“…แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอกหนึ่ง จากสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ โดยจะเป็น wave ที่มีลักษณะ ‘สั้นแต่แรง’ คือ เชื้อแพร่กระจายเร็ว แต่ไม่รุนแรงมากนัก และน่าจะจบภายในช่วง 2-3 เดือน…”
............................
การก้าวย่างเข้าสู่ปี 2565
แม้ว่าประเทศไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ แต่ในแง่เศรษฐกิจแล้ว ปี 2565 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ระดับ 2.8-4.5% ก่อนกลับสู่ระดับ ‘ก่อนเกิดโควิด’ ในช่วงต้นปี 2566
เริ่มจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์' ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวที่ 3.5-4.5% เทียบกับปี 2564 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ระดับ 1.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 4.9%
การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดว่าในปี 2565 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ 4.4 แสนล้านบาท และแรงขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายของภาครัฐ ทั้งงบลงทุนประจำปี เงินจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศในช่วงต่อไปนั้น ‘น่าจะอยู่ในวงจำกัด’
“คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัว 3.5-4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับแรงส่งจากเศรษฐกิจโลกไปด้วย เศรษฐกิจสหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.3%
ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน แม้ว่าจีนจะยังไม่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวออกนอกประเทศก็ตาม” ดนุชา พิชยนันท์ เลขาฯสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขจีดีพี เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2564 (อ่านประกอบ : ‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%)
@คลังมั่นใจเศรษฐกิจโต 4%-อัดฉีดลงทุน 1 ล้านล้าน
สอดคล้องกับความเห็นของ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวประมาณ 4% เทียบกับปี 2564 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่คาดว่าจะขยาย 5-6% การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งในปี 2565 จะมีเม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท
“ตอนนี้เราอยู่ในปีงบ 65 ซึ่งจะเม็ดเงินลงทุนภาครัฐ 1 ล้านล้านบาท” อาคม กล่าว (อ่านประกอบ : ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท)
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าล่าสุด (22 ธ.ค.2564) ธปท.จะปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่าจะขยายตัวที่ 3.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.9% เนื่องจากการปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเศรษฐกิจในต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอลงก็ตาม
“เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดในช่วงต้นปี 2566 ทั้งนี้ โควิดสายพันธุ์โอไมครอน จะมีผลกระทบกระทบในช่วงครึ่งแรกของปี 2565…” ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ระบุ (อ่านประกอบ : กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด)
@ธนาคารโลกมองจีดีพี 65 ขยายตัว 3.9%-เชื่อมั่นฟื้น
ด้าน ธนาคารโลก ประเทศไทย (World Bank Thailand) เผยแพร่รายงาน ‘ตามติดเศรษฐกิจไทย อยู่กับโควิดในโลกยุคดิจิทัล’ ประจำเดือน ธ.ค.2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัว 3.9% เทียบกับปี 2564 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ 1% ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’
“คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% ในปี 2565 และเติบโต 4.3% ในปี 2566…และหากไม่มีการกลับมาระบาดของโควิด-19 อีก เศรษฐกิจจะได้แรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศ และความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเพิ่มขึ้น” ธนาคารโลก ประเทศไทย ระบุ
ทั้งนี้ ธนาคารโลก คาดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ในช่วงปลายปี 2565 โดยมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และการกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยในการสนับสนุนการฟื้นตัว
@‘กกร.-EIC-ศูนย์วิจัยกสิกรฯ’จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’
สำหรับมุมมองของภาคเอกชนนั้น คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าเศรษฐกิจปี 2565 จะขยายตัว 3-4.5% ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4-5% การส่งออกที่จะขยายตัวได้ 3-5% และการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว แต่ยังต้องจับตามองความเสี่ยงของ ‘โอไมครอน’ และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics)
ขณะที่ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ล่าสุด ‘Outlook มุมมองเศรษฐกิจปี 2022 ณ ไตรมาส 4 ปี 2021’ โดยประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2565 จะขยายที่ 3.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4% ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ พร้อมทั้งคาดว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 5.9 ล้านคน
ส่วนประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา คือ การระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ ที่คาดกันว่าจะแพร่กระจายได้มากขึ้นและอาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนลงบ้าง แต่คาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดรอบ Delta ทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากเหมือนเดิม
“แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในปี 2565 แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ทำให้มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (output loss) ในระดับสูง และอาจกระทบต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ผ่านการลงทุนและการจ้างงานที่น้อยลง” EIC ระบุ
EIC เสนอว่า ภาครัฐควรพิจารณาการใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยเน้นการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการปรับทักษะแรงงาน การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของกลุ่มธุรกิจ SME และการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเป็น New S-Curve ของไทย
เช่นเดียวกับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 จะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ เป็นสำคัญ ซึ่ง ‘กรณีดี’ วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันสามารถลดหรือจำกัดระดับความรุนแรงของอาการป่วยได้ และไทยไม่จำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 3.7%
แต่ ‘กรณีแย่’ คือ ‘โอไมครอน’ รุนแรงเทียบเท่ากับสายพันธุ์ Delta และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อความจำเป็นต้องมีการนำมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ อาทิ ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศตามระดับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ จะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัว 2.8%
สำหรับปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2565 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะมาจากแรงหนุนจากการส่งออก การฟื้นตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน และการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ (อ่านประกอบ : 'ศูนย์วิจัยกสิกรฯ'มอง GDP ปีหน้าโต 2.8-3.7% ต่างชาติเที่ยวไทย 2-4 ล.คน-เงินบาทผันผวน)
@เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น-จับตาโควิดระบาดระลอกสุดท้าย
“เราคิดว่าน่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ถึงแม้จะมีความเสี่ยงจากโอไมครอนก็ตาม และปีนี้น่าจะเป็นปีที่โรคระบาดกลายมาเป็นโรคประจำถิ่น” พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร บล.เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565
พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอกหนึ่ง จากสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ โดยจะเป็น wave ที่มีลักษณะ ‘สั้นแต่แรง’ คือ เชื้อแพร่กระจายเร็ว แต่ไม่รุนแรงมากนัก และน่าจะจบภายในช่วง 2-3 เดือน
“อย่างอังกฤษเราเห็นเลยว่า ติดวันละแสนกว่า แต่จำนวนคนเข้าโรงพยาบาลไม่เกินพีคของ ‘เดลตา’ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีมาก และพอติดเชื้อแล้ว จะทำให้คนมีภูมิคุ้มกัน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ไตรมาส 1/2565 จะเป็น wave สุดท้ายของโควิด จากนั้นเราจะเห็นการเริ่มเปิดเศรษฐกิจ และการเดินทางระหว่างประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” พิพัฒน์ ระบุ
พิพัฒน์ ระบุว่า ในปี 2565 เกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.9% ภายใต้สมมติฐานว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 5.8 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจะเข้ามามากๆในช่วงในครึ่งหลังของปี ส่วนการส่งออกแม้จะเติบโตไม่สูงเท่ากับปี 2564 แต่คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 5-6% และการลงทุนในภาพรวมน่าจะขยายตัวได้ที่ 7%
“หากมี outbreak (การระบาด) จริงๆ เศรษฐกิจในประเทศจะชะลอแค่ไหน เราจะกลับไปล็อกดาวน์หรือไม่ แล้วเราจะกลับไป Work From Home หรือเปล่า ซึ่งก็หวังว่าจะไม่รุนแรงขนาดนั้น” พิพัฒน์ กล่าว
(พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย)
@ประเมิน 3 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย-คาด‘ธปท.’ไม่ขึ้นดอกเบี้ย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 พิพัฒน์ ระบุว่า มี 3 ปัจจัย
ปัจจัยแรก การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย เพราะหากการระบาดไม่จบในไตรมาส 1/2565 และลากยาวออกไป หรือมีไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ที่โหดกว่า ‘โอไมครอน’ รับรองว่าเหนื่อยแน่
ปัจจัยที่สอง ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการแพร่ระบาดของโควิด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าวัคซีนที่จีนฉีดให้ประชาชนนั้น ส่วนใหญ่เป็น ‘ซิโนแวค’ จึงต้องติดตามว่าวัคซีนจะเอาอยู่หรือไม่ ที่สำคัญหากจีนไม่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวออกมาเลย นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยก็หายไปอีก
ปัจจัยที่สาม ความเสี่ยงนโยบายการเงินโลก โดยเฉพาะการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งวันนี้เราคาดการณ์ไว้แล้วว่า ธนาคารกลางทั่วโลกจะถอนการกระตุ้น QE Tapering และเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และสุดท้ายต้องทำ Quantitative Tightening เพื่อลดขนาด Balance sheet (งบดุล) หากเงินเฟ้อไม่ลงอย่างที่คาดไว้
“ถ้ากลางปี 2565 เงินเฟ้อไม่ลงอย่างที่คาดจริงๆ เขา (ธนาคารกลางสหรัฐ) อาจจะถอนการกระตุ้นเร็วกว่านั้น ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่านั้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ขณะที่ตลาดมองว่าปี 2565 เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง แต่เรามองว่าอาจจะเป็น 4 ครั้งก็ได้” พิพัฒน์ กล่าว
ส่วนทิศทางดอกเบี้ยในประเทศไทย พิพัฒน์ เห็นว่า ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่นๆฟื้นตัวไปตั้งแต่ปี 2564 แล้ว แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วจะเหมือนกับว่า ‘เราไปปาร์ตี้สาย แต่ดันต้องไปช่วยเขาล้างจาน” และเห็นว่าในปี 2565 ธปท.น่าจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงในการฟื้นตัว
“น้ำมันแพง ดอกเบี้ยก็ขึ้น แต่เขาทนได้ เพราะเศรษฐกิจเขาฟื้น เขากำลังสนุกกับงานปาร์ตี้อยู่ แต่พอเราไปถึง คนอื่นเขาเลิกปาร์ตี้ไปแล้ว และเริ่มเก็บจานแล้ว แต่เราต้องมานั่งล้างจาน คือ ต้องไปจ่ายเงินซื้อของแพงๆ ดอกเบี้ยก็แพง และสภาพคล่องที่ถูกดูดออกไปจะกระทบต้นทุนทางการเงินในประเทศไทยแน่ๆ” พิพัฒน์ กล่าว
@มองปี 65 เป็นปี ‘เสือหมอบ’ รอโอกาส
ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ระบุว่า ในปี 2565 CIMBT ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออก การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตั้งแต่ในครึ่งหลังของปี 2565 ไปแล้ว และกำลังซื้อของประชาชนระดับกลางและบน
“ปี 2565 เป็นปี ‘เสือหมอบ’ เพื่อรอโอกาส ส่วนไวรัสสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ที่เข้ามานั้น เรากำลังปรับมุมมอง ซึ่งต้องดูสถานการณ์หลังปีใหม่ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผมมองว่าโอไมครอนไม่ได้รุนแรง และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 3.8%” อมรเทพ กล่าว และว่า “โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อีก”
(อมรเทพ จาวะลา)
อย่างไรก็ดี อมรเทพ ระบุ หากการระบาดของ ‘โอไมครอน’ ทำให้เกิดสถานการณ์ที่คล้ายกับการระบาดโควิดระลอกที่ 2 และระลอกที่ 3 ในปี 2564 ก็จะทำให้จีดีพีลดลงมาเหลือเฉียดๆ 3% เนื่องจากคนระมัดระวังการใช้จ่าย และการเดินทางท่องเที่ยวชะลอตัวลง ซึ่งจะไปกระทบต่อธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว
“แต่ที่ผมห่วงจริงๆ คือ จีดีพีต่ำกว่า 3% และไม่รู้ว่าจะหล่นไปที่เท่าไหร่ หากมีการแพร่ระบาดของโอไมครอนทำให้เกิดปัญหา supply disruption (การสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน) เหมือนกับเมื่อเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ตัวเดลตาระบาดในโรงงาน ซึ่งถ้าโอไมครอนทำให้การผลิตในโรงงานหยุดชะงัก ก็จะกระทบต่อการผลิตและการส่งออกของเรา” อมรเทพ ระบุ
อมรเทพ เสนอว่า รัฐบาลควรเร่งรัดการใช้จ่ายเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯที่ยังเหลืออยู่อีก 3 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2565 รวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ขณะที่กำลังซื้อของประชาชนระดับกลางและระดับบนนั้น จะเป็นแรงสนับสนุนให้การใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นจากที่ประมาณการไว้
“ผมมองว่า wave 4 โอไมครอน ไม่น่าจะเป็น wave สุดท้าย ยังมีอีกได้ เราต้องอยู่กับโควิดให้ได้ แต่ถ้ามีขึ้นมาอีก ถามว่าเงินของรัฐบาลมีพอหรือเปล่า สภาพคล่องเป็นอย่างไร และความแตกต่างระหว่างกำลังซื้อของคนระดับบนกับล่างที่ถ่างไปกันเรื่อยๆ หรือธุรกิจ SMEs กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่สมดุลกันนั้น เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ในปี 2565” อมรเทพ กล่าว
อมรเทพ ย้ำว่า “อย่าไปดูแค่ว่าจีดีพีจะโตเหนือ 3% หรือเปล่า แต่ต้องดูคุณภาพของการกระจายตัวด้วย”
พร้อมระบุว่า “ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ยังจำเป็นต้องอาศัยมาตรการภาครัฐในการพยุงเศรษฐกิจอยู่ จนกว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะดีขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเราหวังมาหลายปีแล้ว และยังหวังอยู่ แต่เราคงนั่งเฉยๆไม่ได้ โดยภาครัฐจะต้องผลักดันเรื่องการเจรจา FTA กับต่างประเทศด้วย เพราะ RCEP อย่างเดียวคงไม่พอ”
เหล่านี้เป็นประมวลภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจปี2565 ท่ามกลางความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ และปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ
อ่านประกอบ :
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%