"...เหตุผลสำคัญที่ทำให้ สปสช. ไม่ดำเนินการจัดซื้อเอง เป็นเพราะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยวินิจฉัยว่า สปสช. ไม่สามารถจัดซื้อด้วยตัวเองได้ และกลายเป็นที่มาของคำสั่ง คสช.เมื่อปี 2560 ที่ไม่ให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อและเวชภัณฑ์อีกต่อไป มติบอร์ด สปสช. จึงส่งเรื่องไปยังเครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี และส่งต่อไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้ทำหน้าที่จัดซื้ออีกที..."
...................................
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกการประกวดราคาจัดหาชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ของ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินเป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อค้นหาผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษารวดเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรค ซึ่งผลการยื่นซองประกวดราคา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ชนะ เสนอราคาอยู่ที่ชุดละ 65 บาท แต่เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามที่ อภ.ระบุว่าอยู่ที่ราคาประมาณชุดละ 70 บาท วงเงินงบประมาณจะอยู่ที่ 595,000,000 บาท โดยสินค้าที่นำมาจำหน่ายผลิตโดย บริษัทเอกชนประเทศจีน ที่มีชื่อว่า BEIJING LEPU MEDICAL TECHNOLOGY CO., LTD
ที่กำลังเกิดเสียงวิพาษ์วิจารณ์ในสังคมเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อสินค้าอยู่ในขณะนี้นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ดังกล่าว สามารถสรุปที่มาที่ไปเป็นของเรื่องนี้ ได้ดังต่อไปนี้
@ จุดเริ่มต้น
สปสช. มีหนังสือแจ้งรพ.ราชวิถี ที่ สปสช.9.69/14620 ลงวันที่ 22 ก.ค. 64 เกี่ยวกับแผนความต้องการชุดตรวจฯ จํานวน 8.5 ล้านชิ้น วงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท และ รพ.ราชวิถี ได้มีหนังสือถึงองค์การเภสัชกรรมเพื่อแจ้งแผน ความต้องการตามที่ทางสปสช.แจ้ง ตามหนังสือที่ สธ 0308/6304 ลว. 27 ก.ค.64
เนื้อหาสาระสำคัญระบุว่า เนื่องด้วยปัจจุบัน สถานการณ์การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส-19 ในประเทศ มีการระบาดอย่างรุนแรงมากขึ้น ในการป้องกันและรักษาภาวการณ์ติดเชื้อดังกล่าว มีความจําเป็นต้องใช้ยา หรืออุปกรณ์ทาง การแพทย์ที่จําเป็น ในลักษณะเร่งด่วนจํานวนมาก คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติในการประชุมวาระพิเศษ ครั้งที่ 8/2564 วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบเพิ่มชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัย การติดเชื้อ SARS CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test Kits) วงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท ในแผนการจัดหาภายใต้โครงการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการ แพทย์ที่จําเป็นตามโครงการพิเศษปี 2564 โดยให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ (เครือข่าย โรงพยาบาลราชวิถี) ดําเนินการจัดหาเพื่อสนับสนุนชุดตรวจให้แก่หน่วยบริการในเครือข่ายและประชาชน ต่อไป
นอกจากนี้ ในการดําเนินการคู่ขนาน คณะอนุกรรมการจัดทําแผนความต้องการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จําเป็นตามโครงการพิเศษ ในการประชุมวาระพิเศษ วันที่ 15 กรกฎาคม 2560 มีมติ
1. รับทราบ เพื่อเตรียมการจัดหารายการชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ด้วย Covid-19 Antigen Test-self kits แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง เป็นแผนเพิ่มเติมสําหรับการจัดหาฯ ปี 2564 หากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ
2. เห็นชอบมอบเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถี ดําเนินการจัดการและกระจายให้กับหน่วยบริการ จํานวนไม่เกิน 10 ล้านชิ้น ให้แล้วเสร็จตามเวลาเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การระบาด Covid-19 ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
3. เห็นชอบให้ สปสช. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กําหนดแผนการจัดหา แผนการกระจายให้ทันต่อเหตุการณ์
4. มอบ สปสช. ประสานงานผู้แทน สํานักงานกฤษฎีกา ผู้แทน สตง. ผู้แทนกรมบัญชีกลาง เพื่อ ให้เกิดความรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ ว.115 และระเบียบพัสดุที่อํานวยความสะดวกในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะดําเนินการได้เร็วที่สุดและถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
5. รับรองมติในที่ประชุมเพื่อดําเนินการได้ทันทีในการนี้ (ดูหนังสือประกอบ)
สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้ สปสช. ไม่ดำเนินการจัดซื้อเอง เป็นเพราะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยวินิจฉัยว่า สปสช. ไม่สามารถจัดซื้อด้วยตัวเองได้ และกลายเป็นที่มาของคำสั่ง คสช.เมื่อปี 2560 ที่ไม่ให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อและเวชภัณฑ์อีกต่อไป มติบอร์ด สปสช. จึงส่งเรื่องไปยังเครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี และส่งต่อไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้ทำหน้าที่จัดซื้ออีกที
ส่วนเหตุที่ต้องเร่งรีบดำเนินการเรื่องนี้ เป็นเพราะทุกฝ่าย สปสช. เห็นตรงกันว่าถึงเวลาในการจัดหา ‘ชุดตรวจเร็ว’ มาใช้สำหรับตรวจเชิงรุกในชุมชนแล้ว เนื่องจากกว่าที่กระทรวงสาธารณสุข จะเริ่มเปิดทางให้ใช้ชุดตรวจเร็ว หรือ Antigen Test Kits ก็ต้องรอจนถึงช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ติดเชื้อในไทยทะยานไปเกิน 1-2 หมื่นรายขณะที่แพทย์ชนบท ซึ่งตั้งทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่นานนับเดือน ได้เห็นปัญหาจาก ‘หน้างาน’ ว่าชุดตรวจที่ชาวบ้านเหมือนจะเข้าถึงได้ง่ายนั้น ในความเป็นจริง พื้นที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ เข้าถึงไม่ได้เลย ด้วยอัตราค่าตรวจครั้งละ 200 – 400 บาท และด้วยร้านขายยาในพื้นที่ ก็ไม่มีของ
ตรงจุดนี้ ทุกฝ่าย แม้แต่กระทรวงสาธารณสุขก็เห็นตรงกันว่าในพื้นที่อย่างกรุงเทพฯ ต้องตรวจให้มากกว่านี้ เพื่อหาผู้ป่วยให้มากกว่านี้ แต่ไม่มีใครทำอะไรจริงจัง ไม่พยายามเพิ่มอัตราการตรวจ มีแต่การบอกว่าให้ประชาชน ซื้อชุดตรวจไปตรวจเอง ซึ่งก็ตรวจได้เฉพาะคนที่มีเงิน กลายเป็น “คอขวด” ใหม่อีกหนึ่งคอขวด
เมื่อไม่มีใครทำอะไร ชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ สปสช. จึงเสนอให้ใช้กลไกจากกองทุน สปสช. จัดซื้อชุดตรวจ สำรวจราคาจนได้ชุดตรวจที่คิดว่า “ดีที่สุด” พอจะซื้อได้ 8.5 ล้านชุด ก็เป็นที่มาของมติบอร์ด สปสช. ส่งเรื่องไปยังเครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี และส่งต่อไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้ทำหน้าที่จัดซื้ออีกทีดังกล่าว
และเป็นที่มาว่า ทำไม สปสช. จัดซื้อด้วยตัวเองไม่ได้ ทำไม สปสช. อยากได้อะไร ถึงต้องผ่าน องค์การเภสัชฯ ทั้งที่ต้นเรื่องการจัดซื้อ ทั้งเงินที่ใช้จัดซื้อ ก็ล้วนมาจาก สปสช.
@ ยกเลิกประกวดราคาครั้งแรก- สปสช. ต้องการของมาตรฐานผ่าน อย.หรือ WHO
ต่อมา องค์การเภสัชกรรม ได้ดําเนินการ คัดเลือกเมื่อวันที่ 27 ก.ค.64 แต่ได้ยกเลิก เนื่องจากก่อนการเปิดซองราคา ทาง สปสช. และผู้สังเกตการณ์ สปสช. แจ้งข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน จึงขอให้ทบทวนข้อกําหนด
โดย รพ.ราชวิถี ได้รับหนังสือจากสปสช. ที่ สปสช.6.70 ลว. 28 ก.ค.64 แจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา และทาง รพ.ราชวิถี ได้มีหนังสือ ที่ สธ 0308/6470 ลว. 30 ก.ค.64 แจ้งองค์การเภสัชกรรม เพื่อทราบ รายละเอียดตามที่สปสช.แจ้ง ซึ่งมี 3 ส่วนหลัก คือ
1. กำหนดระยะเวลาส่งมอบชุดตรวจ จำนวน 8.5 ล้านชุด โดยเร็วที่สุด และใช้วิธีการจัดหาเพื่อให้เกิด ความโปร่งใส และรวดเร็ว ให้ทันต่อสถานการณ์แพร่ระบาด
2. ชุดตรวจ ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือได้รับการรับรองมาตรฐานจาก WHO ซึ่งชุดตรวจต้องมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับประเทศและระดับสากล
3. อัตราราคาชุดตรวจ รวมค่าขนส่งชุดตรวจไปยังหน่วยบริการ สถานบริการ หรือหน่วยงานที่ สปสช. กำหนด และรวมถึงค่าบริหารจัดการที่อาจเกิดขึ้นขององค์การเภสัชกรรมแล้ว
ก่อนที่ รพ.ราชวิถี ได้รับหนังสือจาก สปสช. ที่ สปสช.6.70/15524 ลงวันที่ 29 ก.ค. 64 โดยเนื้อหาสําคัญของหนังสือฉบับนี้ ได้เสนอขอบเขตของการจัดหาชุดตรวจฯ เพื่อให้เครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถีดําเนินการจัดหาด้านคุณภาพ ของชุดตรวจ โดยต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือได้รับการรับรอง มาตรฐานจาก WHO ซึ่งชุดตรวจต้องมีการใช้อย่างแพร่หลายในระดับประเทศและระดับสากล เป็นต้น กําหนดอัตราจัดหาชุดตรวจ ไม่เกินอัตรา 120 บาทต่อชุด โดยรวมค่าขนส่งชุดตรวจไปยังหน่วยบริการในพื้นที่แล้ว และ รวมถึงค่าบริหารจัดการที่อาจเกิดขึ้นขององค์การเภสัชกรรมแล้ว การกําหนดระยะเวลาส่งมอบชุดตรวจ ให้ครบ 8.5 ล้านชุด โดยเร็วที่สุด (ภายใน 2 สัปดาห์) เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การระบาดและได้แนบข้อกําหนด ซึ่งลงนามโดยประธานคณะทํางานกําหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ โรงพยาบาลราชวิถี ได้มีหนังสือถึงองค์การเภสัชกรรม ให้ดําเนินการตามข้อเสนอของสปสช. ข้างต้น ตามหนังสือโรงพยาบาลราชวิถี ที่ สธ 0308/6467 ลงวันที่ 2 ส.ค.64
โดยหนังสือฉบับนี้ ได้เน้นย้ำให้ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง (ดูหนังสือประกอบ)
ขณะที่ สปสช. มีหนังสือแจ้งรพ.ราชวิถี ที่ สปสช. 6.70/15845 ลงวันที่ 1 สค.64 ปรับข้อกําหนดการจัดซื้อชุดตรวจฯ พร้อมแนบข้อกําหนดฉบับที่แก้ไขแล้ว
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า เกี่ยวกับการจัดซื้อชุดตรวจโควิดครั้งนี้ ทาง สปสช. มีความต้องการที่จะใช้ชุดตรวจยี่ห้อหนึ่ง และมีการไปเจรจาต่อรองราคาจาก 160 บาท จนเหลือ 120 บาทแล้ว และก็หวังว่าว่าจะได้ชุดตรวจชุดนี้ เพราะทั้งอนุกรรมการฯ กรรมการฯ สปสช. ต่างก็อนุมัติ และส่งเรื่องไปยังองค์การเภสัชฯ แล้ว
แต่ปรากฎว่า เมื่อผู้บริหารระดับสูงของ สธ. ทราบเรื่อง และมองว่าเนื่องจากมีจำนวนผู้ขายสินค้าชนิดนี้ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ในประเทศไทยถึง 29 ราย การจัดซื้อไม่สามารถใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้ จึงกำหนดให้ใช้กระบวนการประกวดราคาเท่านั้น เพราะนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้เกิด “การแข่งขัน”
หลังจากนั้น องค์การเภสัชกรรม ได้มีหนังสือ ที่ สธ 5100/977 ลงวันที่ 2 ส.ค.64 ถึงโรงพยาบาลราชวิถี ติดตามข้อกําหนด (TOR) เนื่องจากทาง รพ.ราชวิถี และ สปสช. แจ้งว่ามีความต้องการเร่งด่วน จึงขอติดตาม TOR ที่มีการทบทวน
ต่อมา โรงพยาบาลราชวิถี ได้มีหนังสือถึงองค์การเภสัชกรรม ที่ สธ 0308/6468 ลงวันที่ 2 ส.ค.64 แจ้งเรื่องสปสช.แจ้ง ปรับข้อกําหนดชุดตรวจฯ ดังกล่าว
แต่ในเวลาต่อมา องค์การเภสัชกรรม ได้มีหนังสือ ที่ สธ 5100/1017 ลว. 5 ส.ค.64 ถึงโรงพยาบาลราชวิถี กรณีบริษัททักท้วง ข้อกําหนดชุดตรวจฯ ระบุสาระสำคัญว่า
องค์การเภสัชกรรม อยู่ระหว่างการจัดซื้อชุดตรวจ โดยจะเชิญบริษัทเอกชนที่ผ่านการรับรองมาตราฐานจาก อย. มาเสนอราคามีกำหนดยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 แต่เนื่องจากมีบริษัททักท้วง ข้อกำหนดในข้อ 3.3 และข้อ 3.6 จำนวน 2 บริษัท จึงขอให้ สปสช.ที่เป็นผู้ออกข้อกำหนด พิจารณาประปัญหาดังกล่าว และแจ้งผลการพิจารณาให้ อภ. ทราบ ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ก่อนเวลา 12.00 น.
ขณะที่ สปสช. มีหนังสือ ที่ สปสช.6.70/16587 ลว. 6 ส.ค.64 แจ้ง รพ.ราชวิถี ชี้แจงเหตุผลตามข้อทักท้วง และทางรพ. ราชวิถี ได้ทําหนังสือแจ้งไปยังองค์การเภสัชกรรม ตามหนังสือ ที่ สธ 0308/6717 ลว. 10 ส.ค.64 เป็นทางการ
ระบุข้อเสนอใน 2 ประเด็นหลัก คือ
ประเด็นที่ 1. การออกข้อกำหนดตามข้อ 3.3 ซึ่งกำหนดว่า "สามารถใช้ตัวอย่างตรวจเป็น Nasal / Nasopharyngeal swab" เห็นด้วยว่า ชุดตรวจ self-test kit ต้องเก็บตัวอย่างจาก Nasal ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด แต่การออกข้อกำหนดนั้น หมายความว่า อุปกรณ์เก็บตัวอย่างในชุดตรวจสามารถใช้อุปกรณ์จาก Nasal หรือ Nasopharynx ก็ได้ ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS Co V-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigentest self-test kits) พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564
ประเด็นที่ 2 การออกข้อกำหนดตาม ข้อ 3.6 "มีรายงานจากโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย โดยชุดตรวจให้ความไว (Sensitivity) ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90 และความจำเพาะ (Specificity) ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 97 "
คณะทำงานฯ มีความเห็นเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 การกำหนดให้มีรายงานจากโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยนั้น เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดแบบคำขอ รายการเอกสารหลักฐานประกอบ การยื่นคำขอ และแบบใบรับรองการประเมินเทคโนโลยีของชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-COV-2 (เชื้อก่อโรค COVID -19) ลงวันที่ 11 มกราคม 2564 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ได้กำหนดรายการเอกสารประกอบการยื่นคำขอประเมินเทคโนโลยี ในข้อ 3.4.4 ความว่า "เอกสารรายงานผลการศึกษาประสิทธิภาพทางคลินิก (clinical performance) ในประเทศไทย" รายการดังกล่าวนี้ แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา อย. กำหนดให้ใช้รายงานผลการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ อย่างไรก็ตาม ข้อ 3.4 วรรคสอง กำหนดว่าถ้าเป็นกรณีผู้จดทะเบียนสถานประกอบการผลิต หรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-COV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจน ซึ่งได้รับใบรับรองการประเมินเทคโนโลยีอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ หากประสงค์จะยื่นขอให้มีวัตถุประสงค์เป็นชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS COV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) ให้ยกเว้น ไม่ต้องยื่นเอกสารตามข้อ 3.4.4 แต่ต้องยื่นเอกสารรายงานผลใบรับรองการประเมินเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม ก่อนประกาศนี้มีผลบังคับใช้แทน
กรณีที่ 2 การกำหนดชุดตรวจให้ความไว (Sensitivity) ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 90 และความจำเพาะ (Specificity) ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 97 กรณีข้อทักท้วงนี้หากผู้ขายอ้างว่าข้อกำหนดของ อย. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 นั้น เห็นด้วยว่า การจะปรับปรุงข้อกำหนดในส่วนนี้ย่อมทำให้ได้ชุดตรวจที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม จึงไม่ขัดข้องหากจะมีการปรับเป็นไปตามที่ อย.กำหนด
สปสช. ยังระบุด้วยว่า อนึ่ง จากความเห็นดังกล่าวข้างต้นเป็นความเห็นประกอบในการพิจารณาในการกำหนด การจัดซื้อชุดตรวจ Antigen self-test kits สปสช. ขอเสนอว่าการที่โรงพยาบาลราชวิถี และ/หรือ องค์การเภสัชกรรมจะพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรนั้น หากการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ ในการจัดหาฯ รวมถึงได้คำนึงถึงความเร่งด่วนในการได้มาซึ่งชุดตรวจ เพื่อใช้ได้ทันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ขอให้โรงพยาบาลราชวิถี และ/หรือ องค์การเภสัชกรรมได้พิจารณา ตามอำนาจหน้าที่ และหรือตามที่เห็นสมควรและดำเนินการต่อไป
หลังจากนั้น องค์การเภสัชกรรม ได้ดำเนินการขั้นตอนการประกวดราคา โดยใช้วิธีการคัดเลือก และได้มีหนังสือถึงโรงพยาบาลราชวิถี ตามหนังสือ ที่ สธ 5102/ตร96/2564 ลงวันที่ 13 ส.ค.64 แจ้งผลการจัดหา โดยบจก.ออสแลนด์ แคปปิตอล เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้
จากข้อมูลทั้งหมด สำนักข่าวอิศรา สามารถสรุปข้อมูลและข้อสังเกตสำคัญได้เป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
หนึ่ง. สปสช. ในฐานะเจ้าของงบประมาณ มีความต้องการที่จะใช้สินค้ายี่ห้อหนึ่ง โดยมีการไปเจรจาต่อรองราคาจาก 160 บาท จนเหลือ 120 บาทแล้ว แต่เนื่องจากไม่ดำเนินการจัดซื้อเอง เพราะ สตง. เคยวินิจฉัยว่า สปสช. ไม่สามารถจัดซื้อด้วยตัวเองได้ และกลายเป็นที่มาของคำสั่ง คสช.เมื่อปี 2560 ที่ไม่ให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อและเวชภัณฑ์อีกต่อไป มติบอร์ด สปสช. จึงส่งเรื่องไปยังเครือข่ายโรงพยาบาลราชวิถี และส่งต่อไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้ทำหน้าที่จัดซื้ออีกที
ข้อสังเกต คือ การเจาะจงเลือกสินค้า และไปเจรจาต่อรองราคาล่วงหน้าดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่?
สอง. หลังการประกวดราคาที่ไม่ได้ใช้วิธีการเจาะจง แต่ใช้วิธีการคัดเลือก บจก.ออสแลนด์ แคปปิตอล เป็นผู้ชนะ เสนอราคาต่ำสุด อยู่ที่ 65 บาท/ชุด (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ข้อสังเกตสำคัญในส่วนนี้ คือ ข้อมูลสินค้าของบริษัทฯ ถูกตรวจพบว่าหลายประเทศมีการสั่งห้าม หรือเรียกคืนสินค้า
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ตัวแทนจากบจก.ออสแลนด์ แคปปิตอล ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนไปแล้วว่า สินค้ามีประสิทธิภาพ กรณีที่ถูก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration :FDA) ให้ระงับใช้และเรียกคืนชุดตรวจ ATK ของบริษัท Lepu ประเทศจีนนั้น บริษัทฯ ตรวจสอบพบว่า บริษัทผู้ผลิตในประเทศจีน ไม่เคยจำหน่ายชุดตรวจโควิดดังกล่าวในประเทศสหรัฐฯ และไม่เคยยื่นขึ้นทะเบียนกับ FDA แต่อย่างใด โดยสินค้าที่ปรากฏในท้องตลาดจำนวน 200,000 ชิ้นนั้น ถูกนำเข้าจากประเทศอื่นซึ่งไม่ใช่ประเทศของบริษัทฯผู้ผลิต และไม่ได้ส่งจากบริษัทฯผู้ผลิตโดยตรง จึงส่งผลต่อคุณภาพของสินค้า เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้า บริษัทฯ ผู้ผลิต ได้ช่วยทาง FDA ดำเนินการตรวจสอบในส่วนต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสอบการขนส่งของผลิตภัณฑ์ที่ส่งไปยังผู้จำหน่ายต่าง ๆ รวมไปถึงการดำเนินการเรียกคืนสินค้าตามระเบียบของ FDA ขณะที่สินค้าที่นำเข้ามา ผ่านการรับรองจากหลายประเทศ อาทิ สหพันธ์ยุโรป โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และ The Health Security Committee รวมถึง Federal Institude for Drugs and Medical Devices ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางเยอรมัน หน่วยงาน Bundesinstitut für Arzneimittel und Medizinprodukte (BfArM)
ขณะที่การใช้งานของบุคคลทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ในเดือน เม.ย.2564 มีผลการศึกษาและทดสอบตามลำดับ ดังนี้ ในเดือน เม.ย.2564 ความไวในการวินิจฉัยคือ 91.30% และความจําเพาะ 100% และในเดือน มิ.ย.2564 ความไวในการวินิจฉัยคือ 95.90% และความจําเพาะ 100%
แต่มีข้อมูลในส่วน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวว่าได้มีการเรียกคืนชุดตรวจโควิด-19 ที่ผลิต โดย BEIJING LEPU MEDICAL TECHNOLOGY CO., LTD ด้วย จากชุดตรวจทั้งหมด 11 รายการ เนื่องจากไม่ได้รับการชี้แจงข้อมูลด้านเอกสารในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพจากบริษัทที่เป็นผู้นำเข้า
ข้อเท็จจริงส่วนนี้ ยังไม่มีคำชี้แจงเป็นทางการต่อสาธารณะออกมาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีกรณี ผู้บริหาร บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) ตัวแทนจำหน่ายชุดตรวจโควิด ATK และนำสินค้าเข้าร่วมการประกวดราคาดังกล่าว ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องความสัมพันธ์กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเพื่อนเรียนหลักสูตร วปอ. รุ่น 61 และก่อนหน้าการประกวดราคางานจัดซื้อชุดตรวจโควิด ในวันที่ 10 ส.ค.2564 ในช่วงวันที่ 9 ส.ค.2564 มีข่าวปรากฏว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ได้รับมอบชุดตรวจโควิด ATK (Antigen Test Kit) 6,461 ชุด มูลค่า 1,260,000 บาท จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (วปอ.) รุ่นที่ 61 โดยมี พลโท นักรบ บุญบัวทอง ที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย และคณะ เป็นผู้แทนด้วย
ซึ่งประเด็นนี้ แหล่งข่าวใกล้ชิดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า นายอนุทินไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการจัดซื้อชุดตรวจโควิด จำนวน 8.5 ล้านชุดดังกล่าว และเมื่อเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม นายอนุทินก็เป็นผู้สั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการจัดซื้อว่ามีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบครบถ้วนหรือไม่แล้วให้เร่งชี้แจงต่อสาธารณชนโดยเร็วด้วย
"วปอ. 61 ลงเงินรุ่น 1.5ล้านบาท ซื้อมาบริจาคให้กระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่บริษัทฯ ให้ฟรีและไม่ใช่ในนามบริษัทไม่ว่าอย่างไร สินค้าบริษัทฯ ผ่านข้อกำหนดและที่สำคัญที่สุดคือประกวดราคามาต่ำที่สุด เราก็เพียงยึดความถูกต้อง" แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่ ผู้บริหาร บริษัท ณุศาศิริ (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงข้อมูลการร่วมประกวดราคาโครงการ ฯ นี้ว่า บริษัท ณุศาศิริฯ มีทุนจดทะเบียนกว่า 7,641 ล้านบาท และมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำเข้าชุด ATK มาให้รัฐบาลได้ทันตามกำหนด โดยราคาประมูลที่แต่ละบริษัทได้ยื่นซองเข้าประมูลงานนั้นไม่แตกต่างกันมาก แต่ณุศาศิริ ชนะการประมูลคู่แข่งในราคาที่ต่ำกว่ากันเพียง 2 บาท และ ATK ที่เข้าประมูล ราคาต่อชิ้นไม่ถูก แต่ทางบริษัทฯ จัดซื้อในปริมาณมากถึง 8.5 ล้านชิ้น จากที่เคยนำเข้าจำนวนหลักแสนชิ้นจึงได้ราคาต่อชิ้นที่ต่ำลง เพราะยิ่งสั่งซื้อในปริมาณที่สูงมาก ยิ่งสามารถต่อรองราคากับโรงงานได้ นอกจากนี้ บริษัท ณุศาศิริฯ ยังมีแผนรุกธุรกิจด้านการแพทย์ สุขภาพ และเทคโนโลยี ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานในอนาคตและพัฒนธุรกิจด้านสุขภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลพานาซีเยอรมนี และพบว่า ในประเทศเยอรมนีและอีกหลายประเทศในยุโรป มีการใช้และวางจำหน่าย ชุดตรวจโควิดของบริษัท Lepu อย่างแพร่หลาย และได้รับใบรับรองจากสมาคมวัคซีนของเยอรมันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับรองมาตรฐานจาก EU ในขณะที่ประเทศไทย บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้นำเข้ามาทำตลาด ณุศาศิริ จึงได้ติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อเสนอขายกับหน่วยงานต่างๆ และผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทฯ ดังกล่าว
ส่วนคำชี้แจงทั้งหมด ของแต่ละฝ่ายจะมีหนักน้ำเพียงพอหรือไม่ คงต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานตรวจสอบที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ที่จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกันอีกครั้งกันต่อไป
รวมถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจำนวน 5 ราย ซึ่งมีชื่อนายอนุทินอยู่ด้วย ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ก็น่าจับตามองว่าจะมีหลักฐานข้อมูลสำคัญมากน้อยเพียงใด
แต่ไม่ว่าอะไรผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร
สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปแล้วในขณะนี้ ที่ดูเหมือนจะไม่มีใครเปลี่ยนแปลงอะไรได้
คือ ประชาชนคนไทย ต้องเสียโอกาส เป็นฝ่ายรับเคราะห์กรรม
จากความล่าช้าในภารกิจจัดซื้อชุดตรวจโควิด จำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อนำมาใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายนี้ไปเรียบร้อยแล้ว
อ่านข่าวประกอบ :
ร้อง 'องค์การเภสัชฯ' จัดซื้อชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านSET กระชั้นชิด (1)
หลังฉาก! อภ.ซื้อชุดตรวจโควิด 595 ล้าน บ.ชนะยื่นซอง 65 บ.-FDA สั่งระงับสินค้าผู้ผลิตจีน? (2)
แจ้งงบการเงินขาดทุน 3 ปีติด! ส่อง Google Maps ดูที่ตั้ง บ.ผู้ชนะขายชุดตรวจโควิด 595 ล. (3)
ปลัด สธ.สั่งชะลอทำสัญญา-สอบคุณภาพชุด ATK อภ.แจงสหรัฐฯระงับใช้ เหตุสินค้าถูกลักลอบนำเข้า (4)
ข้อมูลใหม่! อิศรา คุ้ยเจอ อย.ฟิลิปปินส์ เรียกคืนชุดตรวจโควิดยี่ห้อเดียว อภ.จัดซื้อ (5)
อย.แจงชุดตรวจ ATK บริษัท Lepu ได้มาตรฐาน - อภ.ยันประมูลโปร่งใส ไม่มีการล็อกสเปก (6)
ได้มาตรฐาน-ไม่ล็อกสเปก! เปิดคำชี้แจง 3 หน่วยงาน แผนจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น (7)
ก่อนเปิดซองชุดตรวจโควิด 1 วัน! วปอ.รุ่น 61 นำสินค้า บ.ออสท์แลนด์ บริจาค 'อนุทิน -สธ.' (8)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage