯจะติดลบ 8,700 ล้านบาท แต่เมื่อเราได้เงินกู้มาอีก 20,000 ล้านบาท กองทุนฯจะมีสภาพคล่องเกือบ 1.2 หมื่นบาท สำหรับใช้ตรึงราคาดีเซลและก๊าซ LPG อย่างไรก็ตาม เราคงต้องติดตามใกล้ชิดกันเดือนต่อเดือน แต่ด้วยเรตน้ำมันที่อยู่ในระดับนี้ เราเชื่อว่าจะเพียงพอที่ตรึงราคาได้จนถึงเดือน มี.ค.2565” สมภพ กล่าว
สมภพ ระบุว่า หลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG ในวันที่ 31 มี.ค.2565 แล้ว หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง กระทรวงพลังงาน และ กบง. พร้อมใช้ ‘เครื่องมือทางนโยบาย’ ในการลดผลกระทบให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น
“ก่อนจะถึงเดือน มี.ค. กบง.จะพิจารณากันอีกครั้งว่า จะใช้นโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตรหรือไม่ โดยจะต้องดูเครื่องมือที่อยู่และปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย” สมภพ ย้ำ
(สมภพ พัฒนอริยางกูล)
@สอบ.เสนอรัฐทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมัน-ลดภาษีสรรพสามิต
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เสนอให้ภาครัฐทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมันและ LPG ที่ผลิตในประเทศ แต่กลับไปอิงราคาตลาดโลก และบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ซึ่งเป็นต้นทุนเทียม รวมทั้งเสนอให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพของประชาชน
“ปัจจุบันราคาน้ำมันในประเทศอยู่ที่ 30-40 บาท/ลิตร ส่วนดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของภาคขนส่งนั้น แม้รัฐบาลจะตรึงราคาให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่ราคายังสูงกว่าเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา อินโดนีเซีย และเวียดนาม ราว 2-4 บาท/ลิตร และแพงกว่าประเทศมาเลเซียถึง 13 บาท/ลิตร ต้นทุนภาคขนส่งของไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
ขณะที่สาเหตุของน้ำมันแพงว่า มาจากการกำหนดโครงสร้างราคาของรัฐที่ให้อิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์แล้วยังให้บวกค่าขนส่งเสมือนนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ ทั้งที่จริงๆ แล้วประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปใช้ในประเทศได้พอเพียง จนปัจจุบันยังถึงขั้นเหลือพอส่งออกด้วย” อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สอบ. ระบุ
ขณะที่ รสนา โตสิตระกูล ในฐานะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สอบ. กล่าวว่า นอกจากโครงสร้างราคาน้ำมันเทียมที่ทำให้ราคาน้ำมันของไทยแพง แล้ว การเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันของรัฐบาลในอัตราที่สูง ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศมีราคาสูง
ทั้งนี้ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา รัฐมีรายได้จากการจัดภาษีสรรพสามิตน้ำมันสูงกว่า 2 แสนล้านบาท/ปี และรัฐบาลไม่ได้นำภาษีที่เก็บได้ไปอุดหนุนหรือพัฒนาบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะแต่อย่างใด
“รัฐบาลไม่ยอมลดราคาภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง แต่กลับใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาพยุงราคาแทน ส่งผลให้ต้องกู้เงินเพิ่ม 2-3 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้พยุงราคาน้ำมัน และอาจกลายเป็นการกู้เงินต่อเนื่องที่ไม่จบสิ้น” รสนา กล่าว
(รสนา โตสิตระกูล (กลาง) และ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา (ซ้าย) ร่วมทำเสนอข้อมูลในเวที 'ราคาน้ำมันพุ่ง ก๊าซหุงต้มแพง วิกฤตมหากาพย์ผู้บริโภค' เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2565)
รสนา เสนอว่า เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลง รัฐบาลควรปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง โดยไม่ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯที่มีสถานะติดลบไปแล้วมาอุดหนุนราคา และกำหนดราคาน้ำมันที่โรงกลั่นตามต้นทุนที่แท้จริงโดยต้องไม่มีค่าขนส่ง ซึ่งค่าใช้จ่ายเทียมเสมือนว่ามีการนำเข้าจากน้ำมันจากศสิงคโปร์
จึงต้องติดตามว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น และราคาอาจไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล นั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีมาตรการในการดูแลค่าครองชีพของประชาชน พร้อมๆกับการดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไร?
อ่านประกอบ :
'ผู้ว่าฯธปท.'จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง ทำเศรษฐกิจ‘สะดุด’-ห่วง'ค่าครองชีพ'พุ่ง สวนทาง'รายได้'
ส่องกระแสเศรษฐกิจ 2565 : จีดีพีฟื้นดี-คาดโต 2.8-4.5% จับตาความเสี่ยง‘โอไมครอน-เงินเฟ้อ’
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%