‘เศรษฐพุฒิ’ จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง ทำเศรษฐกิจไทยปี 65 สะดุด คาด ‘โอไมครอน’ จบครึ่งปีแรก จีดีพีโต 3.4% ยัน ‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบไทย พร้อมระบุอัตราเงินเฟ้อไทย 'ไม่น่าห่วง' แต่รับ 'ค่าครองชีพ' ปรับเพิ่มขึ้น สวนทาง 'รายได้'
................................
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน ‘Meet the Press’ โดยระบุตอนหนึ่งว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ค่อนข้างเปราะบาง ฟื้นตัวไม่ค่อยเร็ว และฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน หรือฟื้นตัวแบบ K-shape เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก และเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเทียบเท่ากับระดับก่อนโควิดในแง่ตัวเลขจีดีพีคงไม่ได้เห็นในปีนี้ แต่จะเป็นไตรมาส 1 ปี 2566
“ถ้าถามคนทั่วไปปีไตรมาส 1/2566 เขารู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นกลับมาหรือยัง คำตอบ คือ ไม่ใช่ หรือ ยัง เนื่องจากรายได้และการจ้างงานของคนยังไม่กลับไปเหมือนก่อนโควิด เพราะแม้ว่าเซ็กเตอร์ที่อิงกับการส่งออกฟื้นจะกลับมาได้ดี แต่ในทางกลับกันเซ็กเตอร์ที่อิงกับภาคบริการ โดยเฉพาะท่องเที่ยวต่างๆยังไม่ฟื้นตัว ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบ K-shape ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.และนักวิเคราะห์ได้พูดออกมาในแนวนี้แล้ว” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ภายใต้บริบทดังกล่าว มีโจทย์สำคัญหรือนโยบายที่ ธปท. ต้องเตรียมการรับมือ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด ซึ่งเมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงหรือมีโอกาสสะดุดจาก 4 เรื่อง และธปท.ได้เตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวไว้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะไม่สะดุด ประกอบด้วย
@คาดโอไมครอนจบครึ่งแรกปี 65-พร้อมรับมือหากยืดเยื้อ
เรื่องแรก เรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ธปท.ประเมินว่าจะ ‘มาเร็วและไปเร็ว’ ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบในต่างประเทศ และหากโอไมครอนมาเร็วและไปเร็ว โดยคาดว่าจบในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 โอกาสที่เศรษฐกิจสะดุด จะมีไม่มาก เพราะภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามา 5.6 ล้านนั้น ธปท.ประเมินว่านักท่องเที่ยวจะค่อยๆฟื้น และเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
“แต่ถ้าโอไมครอน ไม่มาเร็วไปเร็ว และยืดเยื้อไปกระทบครึ่งหลังของปี หรือถ้ามันมีลูก มีหลาน และตัวนี้มาในช่วงหลังของปี จะทำให้การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวเป็นเรื่องยาก เพราะการท่องเที่ยวไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราอย่างเดียว เช่นว่า เราเปิด แต่เขามาแล้วต้องกลับไปกักตัว คนก็ไม่อยากมา และตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เราคาดไว้ ไม่อิงกับจีน เราไม่คิดว่าจีนจะเปิดประเทศ แต่เป็นประเทศอื่นๆที่เราคาดว่าจะมา แต่ถ้าไม่มา จะทำให้มีโอกาสสะดุด” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้เตรียมมาตรการและเครื่องมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่โควิดอาจจะยืดเยื้อไว้แล้ว เช่น การทำให้ระบบสถาบันการเงินทำงานได้ใกล้เคียงกับปกติที่สุด และไม่ทำให้เกิดการตึงตัวของสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าอัตราการเติบโตสินเชื่อของไทยในภาพรวมถือว่าดี โดยสินเชื่อขยายตัว 4-5% ในขณะที่เศรษฐกิจปี 2563 ที่หดตัว 6% และปี 2564 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตไม่ถึง 1% และการขยายตัวของสินเชื่อของไทยดีกว่าเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย
นอกจากนี้ ธปท.มีสินเชื่อฟื้นฟูฯที่สนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อย โดยล่าสุดอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 1.43 แสนล้านบาท ยังเหลือวงเงินอีก 1.1 แสนล้านบาท และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ที่อนุมัติสินเชื่อแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังเหลือวงเงินจำนวนหนึ่ง อีกทั้ง ธปท.ได้มีมาตรการดูแลภาระหนี้เดิม เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 และมาตรการรวมหนี้ (debt consolidation)
@มอง ‘เงินเฟ้อไทย’ ปีนี้ อยู่ในกรอบ 1.7% แต่ไม่ชะล่าใจ
เรื่องที่สอง เรื่องเงินเฟ้อ โดยขณะนี้อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นการเพิ่มขึ้นในบริบทที่ค่าแรงไม่ค่อยขึ้น คือ ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากถามว่าเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้นในระดับที่น่ากลัวหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะอัตราเงินเฟ้อของไทยไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเหมือนกันในต่างประเทศ โดยปีนี้ ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ 1.7% และปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.4% ดังนั้น ในแง่เสถียรภาพราคายังดีอยู่
“ราคาสินค้าที่ขึ้น ไม่ได้ขึ้นในวงกว้าง แต่ขึ้นเป็นจุดๆ เช่น พลังงาน หมู และจำนวนสินค้าที่อยู่ในตะกร้าฯที่ขึ้นราคา ก็ไม่ได้แพร่กระจายขนาดนั้น ส่วนการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อระลอก 2 ตอนนี้ของไทยเรายังไม่เห็น ต่างจากเมืองนอกที่เริ่มเห็นผลกระทบจากเงินเฟ้อระลอก 2 แล้ว โดยค่าจ้าง ค่าแรงเริ่มขึ้น ซึ่งจะไปเพิ่มต้นทุนสินค้า แต่ในไทยเรายังไม่เห็นเงินเฟ้อระลอก 2 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากภาพเศรษฐกิจไทยที่ค่าแรงไม่ค่อยขึ้น เพราะท่องเที่ยวหายไป” นายเศรษฐพุฒิระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะสะดุดจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นน่าจะมีไม่มาก แต่ ธปท.ไม่ได้ชะล่าใจ และหากเริ่มมีสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในวงกว้าง จนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาและมีโอกาสที่จะหลุดจากกรอบเงินเฟ้อที่ระดับ 3% แล้ว ธปท.ก็มีนโยบายที่จะรองรับในส่วนนี้
@เตรียมประกาศมาตรการ ‘แบงก์’ ร่วมทุน ‘AMC’ จัดการหนี้ NPLs
เรื่องที่สาม การเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย (NPLs) โดยในปีนี้ NPLs จะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่จะค่อยๆเพิ่ม และไม่ได้พุ่งสูงขึ้นจนกระทั่งทำให้เศรษฐกิจสะดุด ขณะที่ ธปท.มีมาตรการรองรับ เช่น การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะกับความสามารถของลูกหนี้ตามมาตรการ 3 ก.ย.2564 ซึ่ง ธปท.ได้หารือกับธนาคารต่างๆเป็นรายธนาคารว่า แต่ละธนาคารจะมีเป้าหมายในปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้ลูกหนี้ที่เป็นรูปธรรมอย่างไร และติดตามผลที่เกิดขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ภายในเดือน ม.ค.นี้ ธปท.จะออกหลักเกณฑ์ภายใต้มาตรการที่เรียกว่า Joint Venture AMC โดยจะสนับสนุนให้ธนาคารร่วมทุนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในการบริหารจัดการลูกหนี้ที่เป็น NPLs ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาดังกล่าวได้รับการดูแล
“สิ่งที่เรากังวล คือ ถ้า NPLs เพิ่มขึ้น มันจะทำให้สะดุดหรือเปล่า แต่เรามั่นใจว่ามันไม่สะดุด เพราะแม้ว่าตัวเลขอะไรจะขึ้นก็ตาม แต่ทุนของแบงก์เข้มแข็ง และมีความสามารถในการรองรับเรื่องพวกนี้ได้ และมาตรการที่เราทำมาโดยตลอดในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการเงินก็เพื่อรองรับตรงนี้ ทำให้เรามั่นใจว่า ถึงแม้ NPLs จะขึ้น แต่โอกาสที่ทำให้ระบบสะดุดมีน้อยมากๆ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
(เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)
@‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ยกระทบตลาดเงิน แต่เศรษฐกิจไทยไม่สะดุด
เรื่องที่สี่ เรื่องสถานการณ์โลก ซึ่งมี 2 ประเด็น ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินของไทย
ประเด็นแรก คือ การที่ธนาคารกลางใหญ่ๆทั่วโลก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็ว เพราะมีปัญหาเงินเฟ้อ จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย ให้สะดุดลงหรือไม่ นั้น ตนเห็นว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมีน้อยมาก เพราะแม้ว่าธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อตลาดการเงิน แต่จะไม่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หรือส่งผลค่อนข้างน้อย
“ถ้าเราดู ประเทศที่จะถูกกระทบจากตรงนี้ค่อนข้างเยอะ จะเป็นประเทศที่มีความเปราะบางในเรื่องสถานะด้านต่างประเทศ เช่น หนี้ต่างประเทศเยอะ เงินทุนสำรองฯน้อย ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะ เหมือนกับไทยตอนปี 2540 พวกนี้จะโดนหนัก เพราะเมื่อดอกเบี้ยขึ้น เงินจะไหลออก ค่าเงินอ่อน และภาระหนี้ต่างประเทศจะสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาเหมือนกับที่ประเทศไทยเจอเมื่อปี 2560
แต่หน้าตาเราตอนนี้ต่างกับเมื่อปี 2540 ตอนนี้เราหล่อมาก เราเข้มแข็ง อันแรกเลย เราไม่ได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพิ่งมาขาดดุลฯเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราว เพราะการท่องเที่ยวหายไป แต่ไม่เหมือนกับเมื่อปี 2540 ที่เรามีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง เนื่องจากเราออมน้อย ลงทุนเยอะ อันที่สอง หนี้ต่างประเทศเราน้อย อันที่สามทุน สำรองฯเรามีเยอะ ถ้าเจ้าหนี้ต่างประเทศเรียกหนี้คืน เราก็พร้อมจ่าย
สี่ ความเปราะบางของตลาดการเงินไทยต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลกมีค่อนข้างน้อย เห็นได้จากอัตราการถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติที่มีน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ถ้าเขาถอนตัวไป การปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะไม่ดีดแรงเท่ากับที่อื่น อีกทั้งผลที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดก็มีน้อย เพราะเอกชนเราพึ่งพาตลาดบอนด์ในการระดมทุนเพียง 10% และใน 10% นี้ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่
ส่วนอีก 90% จะมาจากสินเชื่อแบงก์ และถ้าไปดูแหล่งเงินของแบงก์ พบว่าเงินจำนวนมหาศาล หรือ 90% ของแบงก์ มาจากฐานเงินฝาก ไม่ได้มาจากการระดมทุนผ่านตลาดบอนด์ ต่างจากแบงก์เกาหลีใต้ที่พึ่งพาเงินทุนจากตลาดบอนด์ เมื่อบอนด์ยีลด์ขึ้น เขาจึงต้องส่งผ่านดอกเบี้ยเงินกู้ไปให้ลูกค้า แต่บ้านเราไม่ใช่ ดังนั้น ถ้าบวกเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างไทยสะดุดนั้น ผมคิดว่าต่ำมาก” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
ประเด็นที่สอง เศรษฐกิจจีน ที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนโตด้วยหนี้ และเป็นหนี้ที่อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นจุดเปราะบางที่สร้างปัญหาให้กับทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2540 และเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2551 โดยข่าวเกี่ยวกับหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ของจีน สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจจีนพอสมควร จึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว
“ถามว่าเศรษฐกิจจีนจะทำให้เราสะดุดหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่ ถามว่าทำไม ก็เป็นเพราะว่า ที่ผ่านมาการส่งผ่านของเศรษฐกิจจีนที่มีนัยยะต่อประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยมีน้อยลง เพราะเดิมทีการเติบโตของจีน เป็นการนำเข้าเพื่อผลิตและส่งออก แต่ตอนนี้เขาเริ่มเปลี่ยนไปเติบโตภายในประเทศค่อนข้างเยอะ ความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจกับประเทศเราน้อยลง แต่ที่เชื่อมโยงกับจีนเยอะก็มี คือ ฝั่งท่องเที่ยว แต่ตอนนี้เขาก็ไม่คนเขามาอยู่แล้ว” นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า แม้ว่าธปท.จะมีมาตรการเพื่อรับมือไม่ให้เศรษฐกิจไทยสะดุดจากปัจจัยเสี่ยงทั้ง 4 เรื่อง แต่หัวใจ คือ การบริหารจัดการเพื่อทำให้มาตรการที่ออกมาเกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะถ้ามีมาตรการแล้ว แต่ไม่มีการบริหารจัดการให้เกิดผลในทางปฏิบัติก็เท่านั้น และมั่นใจว่ามาตรการที่ออกมานั้น เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ความเสี่ยงจะที่เกิดขึ้นในระยะข้างหน้า แต่ก็พร้อมปรับมาตรการให้มียืดหยุ่น และไม่ยึดติด หากมาตรการใดไม่ได้ผลก็ปรับ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับโจทย์หรือนโยบายสำคัญที่ ธปท. จะดำเนินการในระยะถัดไป โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ได้แก่ 1.การปรับสู่เข้าสู่ดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย 3 Open คือ open competition การเปิดการแข่งขัน โดยเฉพาะเพิ่มผู้เล่นรายใหม่ , Open data การเปิดข้อมูลให้ใช้ในวงกว้าง และ Open Infra การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน 2.การสร้างความยั่งยืน (sustainability) เช่น การลดคาร์บอน และ 3.การทำให้สถาบันการเงินมีความยืดหยุ่นในการปรับตัว
@ชี้หาก ‘โควิด’ โผล่ครึ่งหลังของปี กระทบ ‘ท่องเที่ยว-บริโภค’ หนัก
เมื่อถามว่า การประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 2565 ที่ ธปท.คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% นั้น ได้รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดโอไมครอนแล้วหรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า โอไมครอนจะไปเร็ว มาเร็ว จึงไม่มีผลกระทบไม่มากนัก และก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 จาก 3.9% เหลือ 3.4% โดยได้รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโอไมครอนแล้ว พร้อมย้ำว่าการแพร่ระบาดของโอไมครอนจะจบในช่วงครึ่งปีแรก
“โอไมครอนกระจายเร็ว แต่ไม่แรง อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย คือ มีอีกระลอกหนึ่ง หรือกระจายเร็วและมีผลหนัก หรือมีการกลายพันธุ์แบบอื่นๆ แล้วไปโผล่ช่วงหลังของปี อันนั้นจะหนักที่สุด คือ ท่องเที่ยวไม่มา การบริโภคชะงัก แต่ด้วยมาตรการที่เรามี เราเชื่อว่ามีพอที่จะรองรับพวกนี้ ไม่ให้การฟื้นตัวสะดุด ซึ่งไม่ใช่ (จีดีพี) จะไม่ลด เพียงแต่จะไม่เติบโตตามที่ได้เคยคาดการณ์ไว้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า ธปท.กังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นหรือไม่ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า หากพิจารณาเงินเฟ้อในแง่เสถียรภาพราคาในระดับมหภาคแล้ว ธปท.มองว่า ยังไม่ใช่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง โดย ธปท.คาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.7% ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ 1.4% ในปี 2566 ขณะที่สัญญาณที่บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นจนหลุดกรอบ 3% ยังไม่เห็น แต่สิ่งที่กังวลมากกว่า คือ ค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่ขึ้น
“ตลาดแรงงานเป็นอย่างนี้ คงไม่ใช่จังหวะที่จะไปเน้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะจะทำให้การจ้างงานถูกกระทบ เช่นตอนนี้มีผู้ว่างงาน 7 แสนคน แต่ถ้าลงไปดูอาจไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะแม้ว่าคนจะมีงานทำ แต่ชั่วโมงที่ทำงานน้อย ทำให้ตัวเลขผู้เสมือนว่างงานค่อนข้างเยอะ คือ ประมาณ 2 ล้านคน ถ้ารวมผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานน่าจะอยู่ที่ 3 ล้านคน เมื่อตลาดแรงงานยังเปราะบาง การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำคงไม่กับตลาดที่อ่อนแอในขณะนี้ จึงต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชี้ว่าจะเกิด stagflation คือ เงินเฟ้อขึ้น แต่เศรษฐกิจไม่โต ในประเทศไทย เนื่องจากเงินเฟ้อของไทยไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวอยู่ และการที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ระดับ 3% กลางๆ ก็ไม่ใช่ระดับที่เลวร้ายอะไร อีกทั้งโดยส่วนตัวแล้ว ตนก็ไม่คิดว่าในอนาคตไทยจะเกิด stagflation แต่อย่างใด
เมื่อถามว่า ท่าทีของ ธปท. ต่อสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นอย่างไร นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ธปท.ไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ เพราะมีความผัวผวนสูง มีความเสี่ยงมาก และหากปล่อยให้ใช้แพร่หลายจะทำให้ระบบชำระเงินขาดความเป็นเอกภาพ แต่ไม่ได้ขัดข้องอะไร หากจะให้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน และเรื่องนี้มีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ธปท.ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ถือสินทรัพย์ดิจิทัล ส่วนกรณีที่บริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์นั้น หากจะมีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องขออนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณีไป เว้นแต่ว่าบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ จะมีหน่วยงานกำกับดูแลอื่น เช่น ก.ล.ต. หรือ คปภ. กำกับดูแลอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องมาขออนุญาตจาก ธปท.
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างชาติ ว่า ยังไม่เห็นอะไรที่ผิดปกติ โดยปีที่แล้วทั้งปี แม้เงินจะไหลออกจาก Equity (ตลาดตราสารทุน) แต่เงินทุนยังคงเข้าตลาดบอนด์ ขณะที่ ธปท.อยากเห็นคนไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อช่วยลดกระแสเงินจากจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.เพิ่มช่องทางที่ทำให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น
อ่านประกอบ :
ส่องกระแสเศรษฐกิจ 2565 : จีดีพีฟื้นดี-คาดโต 2.8-4.5% จับตาความเสี่ยง‘โอไมครอน-เงินเฟ้อ’
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%