ปลัด สธ. ในฐานะประธานบอร์ดองค์การเภสัชฯ สั่งชะลอทำสัญญาชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด เพื่อให้ อย.ตรวจสอบข้อมูลคุณภาพ ขณะที่รองผู้อำนวยการ อภ. แจง 'อิศรา' การจัดซื้อกระชั้นชิด เพราะ สปสช.ต้องรีบใช้ ส่วนกรณีสหรัฐฯเรียกคืนสินค้า 'ออสท์แลนด์ แคปปิตอล' ระบุบริษัทผู้ผลิตแจง ไม่ได้เป็นผู้นำเข้า แต่มีคนลักลอบเอาไปขาย ย้ำชุดตรวจผ่านการตรวจสอบคุณภาพ-ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว
………………………………………..
จากกรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด เป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อค้นหาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษารวดเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรค
ซึ่ง อภ.ได้กำหนดให้บริษัทผู้จำหน่ายชุดตรวจ ATK จำนวน 19 บริษัท จาก 24 บริษัทที่เชิญไป เข้าร่วมเสนอราคาจัดซื้อชุดตรวจ ในวันเดียวกับการกำหนดเปิดซองราคา เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีบริษัทที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด และสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด 14 วันหลังจากลงนามสัญญา จำนวน 16 บริษัท และจากการเปิดซองราคาปรากฏว่า บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
อย่างไรก็ตาม ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ผู้นำเข้าชุดตรวจแอนติเจน SAR-CoV-2 Antigen Rapid Test Kit (Colloidal Gold Immunochromatography) จากบริษัท Beijimg Lepu Medical Technology Co., Ltd. P.R. China ชุดตรวจยี่ห้อดังกล่าว เคยถูกเรียกเก็บสินค้าออกจากตลาดสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2564 ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริการ (U.S. Food and Drug Administration : FDA) ให้ระงับใช้ชุดตรวจดังกล่าว เนื่องจากให้ผลการตรวจที่ไม่แม่นยำ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ส.ค.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เนื่องจากบางหน่วยงานมีความห่วงใยและไม่มั่นใจในคุณภาพของชุดตรวจ และมีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจในสินค้า อภ.จึงขอชะลอการดำเนินการในขั้นตอนการทำสัญญาออกไปก่อน โดย อภ. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเร่งทำการตรวจสอบข้อมูลคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป พร้อมย้ำว่าการดำเนินการดังกล่าวทุกขั้นตอน เป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสม
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะสั่งชะลอการทำสัญญาซื้อชุดตรวจโควิดดังกล่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ นพ.เกียรติภูมิ ทำการตรวจสอบการดำเนินการจัดซื้อว่ามีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบครบถ้วนหรือไม่แล้วให้เร่งชี้แจงต่อสาธารณชนโดยเร็ว
ด้าน นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า กรณีที่มีการเรียกคืนสินค้าจากตลาดสหรัฐอเมริกา อภ.ได้สอบถาม บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด และได้รับคำชี้แจงว่า สาเหตุหลักที่ทราบคือบริษัทผู้ผลิตชุดทดสอบไม่ได้เป็นผู้นำเข้าชุดตรวจไปยังสหรัฐอเมริกา แต่มีการลักลอบนำเข้าไปขาย ทำให้สหรัฐอเมริกามองว่า เมื่อไม่มีการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเรื่องคุณภาพ จึงมีการเรียกคืนสินค้าเกิดขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจสอบหรือประเมินคุณภาพก่อน
นางศิรินุช กล่าวย้ำว่า อภ.ยืนยันว่าจะมีการตรวจสอบล็อตผลิต และวันที่ผลิต ก่อนแจกจ่ายให้กับประชาชน ซึ่งล็อตผลิตนั้นจะต้องเป็นล็อตที่จัดทำขึ้นใหม่ ไม่ใช่ล็อตที่คาดว่าจะมีปัญหาในสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นเมื่อชุดตรวจถูกส่งเข้ามายังประเทศไทยแล้ว เราจะทำการสุ่มตรวจตัวอย่างต่อไปว่า ชุดตรวจนี้ให้ผลเป็นไปตามข้อกำหนดที่เขารับรองไว้หรือไม่ พร้อมย้ำว่า ชุดตรวจนี้ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว
“การขึ้นทะเบียน อย. เราจะให้บริษัทส่งประเมินประสิทธิภาพชุดทดสอบอยู่แล้ว เป็นหลักการของ อย.ก่อนให้ขึ้นทะเบียน และจะส่งให้โรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยเป็นผู้ประเมินชุดทดสอบว่า มีค่าความไว ค่าความจำเพาะป็นไปตามเกณฑ์ไหม จึงให้ขึ้นทะเบียน อย่างน้อยประชาชนต้องมั่นใจได้” นางศิรินุช กล่าว
นางศิรินุช กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เราได้เรียกข้อมูลจาก บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เพื่อดูว่าชุดตรวจนี้ถูกนำไปใช้ในประเทศใดบ้าง และจากการใช้งานจริงในประเทศต่างๆ ได้ค่าความไว ค่าความจำเพาะเป็นไปตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ อย.หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะมีผลออกมาอีกไม่นานนี้ แต่เท่าที่ทราบมา พบว่าชุดตรวจนี้ค้าขายหลักอยู่ในทวีปยุโรป
เมื่อถามถึงการกำหนดให้บริษัทผู้ชนะต้องส่งมอบสินค้าทั้งหมดภายใน 14 วัน หลังการลงนามในสัญญา ถือว่ากระชั้นชิดไปหรือไม่นั้น นางศิรินุช กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว เราอยากให้เวลากับทางบริษัทเช่นเดียวกัน แต่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีแผนในการใช้ ซึ่งในตอนแรกอยากให้ส่งมอบภายในวันที่ 10 ส.ค.2564 ด้วยซ้ำ แต่เมื่อ อภ.จึงสอบถามหลายๆ แห่ง และสำรวจความพร้อมของบริษัททั้ง 24 บริษัทที่ได้เชิญไป ได้ผลสรุปว่าช่วงเวลาที่จะส่งมอบดีที่สุด อยู่ในช่วงระยะเวลา 14 วันหลังการลงนามสัญญา ซึ่งมีตั้ง 16 บริษัทจาก 24 บริษัทที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามกระบวนการลงนามจะใช้เวลาอีกหลายวันพอสมควร ประมาณ 3-5 วัน เนื่องจากต้องผ่านคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมก่อน เพื่ออนุมัติสั่งซื้อ ตรงนี้จะมีเวลาในช่วงหนึ่ง ดังนั้นกำหนดการส่งมอบภายใน 14 วันหลังลงนามสัญญา ถือว่าไม่เป็นเวลาที่กระชั้นชิดเกินไป
ส่วนการกำหนดให้บริษัทผู้ชนะ เป็นผู้กระจายชุดตรวจไปยังหน่วยบริการประมาณ 1,000 แห่ง ทั่วประเทศนั้น นางศิรินุช กล่าวว่า จากการสอบถามและได้ดูกระบวนการของบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด แล้ว พบว่าบริษัทได้ติดต่อบริษัทที่มีประสบการณ์ในการจัดส่งชุดตรวจแอนติเจนด้วย เป็นบริษัทที่มีความชำนาญ ตนเองจึงเชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถกระจายชุดตรวจแอนติเจนทั่วประเทศได้ตามแผน อย่างไรก็ตามเราจะติดตามกำกับตรงนี้ด้วย ตั้งแต่เริ่มทำสัญญา ซึ่งต่อไปเราจะเชิญบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด และบริษัทที่จะรับกระจายชุดตรวจมาหารือ เพื่อจัดทำแผนกระจายชุดตรวจ ATK ร่วมกัน
ข่าวประกอบ :
ร้อง 'องค์การเภสัชฯ' จัดซื้อชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านSET กระชั้นชิด (1)
หลังฉาก! อภ.ซื้อชุดตรวจโควิด 595 ล้าน บ.ชนะยื่นซอง 65 บ.-FDA สั่งระงับสินค้าผู้ผลิตจีน? (2)
แจ้งงบการเงินขาดทุน 3 ปีติด! ส่อง Google Maps ดูที่ตั้ง บ.ผู้ชนะขายชุดตรวจโควิด 595 ล. (3)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage