‘ผู้สังเกตการณ์’ โครงการรถไฟทางคู่ ‘สายเหนือ-อีสาน’ เผยเคยค้าน รฟท. เปลี่ยน ‘กติกา’ กีดกัน ‘รับเหมารายกลาง’ เปิดทางเฉพาะ 5 บริษัทใหญ่เข้าร่วมประมูล ขณะที่ เลขาธิการ ACT ชี้อย่าเพิ่งด่วนสรุป ‘ไม่มีการโกง’
..........................
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง 'การประมูลรถไฟทางคู่ ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ!!' โดยผู้เข้าร่วมเสวนาระบุว่า แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายอีสาน สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มูลค่า 1.28 แสนล้านบาท มีการทุจริตหรือไม่ แต่ปรากฏว่ามีการเขียนกติกาประมูลที่ตัดโอกาสไม่ให้ผู้รับเหมารายย่อยเข้าร่วมการแข่งขัน
นายประจักษ์ ทรัพย์มณี ผู้สังเกตการณ์โครงการรถไฟทางคู่ กล่าวว่า แม้ว่าการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน จะมีความโปร่งใสภายใต้กรอบและนโยบายที่กระทรวงคมนาคมกำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดทำและดำเนินการ แต่การกำหนดกรอบประมูลดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาว่า ผู้ประมูลรายย่อยไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ และที่ผ่านมาคณะผู้สังเกตการณ์มีข้อทักท้วงไปแล้ว แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
@รฟท.เปลี่ยนกติกากีดกันรายกลาง-เอื้อ 5 บริษัทใหญ่
นายประจักษ์ ระบุว่า หลังจากคณะผู้สังเกตการณ์ทั้ง 3 คน ได้เข้าร่วมประชุมการจัดทำร่างทีโออาร์ 3-4 ครั้ง คณะผู้สังเกตการณ์ไม่เห็นด้วยกับ รฟท. ที่ยกเลิกกติกาที่คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (คกจ.) หรือ ‘ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง’ จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งแยกงานก่อสร้างเป็นสัญญาย่อยๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายกลางเข้าร่วมประมูลได้ และเปลี่ยนกติกาประมูลไปเป็นให้รวมงานโยธา งานระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณเข้าด้วยกัน
เพราะการกำหนดกติกาดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการรายกลางไม่มีสิทธิเข้าร่วมประมูล หรือแม้แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เนื่องจากต้องมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งพบว่ามีเพียง 5 รายเท่านั้น ที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ นอกจากนี้ ที่ผ่านมางานโครงการรถไฟทางคู่ส่วนใหญ่จะเป็นงานโยธา เช่น การทำคันทาง สะพาน อาคารสถานี อุโมงค์ ที่สามารถแยกเป็นโครงการย่อยๆ ให้ผู้รับเหมารายกลางเข้ามาดำเนินการได้
“ต่อไปยังจะมีโครงการอีกเยอะแยะเลย ผมเลยถามว่าคุณจะให้มีผู้เข้าประมูลเพียงแค่นี้หรือ เพราะมันจะทำให้ประเทศไทยถูกจำกัดอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ 5-6 บริษัทเท่านั้นเอง” นายประจักษ์กล่าว
ขณะเดียวกัน คณะผู้สังเกตการณ์ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของ รฟท. ที่อ้างนโยบาย ‘Thai First’ ของกระทรวงคมนาคม โดยบอกว่าเนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้เงินกู้ในประเทศ จึงต้องให้บริษัทไทยเข้าประมูลเท่านั้น เพราะการกีดกันไม่ให้บริษัทต่างประเทศเข้ามา จะทำให้ประเทศไทยขาดการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะการลงทุนระบบรางบางเรื่องซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไทยยังไม่เก่ง
“เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เรามีนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ คล้ายๆ Thai First แต่สุดท้ายไปไม่รอด ยิ่งปกป้องมาก อุตสาหกรรมก็ยิ่งอ่อนแอลง เพราะทำไมเขาต้องแข่งขันล่ะ ในเมื่อรัฐบาลปกป้องเขาอยู่แล้ว อันนี้ก็เช่นกัน ถ้าปกป้องให้มีแค่ 4-5 บริษัทนี้เข้ามา สุดท้ายวงการก่อสร้างของเราจะอ่อนแอ แทนที่ทำให้บริษัทต่างชาติเข้ามา แล้วให้บริษัทไทยเรียนรู้ และสุดท้ายบริษัทไทยก็จะเก่งกว่า” นายประจักษ์ กล่าว
นายประจักษ์ ยังเห็นว่า เนื่องจากประไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างงานระบบอาณัติสัญญาณ จึงควรแยกการประมูลส่วนนี้ออกจากงานวางระบบราง และให้บริษัทต่างชาติเข้าร่วมประมูลด้วย
นายประจักษ์ กล่าวถึงการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือ ซึ่งมี 3 สัญญา และทีโออาร์กำหนดให้ผู้รับเหมาเสนอผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบอาณัติสัญญาณ 2 ยี่ห้อต่อสัญญา ว่า หากในแต่ละสัญญา ผู้รับเหมาเสนอมาระบบอาณัติสัญญาณมา 2 ยี่ห้อ รวมแล้ว 3 สัญญา จะมีผลิตภัณฑ์ระบบอาณัติสัญญาณ 6 ยี่ห้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในเชื่อมระบบอาณัติสัญญาณในแต่ละยี่ห้อ หากเชื่อมกันไม่ได้ก็จะมีปัญหา รวมทั้งจะเกิดปัญหาเรื่องการบำรุงรักษาตามมาอีก
@ไม่ฟันธงการประมูลไม่โปร่งใส-แต่ต้องแจงข้อสงสัยของสังคม
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า คงบอกไม่ได้ว่าการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานโปร่งใสหรือไม่ เพราะไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ชัดว่าการประมูลไม่โปร่งใส แต่มีประเด็นข้อสงสัยที่ รฟท. ต้องมีคำตอบให้สังคม เช่น ผลการประมูลที่ราคาที่เอกชนเสนอมาต่ำกว่าราคากลางเล็กน้อย ต่างจากโครงการรถไฟทางคู่ในอดีตที่มีการแข่งขันและได้ราคาถูกลง 10-20%
“เราคงไม่สามารถฟันธงได้ว่าไม่โปร่งใส เพราะต้องมีหลักฐานที่ชี้ชัดว่ามีความไม่โปร่งใส แต่ผลที่ออกมา มีประเด็นที่เป็นข้อข้องใจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผลที่ออกมาอย่างนี้เกิดจากอะไร” นายสุเมธ กล่าว
นายสุเมธ กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน มูลค่า 1.28 แสนล้านบาทนั้น หากสร้างแล้วได้คุณภาพดี ใช้ได้ดี ก็มีความคุ้มค่า แต่หากสร้างมาแล้วใช้งานไม่ได้ หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมา ก็อาจไม่คุ้มค่า แต่ประเด็นสำคัญ คือ ตนเห็นด้วยกับความเห็นของซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างฯ ที่เห็นว่าควรให้มีการจัดจ้างผู้บริหารโครงการ (PMC) ที่มีคุณภาพสูงมาบริหารจัดการการโครงการ
“ผมอยากเน้นให้เห็นความสำคัญของวิศวกรที่ปรึกษา หรือที่เรียกว่าบริษัทที่ปรึกษา เพราะการยกร่างทีโออาร์ การออกแบบ และการควบคุมงาน ต่างก็ต้องใช้บริษัทที่ปรึกษา บริษัทที่ปรึกษาจึงเป็นผู้เล่นที่สำคัญในกระบวนการเกือบทั้งหมด ซึ่งหลายครั้งโครงการที่มีความซับซ้อนสูง การใช้บริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะบริษัทเหล่านี้มีความซื่อตรงต่อกระบวนการได้ดี และทำให้ได้โครงการที่ดีมีคุณภาพตั้งแต่ต้นจนจบ” นายสุเมธกล่าว
นายสุเมธ ยังระบุว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่นั้น ทางหนึ่ง คือ การออกมาตรการมาป้องกัน และมีกระบวนการที่ทำให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ส่วนที่ต้องคิดด้วย คือ หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะหากไม่มีการแข่งขัน ก็จะไม่มีผู้เล่นรายใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดได้ และเมื่อไม่มีการแข่งขัน ต้นทุนก็ไม่ลดลง
@เตือนเจ้าหน้าที่ทำตาม ‘นายสั่ง’ หากผิดกม.ฮั้วมีโทษจำคุก
นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) กล่าวว่า ในการประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายอีสานและสายอีสาน แม้ว่าที่ผ่านมาผู้บริหารของหน่วยงานเจ้าของโครงการจะออกมาบอกว่า ทำตามระเบียบ กฎเกณฑ์ ยังไม่มีความผิดอะไรที่มีหลักฐาน หรือบอกว่าคิดกันไปเองบ้าง แต่ปัจจุบันมีกฎหมายที่บอกว่า แม้ยังไม่เห็นความผิด แต่มีคนบอกว่าไม่ควรทำ แล้วยังดันทุรังทำ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องติดคุกก็ได้
“ราคาประมูลที่ต่ำเตี้ย เฉียดฉิวกับราคากลาง ชนะกันเพียง 0.08% มีคนบอกว่าอาจผิดพ.ร.บ.ฮั้ว (พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542) โดยเฉพาะมาตรา 10 ที่ระบุว่า ถ้ารู้ว่าจะไม่ดี หรือควรจะรู้ว่าไม่ดี แล้วยังทำ จะมีความผิดฐานกระทำผิดต่อหน้าที่ มีโทษติดคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 1-2 แสน ดังนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ใดอนุมัติก็จะมีความผิด ซึ่งรวมถึงนายกฯด้วย ถ้าอนุมัติท่านจะต้องโดนด้วย” นายต่อตระกูล กล่าว
นายต่อตระกูล ระบุว่า จากการทำวิจัยเรื่องการประมูลแบบอี-ออคชั่น หากเป็นการประมูลที่มีการแข่งขันจะไม่มีทางที่ราคาประมูลจะเฉียดฉิวกันอย่างนี้ แต่หากเป็นการประมูลที่มีผู้แข่งขันน้อยราย เช่น ผู้มีแข่งขัน 2 ราย ราคาจะเฉียดฉิวกันในลักษณะนี้ ดังนั้น จุดอ่อนของการประมูลแบบอี-ออคชั่น คือ เปิดให้มีการฮั้วกันโดยถูกกฎหมาย และผู้รับเหมาชอบการประมูลวิธีนี้มาก โดยเฉพาะเมื่อมีผู้เข้าประมูลไม่กี่ราย
“อุตส่าห์เขียนรัฐธรรมนูญว่า เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง สั่งให้เปิดเผยข้อมูลอะไรต่างๆ แต่ถ้าครั้งนี้ปล่อยให้ทำได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่มีประโยชน์เลย” นายต่อตระกูล ระบุ
นายต่อตระกูล ยังกล่าวว่า อยากเตือนไปยังพวกวิศวกรหรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในหน่วยงานว่า ที่มีการพูดว่าหากทำตามที่นายสั่งแล้วจะไม่มีโทษนั้น ในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่เกิดเรื่องขึ้นมา พวกผู้ใหญ่จะหนีกันหมด ทำให้เพื่อนของตนเองที่เป็นวิศวกรต้องติดคุกกันไปหลายคนแล้ว จึงอยากเตือนไปยังคนทำงานที่คิดว่าผู้มีอำนาจจะช่วยเหลือนั้น เพราะเวลามีเรื่องแล้ว ผู้มีอำนาจเหล่านี้จะหนีกันไปหมด
นอกจากนี้ นายต่อตระกูล ยังเรียกร้องให้ กระทรวงคมนาคม และรฟท. เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟทางคู่ดังกล่าว และข้อมูลที่เปิดเผยนั้น ต้องเป็นข้อมูลที่ประชาชนต้องการจะทราบ และต้องไม่ใช่การตอบที่ไม่ตรงกับคำถาม
@อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไม่มีโกง-จี้ ‘คมนาคม’ แจงเหตุผลเปลี่ยนกติกา
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดูเหมือนว่าการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานจะมีความโปร่งใส แต่เป็นความโปร่งใสภายใต้กรอบนโยบายของนักการเมืองและกระทรวงคนนาคม ซึ่งหากย้อนกลับไปดูในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าโครงการนี้ถูกสังคมตั้งคำถามเป็นอย่างมากว่า มีการทำอะไรที่ไม่ตรงมาตรงไปหรือไม่ ดังนั้น อย่าเพิ่งด่วนสรุปหรือพูดว่าไม่มีการโกงกัน
“เราได้ยินมามาก แม้แต่เสาไฟฟ้ากินรี เขาจะพูดเหมือนกันว่า ทุกอย่างเป็นการประมูล โปร่งใส มีคณะกรรมการ มีอี-ออคชั่น ถูกขั้นตอน เป็นไปตามระเบียบ แล้วจะว่าโกงได้อย่างไร รถไฟก็เหมือนกัน อย่าเพิ่งสรุปว่าไม่มีโกง เพราะถ้ายังไม่มีการเปิดข้อมูลให้คนเห็น มีการตรวจสอบจริงจัง เรายังไว้ใจไม่ได้
และอย่าลืมว่าโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ ต่างชาติเขาเห็น มีประชาชนทักท้วงมากมาย แล้วยังปล่อยออกไปได้ จะทำให้ต่างชาติและนักลงทุนตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยมีมาตรฐานในการลงทุนอย่างไร ซึ่งจะเสียภาพลักษณ์ของประเทศ แล้วพอถึงสิ้นปีเวลามีการประเมินดัชนีดัชนีคอรัปชั่น (CPI) ถ้าประเทศไทยคะแนนตกลง คะแนนไม่ขึ้น ก็อย่าไปโทษใคร” นายมานะกล่าว
นายมานะ กล่าวว่า วันนี้ สิ่งที่คนกำลังพูดคุยเกี่ยวกับการประมูลรถไฟทางคู่ทั้ง 2 โครงการ ไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่เป็นเรื่องว่าทำไม รฟท.จึงเปลี่ยนกติกาการประมูลที่นำไปสู่ข้อกังขาว่า มีการฮั้วประมูลหรือไม่ และที่ผ่านมาเราไม่เห็นผู้บริหารของ รฟท. หรือรัฐมนตรีเจ้าของเรื่อง ที่ทำเรื่องเข้า ครม. ขอยกเลิกมติ ครม. ที่กำหนดให้การประมูลต้องทำตามข้อเสนอของซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง ออกมาชี้แจงว่า ทำอย่างนั้นเพื่ออะไร แล้วไปให้นโยบายอะไรกับการรถไฟฯบ้าง
“สมมุติว่า ถ้าผมเป็นคนโกงในโครงการเมกะโปรเจกต์ สิ่งที่ผมจะทำ คือ เวลาคนมาตั้งคำถามเยอะ ถามกันทั้งแผ่นดิน ผมจะไม่พูด แต่ผมจะส่งวิศวกรไปพูด ให้ไปพูดศัพท์แสงทางเทคนิค และถ้าเรียกเอกสาร ผมจะให้เอกสารไปเป็นกล่องๆ ดูซิว่าจะมีปัญญาอ่านไหม เพราะถ้าถามผม เดี๋ยวผมหลุด แต่ถ้าไปถามวิศวกร เขาจะพูดตามตำรา ซึ่งมีเทคนิคมากมาย คนทั่วไปงง
อันที่สอง ถ้าผมเป็นคนโกง และผมฮั้วได้ สิ่งที่ผมจะทำ ไหนๆจะต้องจ่ายอยู่แล้ว ถ้าตั้งราคากลางมา 2 หมื่นล้าน ผมก็ประมูลมา 19,999 ล้านบาท เพราะไหนๆก็จ่ายตังก์แล้ว ไม่มีใครมาเล่นงานผม แล้วเงินที่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็เอาไปจ่ายเงินจ่ายทองคนที่ช่วยผมฮั้ว ช่วยผมทำโน่นทำนี่ ผมจะได้มีกำไรเยอะ ซึ่งผมเองติดตามโครงการมาเยอะและเจอแบบนี้ เช่น การจัดซื้อมอเตอร์ไซด์ของตำรวจเมื่อหลายปีที่แล้ว ตัวเลขพันกว่าล้าน แต่ลดราคาไป 0.01%” นายมานะระบุ
นายมานะ ย้ำว่า หากโครงการลงทุนของรัฐโครงการใด มีการแข่งขันน้อย จะทำให้ภาครัฐต้องตั้งกรอบวงเงินลงทุนโครงการสูง และทำให้ค่าใช้จ่ายอื่นๆสูงตามไปด้วย เช่น ค่าออกแบบ ค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงาน ที่สำคัญหากขาดการตรวจสอบเรื่องการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะเป็นภาระการเงินของรัฐบาล ซึ่งก็คือการเอาภาษีของประชาชนไปจ่าย และอย่าพูดว่าเป็นเงินของการรถไฟฯ เพราะสุดท้ายก็คือภาษีของประชาชน และถ้าใช้เงินมากๆ ค่าบริการจะแพง
อ่านประกอบ :
ย้อนปมรื้อสัญญารถไฟทางคู่! ‘เหนือ-อีสาน' 1.28 แสนล. ซัดทีโออาร์ส่อผิด กม.ฮั้ว?
ACT ร่อนแถลงการณ์จี้ 'บิ๊กตู่' สั่งทบทวนประมูลรถไฟทางคู่ 'สายเหนือ-อีสาน' 1.28 แสนล.
'ทีโออาร์' ประมูลรถไฟทางคู่ 1.28 แสนล. แหก ‘มติ ครม.-ซูเปอร์บอร์ด’ เอื้อประโยชน์ใคร?
เซ็นคำสั่งลับ! ‘บิ๊กตู่’ ตั้งกก.สอบประมูลรถไฟทางคู่ ‘สายเหนือ-อีสาน’ 1.28 แสนล้าน
รฟท.แจงประมูลรถไฟสาย 'เหนือ-อีสาน' : กล่าวหาแบ่งเค้ก-ฮั้วราคา เป็นเรื่องของการคาดเดา
ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ ชั่วร้ายยิ่งกว่าโกงซึ่งๆ หน้า
รฟท.ย้ำประมูลรถไฟ ‘เด่นชัย-เชียงของ’ 7.29 หมื่นล้าน 'โปร่งใส-ราชการไม่เสียประโยชน์'
เทียบชัดๆ! ประมูลรถไฟทางคู่แสนล้าน ยุค ‘ศักดิ์สยาม’ ประหยัดแค่ 108 ล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage