'ชมรมแพทย์ชนบท' เปิดหลักฐานร่องรอยส่อทุจริต จัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้น เรียกร้อง 5 หน่วยงานรัฐ เร่งสอบข้อเท็จจริงด่วน ด้าน 'บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ' ร่อนหนังสือชี้แจงเป็นตัวแทนบริษัทออสท์แลนด์ฯ ยันทำสัญญาซื้อขายถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ 'รสนา' ตั้ง 7 ข้อสังเกต 7 ข้อ อภ.สัญญาจัดซื้อผิดกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง
--------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2564 ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 ถึงกรณีข้อสังเกตในกระบวนการจัดซื้อชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทั้งนี้ ข้อความระบุว่า
หรือนี่คือร่องรอยการส่อทุจริตขององค์การเภสัชกรรม คนที่ติดตามข่าว ATK 8.5 ล้านชิ้นนั้น จะทราบว่า บริษัทที่ยื่นประมูลและชนะการประมูลคือ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด แต่วันลงนามในสัญญากลับลงนามโดย บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผิดกฎหมายชัดๆ องค์การเภสัชกรรมพอรู้ตัวว่า 'พลาดแล้ว' จึงเล่นบทที่ช่างกล้า แถลงว่า ชื่อผู้ยื่นซองประมูลไม่ใช่ออสท์แลนด์ แต่เป็นบริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้แทนจำหน่าย
ชัดเจนว่าที่ผ่านมา ชื่อออสท์แลนด์ฯ คือชื่อผู้ชนะการประมูล ไม่มีชื่อเวิลด์ เมดิคอลฯ ดังปรากฏในหลักฐานเบื้องต้นทั้ง 3 รูปที่แนบมาด้วยคือ
1.องค์การเภสัชกรรมได้ทำหนังสือเชิญชวนบริษัทออสท์แลนด์ฯให้มายื่นซอง ซึ่งระบุชัดว่า หากบริษัทนำเข้าไม่ใช่บริษัทเดียวกับผู้แทนจำหน่าย จะต้องมีเอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายด้วย ซึ่งหากมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายมาก่อนแล้ว บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯก็ย่อมใช้ชื่อตนเองในการยื่น แต่ทำไมกลับไม่ได้ใช้ยื่น
2.รูปการเขียนผลการเปิดซองบนกระดาน มีชื่อบริษัทออสท์แลนด์หมายเลข 11 แต่ไม่มีชื่อบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ (มีเจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรมหลายคนร่วมในเหตุการณ์)
3.รูปในข้อ 2 สอดคล้องกับ ข่าวองค์การเภสัชกรรม 11 ส.ค. 2564 (วันเปิดซองประกวดราคา) ระบุชัดเจนว่า 'บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุด' ไม่ใช่บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ
เมื่อเป็นประเด็นร้อน ข่าวองค์การเภสัชกรรม 2 ก.ย. 2564 เพิ่งมา 'ชี้แจงย้ำว่า ผู้ยื่นซองคือบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ โดยได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทออสแลนด์ฯให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ' ซึ่งถือเป็นร่องรอยการส่อทุจริตที่สำคัญ
ชมรมแพทย์ชนบท ขอเรียกร้องต่อ โรงพยาบาลราชวิถีในฐานะผู้แทนหน่วยบริการ สปสช.ในฐานะผู้จ่ายเงินงบประมาณซื้อ ATK กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะคณะกรรมการกำหนดแผนฯที่เป็นผู้รับรองราคาและสเปก กรมบัญชีกลางในฐานะผู้คุ้มกฎ และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องผู้ประมูลเป็นคนละรายกับผู้ลงนามในสัญญาให้ละเอียดโดยเร็ว ว่าเป็นการการกระทำที่ผิดกฏหมายและเอื้อเอกชนหรือไม่ รวมทั้งมีการแก้ไขเอกสารการประมูลเพื่อสร้างหลักฐานเท็จหรือไม่ และควรมีการอายัติและเปิดเอกสารทั้งหมดเพื่อตรวจสอบอย่างเร่งด่วน
ATK ล็อตนี้นอกจากมีความคลางแคลงสงสัยในคุณภาพแล้ว หากยังมีการประมูลที่ขาดธรรมาภิบาลด้วยแล้ว ยิ่งเป็นตราบาปกำลัง 2 ของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่ควรเกิดขึ้น องค์การเภสัชกรรมเคยเป็นองค์กรแห่งความหวังของเราชาวแพทย์ชนบทและสังคมไทย มิควรต้องมัวหมองเพราะการบริหารที่ไม่ตรงไปตรงมาโดยผู้บริหารไม่กี่คน สังคมไทยและรัฐบาลต้องร่วมกันทำความจริงให้กระจ่างโดยเร็ว
บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ยันทำสัญญาถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีชมรมแพทย์ชนบท ตั้งข้อสังเกตการทำสัญญาซื้อขายชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ เอทีเค จำนวน 8.5 ล้านชุด ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ส่อแววทุจริต ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวระบุว่า
เนื่องด้วย บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ และ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ ผู้ชนะการประมูลงานจาก อภ. และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย (อย.) ในการจัดหาและนำเข้าชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ภายใต้ชื่อ 'SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test' ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ดำเนินงานภายใต้โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อแจกให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุด ได้รับการกล่าวพาดพิงกรณีแพทย์ชนบททำหนังสือตั้งคำถามผ่านทางสื่อมวลชนว่า นี่คือร่องรอยการส่อทุจริตของ อภ. และระบุว่า บริษัทที่ยื่นประมูลและชนะการประมูลคือ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ แต่วันลงนามในสัญญากลับลงนามโดย บริษัท เวิลด์เมดิคอลฯ ซึ่งผิดกฎหมาย และเอื้อเอกชนหรือไม่ รวมทั้งมีการแก้ไขเอกสารการประมูลเพื่อสร้างหลักฐานเท็จหรือไม่ และควรมีการอาญัติและเปิดเอกสารทั้งหมดเพื่อตรวจสอบอย่างเร่งด่วน
อีกทั้ง แพทย์ชนบทยังได้ระบุอีกว่า อภ.พอรู้ตัวว่า 'พลาดแล้ว' จึงเล่นบทที่ช่างกล้า แถลงว่า ชื่อผู้ยื่นซองประมูลไม่ใช่ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ แต่เป็น บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ในฐานะผู้แทนจำหน่าย ชัดเจนว่าที่ผ่านมา ชื่อออสท์แลนด์ฯ คือชื่อผู้ชนะการประมูล ไม่มีชื่อ เวิลด์ เมดิคอลฯ
ทั้งนี้ สิ่งที่ชมรมแพทย์ชนบท ได้ตั้งข้อสงสัยไว้คือ
1.ชมรมแพทย์ชนบทได้ตั้งข้อสังเกตว่า อภ.ได้ทำหนังสือเชิญชวนบริษัท ออสท์แลนด์ฯให้มายื่นซอง ซึ่งระบุชัดว่า หากบริษัทนำเข้าไม่ใช่บริษัทเดียวกับผู้แทนจำหน่าย จะต้องมีเอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายด้วย ซึ่งหากมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายมาก่อนแล้ว บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ ก็ย่อมใช้ชื่อตนเองในการยื่น แต่ทำไมกลับไม่ได้ใช้ยื่น
กรณีนี้ขอชี้แจงว่า เมื่อบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ได้ทราบระเบียบการยื่นประมูลจาก อภ. ที่ชี้แจงว่า หากกรณีบริษัทผู้นำเข้าไม่ใช่บริษัทเดียวกันกับบริษัทผู้แทนจำหน่าย จะต้องมีเอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายพร้อมลงนามผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เพื่อเข้าร่วมการประมูลแทน ในการนี้ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ จึงได้มอบอำนาจให้ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นตัวแทนเข้ายื่นซองประมูล และบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ได้แต่งตั้ง นางศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นผู้ดำเนินการเข้าประมูลในนามตัวแทนบริษัทฯ จึงถือว่าการเข้าร่วมประมูลหาชุดตรวจเอทีเค ที่ อภ.จัดประมูลนี้ บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ และ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ มิได้ทำผิดกฎการประมูลดังข้อกล่าวหาของแพทย์ชนบทแต่อย่างใด
ทั้งนี้ยังได้รับการยืนยันอีกว่า ผู้เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ มีอีกหลายบริษัท ที่ได้แต่งตั้งให้บริษัทอื่นเป็นตัวแทนให้เข้ามาดำเนินการประมูล เหมือนเช่นที่ ออสท์แลนด์ แต่งตั้งให้ เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นผู้ยื่นประมูลเช่นกัน
2.กรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทได้ตั้งข้อสังเกตว่า รูปการเขียนผลการเปิดซองบนกระดาน และข่าวที่ออกมา มีชื่อ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ หมายเลข 11 แต่ไม่มีชื่อ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ (มีเจ้าหน้าที่อภ.หลายคนร่วมในเหตุการณ์)
ขอชี้แจงว่า ในกรณีนี้ ได้รับการชี้แจงจาก อภ.ว่า เมื่อ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล ฯ จับมือกับ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ ในการเข้าร่วมประมูล ถือว่าเป็นในนามบริษัทเดียวกัน การอ้างอิงชื่อ ออสท์แลนด์ฯ บนกระดานเพียงบริษัทเดียวไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด สาเหตุเพราะ ออสท์แลนด์ฯ เป็นผู้ยื่นขอ อย.และเป็นผู้ได้รับอนุญาตใบรับรองการประเมินเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และหากลงลึกในรายละเอียด ทั้งสองบริษัทได้ทำเอกสารสัญญาระหว่างกันก่อนการยื่นประมูลอย่างถูกต้องทุกประการ การเขียนบนกระดานโดยนำเสนอให้ผู้ร่วมประมูลทราบราคาที่แต่ละบริษัทยื่นประมูลเท่านั้น ไม่ได้มีผลในด้านกฎหมายแต่อย่างใด
'รสนา' ตั้งข้อสังเกต อภ.ทำสัญญาจัดซื้อ ATK ผิด กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564 ระบุว่า รสนาตั้งข้อสังเกต 7 ประเด็นการทำสัญญาจัดซื้อ ATK ของ อภ.ผิดกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง หากมีการรับของและจ่ายเงิน ทั้ง อภ.และ สปสช.จะมีความผิดทางอาญาและทางแพ่ง
จากกรณีที่บริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกมาชี้แจงข้อกล่าวหา เซ็นสัญญาจัดซื้อ ATK ส่อทุจริตนั้น ตยจึงมีข้อพิจารณาต่อข้อมูลที่ปรากฎในข่าว ดังนี้
1.เอกสารที่เวิลด์ เมดิคอลฯนำมาแสดงเป็นเพียงหนังสือรับรองว่าเวิลด์ เมดิคอลฯเป็นผู้แทนจำหน่าย ATKของ ออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด ทำให้เวิลด์ เมดิคอลฯมีสิทธิที่จะขาย ATK ได้
แต่การขายให้ อภ.ต้องปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญเสนอราคาเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นซองเสนอราคา ออสแลนด์ฯเป็นบริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญเสนอราคา ดังนั้นออสแลนด์ฯเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นซองเสนอราคา ซึ่ง ออสแลนด์ฯก็ได้ยื่นซองเสนอราคาและชนะการคัดเลือกตามภาพถ่ายการนับคะแนน
เมื่อออสแลนด์ฯ ชนะการคัดเลือก อภ.ต้องทำสัญญากับออสแลนด์ฯ การทำสัญญากับเวิลด์ เมดิคอลฯถือเป็นการทำสัญญากับบริษัทที่ไม่มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก และไม่ได้รับการคัดเลือก เป็นการทำสัญญาผิดตัวซึ่งไม่มีผลให้เกิดสัญญาระหว่าง อภ.กับเวิลด์ เมดิคอลฯ อภ.จะรับมอบ ATK และสปสช.จะจ่ายเงินไม่ได้ ขืนจ่ายไปน่าจะมีความผิดทางอาญาและต้องรับผิดทางแพ่ง ใช่หรือไม่
2.การที่เวิลด์ เมดิคอลฯ อ้างว่า ได้รับมอบอำนาจจากออสแลนด์ฯให้ยื่นซองเสนอราคาและนำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่6 ส.ค.64มาแสดงนั้น หนังสือมอบอำนาจที่นำมาแสดงนั้นเป็นหนังสือที่เวิลด์ เมดิคอลฯ มอบอำนาจให้ผู้แทนบริษัท มีอำนาจเสนอราคา ไม่ใช่หนังสือแสดงว่าออสแลนด์มอบอำนาจให้เวิลด์ เมดิคอล ยื่นซองเสนอราคาแทนตน
3.แต่ถ้าออสแลนด์ฯ ได้มอบอำนาจให้เวิลด์ เมดิคอลฯ ยื่นซองเสนอราคาแทนตนจริงตามคำแถลงข่าวของเวิลด์ เมดิคอลฯ ก็ยิ่งเป็นพยานหลักฐานแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าผู้ยื่นซองเสนอราคาที่แท้จริงคือออสแลนด์ฯโดยมอบอำนาจให้เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นตัวแทน เมื่อเป็นเช่นนี้อภ.ต้องทำสัญญากับออสแลนด์ฯ ซึ่งเป็นตัวการตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้เป็นคู่สัญญาต้องเป็นออสแลนด์ฯ มิใช่เวิลด์ เมดิคอลฯ
การให้เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นคู่สัญญาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการทำสัญญาผิดตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่มีผลให้เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นคู่สัญญา อภ.จะรับมอบ ATK และสปสช.จะจ่ายเงินไม่ได้ ขืนจ่ายไปน่าจะมีความผิดอาญา และต้องรับผิดทางแพ่งใช่หรือไม่
4.ที่เวิลด์ เมดิคอลฯ อ้างว่า เป็นJoint Ventureกับ ออสแลนด์ฯนั้น ถ้าเป็นความจริงเหตุใดจึงไม่นำ Joint Venture Agreement และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีที่ออกให้โดยกรมสรรพากรในฐานะกิจการร่วมค้า (Joint Venture)มาแสดง และเหตุใด อภ.จึงไม่ทำหนังสือเชิญเข้ารับการคัดเลือกในการจัดซื้อ ATK ส่งถึงJoint Venture
ออสแลนด์ฯ และเวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้า เหตุใดมีหนังสือเชิญเข้ารับการคัดเลือกส่งถึงออสแลนด์ฯ ซึ่งเป็นคนละหน่วยภาษี (Tax Entity) แยกต่างหากจากกันกับกิจการร่วมค้า ดังนั้นที่เวิลด์ เมดิคอลฯ อ้างว่าเป็น Joint Venture กับ ออสแลนด์ฯจึงไม่น่าจะเป็นความจริง และขัดกับ Certification of Autourized Distributor ที่ระบุว่าเวิลด์ เมดิคอลฯเป็นเพียงผู้แทนจำหน่าย (Distributor) ของออสแลนด์ฯเท่านั้น มิได้มีฐานะเป็นJoint Venture กับออสแลนด์ฯแต่อย่างใด
5.สรุปแล้วความจริงน่าจะเป็นกรณีออสแลนด์ฯได้รับหนังสือเชิญให้เข้ารับคัดเลือกเพื่อเสนอขาย ATK ให้แก่องค์การเภสัชกรรม และออสแลนด์ฯได้ยื่นซองเสนอราคาตามหนังสือเชิญและเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก แต่องค์การเภสัชกรรมทำสัญญากับเวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งเป็นการทำสัญญาผิดตัว ไม่มีผลตามกฎหมาย ไม่อาจรับมอบสินค้าและจ่ายเงินค่าสินค้าได้
6.องค์การเภสัชกรรมและเวิลด์ เมดิคอลฯยิ่งแก้ตัว ยิ่งมีหลักฐานมัดตัวเอง ยิ่งแสดงให้เห็นว่าความจริงบริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญจากองค์การเภสัชกรรมเข้าเสนอราคาขายATK คือออสแลนด์ฯ และบริษัทที่ยื่นซองเสนอราคาคือออสแลนด์ฯและบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกโดยมีคะแนนสูงสุดก็คือออสแลนด์ฯเช่นเดียวกัน มิใช่เวิลด์เมดิคอลฯ
แต่มีการทำสัญญากับเวิลด์ เมดิคอลฯ ซึ่งมิได้เป็นบริษัทที่ได้รับหนังสือเชิญ และมิได้เป็นบริษัทที่ยื่นซองเสนอราคา ทั้งมิได้เป็นบริษัทที่ปรากฎชื่อในการการเปิดซองและตรวจนับคะแนนของคณะกรรมการคัดเลือกการซื้อ ATK ขององค์การเภสัชกรรม
เวิลด์ เมดิคอลฯจึงไม่อาจเป็นคู่สัญญากับองค์การเภสัชกรรมได้ การเป็นคู่สัญญาระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับเวิลด์ เมดิคอลฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้องค์การเภสัชกรรมต้องรับมอบ ATK จากเวิลด์เมดิคอลฯและไม่อาจจ่ายเงินให้เวิลด์ เมดิคอลฯหรือออสแลนด์ฯ ได้ ขืนจ่ายไปน่าจะมีความผิดทางอาญาและต้องรับผิดทางแพ่งใช่หรือไม่
7.กรณีที่เกิดขึ้นไม่ต้องเป็นห่วงว่าเวิลด์ เมดิคอลฯหรือออสแลนด์ฯจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากองค์การเภสัชกรรมและรัฐต้องเสียค่าโง่เหมือนกรณีอื่นๆ เพราะตามข้อเท็จจริงมีการกระทำที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่สมรู้ร่วมคิดด้วย เป็นกรณีทำนองเดียวกับคดีค่าโง่คลองด่านที่ในที่สุด รัฐไม่ต้องจ่ายเงินค่าโง่ประมาณ 10,000 ล้านบาทและผู้บริหารของคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษต้องติดคุกเช่นเดียวกับอธิบดีกรมควบคุมมลพิษและพวก
จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานตรวจสอบภายในกรมบัญชีกลาง และสตง.ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายต่อเงินแผ่นดิน และทำความชัดเจนต่อสาธารณชนด้วย
อ่านข่าวประกอบ :
-
ร้อง 'องค์การเภสัชฯ' จัดซื้อชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านSET กระชั้นชิด (1)
-
หลังฉาก! อภ.ซื้อชุดตรวจโควิด 595 ล้าน บ.ชนะยื่นซอง 65 บ.-FDA สั่งระงับสินค้าผู้ผลิตจีน? (2)
-
แจ้งงบการเงินขาดทุน 3 ปีติด! ส่อง Google Maps ดูที่ตั้ง บ.ผู้ชนะขายชุดตรวจโควิด 595 ล. (3)
-
ปลัด สธ.สั่งชะลอทำสัญญา-สอบคุณภาพชุด ATK อภ.แจงสหรัฐฯระงับใช้ เหตุสินค้าถูกลักลอบนำเข้า (4)
-
ข้อมูลใหม่! อิศรา คุ้ยเจอ อย.ฟิลิปปินส์ เรียกคืนชุดตรวจโควิดยี่ห้อเดียว อภ.จัดซื้อ (5)
-
อย.แจงชุดตรวจ ATK บริษัท Lepu ได้มาตรฐาน - อภ.ยันประมูลโปร่งใส ไม่มีการล็อกสเปก (6)
-
ได้มาตรฐาน-ไม่ล็อกสเปก! เปิดคำชี้แจง 3 หน่วยงาน แผนจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น (7)
-
ก่อนเปิดซองชุดตรวจโควิด 1 วัน! วปอ.รุ่น 61 นำสินค้า บ.ออสท์แลนด์ บริจาค 'อนุทิน -สธ.' (8)
-
เบื้องลึก! เส้นทางชุดตรวจโควิด 595 ล. สปสช. งัดข้อ อภ.-สธ. สุดท้าย 'ปชช.' รับเคราะห์ (9)
-
พบ 'นักธุรกิจสาว' โผล่ชื่อถือหุ้นใหญ่ บ.ออสท์แลนด์ ก่อนยื่นซองขายชุดตรวจ ATK 4 วัน (10)
-
เป็นนักจิตวิทยาทำงานในรพ.! เปิดตัวหุ้นใหญ่ บ.ออสท์แลนด์ เข้านำชุดตรวจ ATK ขาย อภ.595 ล. (11)
-
'บิ๊กตู่'สั่งจัดหาชุดตรวจ ATK ต้องได้รับการรับรองจาก WHO - อย. (12)
-
ปลัด สธ.รอหนังสืออย่างเป็นทางการ ปม'บิ๊กตู่'สั่งจัดซื้อชุดตรวจ ATK ต้องมี WHO รับรอง (14)
-
อภ.รอลงนามในสัญญาซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด - ยังไม่ได้รับหนังสือเป็นทางการปมข้อสั่งการนายกฯ (15)
-
'ศิริญา'บ.ณุศาศิริฯ ย้ำ ATK ของ LEPU ได้มาตรฐาน รุกนำเข้าชุดตรวจ 8.5 ล้านชิ้นให้คนไทย (16)
-
ครม.รับทราบปรับปรุงข้อสั่งการนายกฯ จัดหา ATK ไม่ต้องมี WHO รับรอง (17)
-
เป็นนักจิตวิทยาทำงานในรพ.! เปิดตัวหุ้นใหญ่ บ.ออสท์แลนด์ เข้านำชุดตรวจ ATK ขาย อภ.595 ล. (18)
-
อภ.เซ็นสัญญาซื้อ ATK ของ LEPU 8.5 ล้านชุด-คาดล็อตแรกจัดส่งมา 6 ก.ย.นี้ (19)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage