"...แนวคิดที่ว่า “ถ้าเสี่ยงแล้วห้ามไปเสียทั้งหมด” อาจจะไม่ใช่แนวคิดในการกำกับดูแลอีกต่อไป กล่าวคือ หากเป็นเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และมีวิธีการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะไม่ปิดกั้นทั้งหมดหรือไม่ปิดกั้นในทันที หากแต่จะร่วมเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งสนับสนุนและสร้างโอกาสให้สิ่งนั้นเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป..."
..................................
หมายเหตุ : ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บรรยายหัวข้อ “ภูมิทัศน์การเงินไทยในอนาคต” งาน “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดินพันเปลี่ยนอนาคต” จัดโดย นสพ. ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565
วันนี้ดิฉันขอแบ่งเนื้อหาการพูดคุยเป็น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่
หนึ่ง “ภาพฝัน” ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมองไว้อย่างไร โดยจะกล่าวสั้น ๆ ถึงเอกสารที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งเสนอต่อสาธารณชนไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ หรือที่เราเรียกกันว่า Financial Landscape Consultative Paper ครอบคลุมกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เห็นอยู่ โดยเฉพาะกระแสดิจิทัล ซึ่งมีประโยชน์ในเชิงเทคโนโลยีและเราต้องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว
สอง มุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เฉพาะเจาะจงกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในเชิงประโยชน์และความท้าทาย รวมทั้งตัวอย่างมุมมองของผู้กำกับดูแลในต่างประเทศ
สาม แนวทางการกำกับดูแลธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำมาใช้กับธนาคารพาณิชย์และกลุ่มธุรกิจที่มีธนาคารพาณิชย์รวมอยู่ เพราะเมื่อเห็นโอกาสและเห็นความเสี่ยงแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องมีหลักคิดในการกำกับดูแลเวลาธนาคารพาณิชย์มาขอเข้าไปทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเราอยากให้ความเกี่ยวข้องนั้นอยู่ในระดับที่พอดี ไม่ปิดหรือเปิดรับความเสี่ยงจนเกินไป และ
สี่ ความคาดหวังจากแนวทางการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่กล่าวมา
“ภาพฝัน” ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยที่ ธปท. มองไว้เป็นอย่างไร
ภูมิทัศน์การเงินหรือ Financial Landscape เป็นเอกสารที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแพร่ออกไปไม่นานมานี้ เพื่อนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการกำกับภาคการเงินในเชิงขอหารือกับผู้เกี่ยวข้อง โดยชี้ให้เห็นถึงแรงผลักสำคัญที่เกิดจากกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ที่รวดเร็วและเป็นพลวัตร นำมาซึ่งโอกาสและความเสี่ยงของ
ผู้ที่เกี่ยวข้อง คำถามคือ เราจะเก็บเกี่ยวโอกาสนี้ได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงไม่ตกขบวน โดยมีความท้าทายคือการใช้โอกาสอย่างเหมาะสม ถูกที่ถูกเวลา ภายใต้หลักคิด “รับผิดชอบและยั่งยืน” ขอเรียนโดยสรุปว่าธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุนการสร้างความยืดหยุ่นในการนำเทคโนโลยีและนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน เพื่อลดช่องว่างและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการให้ดีขึ้น ภายใต้หลักการ 3 เปิดกว้าง คือ
หนึ่ง เปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากขึ้น
สอง เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และ
สาม เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล
แต่แน่นอน นอกจากประโยชน์แล้ว ก็มีความเสี่ยงหรือความท้าทายตามมา การใช้เทคโนโลยีก็เช่นกัน โดยเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับความเสี่ยงก็จะต้องมีการดูแลอย่างเหมาะสม ทั้งในระดับ micro หรือระดับผู้ให้บริการ เช่น ความเสี่ยงทางไซเบอร์ (cyber risk) ความเสี่ยงจากการถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน หรือการสนับสนุนการก่อการร้าย (AML/CFT risk) เป็นต้น และในระดับ macro หรือผลกระทบที่อาจมีต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามภูมิทัศน์ นอกจากการปรับตัวของผู้เล่นและประชาชนแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ต้องปรับแนวคิดในการกำกับดูแลให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในโลกดิจิทัลที่เวลาไม่รอใคร หรือ time to market เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็สวมหมวกอีกใบในฐานะผู้กำกับของภาคการเงินที่ต้องคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ฝากเงินและต้องดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน นำไปสู่ความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่าง “การพัฒนานวัตกรรมกับการดูแลความเสี่ยง”
แนวคิดที่ว่า “ถ้าเสี่ยงแล้วห้ามไปเสียทั้งหมด” อาจจะไม่ใช่แนวคิดในการกำกับดูแลอีกต่อไป กล่าวคือ หากเป็นเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างชัดเจน และมีวิธีการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะไม่ปิดกั้นทั้งหมดหรือไม่ปิดกั้นในทันที หากแต่จะร่วมเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งสนับสนุนและสร้างโอกาสให้สิ่งนั้นเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ลักษณะดังกล่าวเสมือนการกำหนดรั้วกั้นให้แคบหน่อยในช่วงแรก มีประตูเว้นไว้ให้เป็นทางออก และค่อย ๆ ขยับรั้วออกไป จนในที่สุดรั้วอาจจะไม่มีความจำเป็นหากมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถทดแทนได้ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การกำกับดูแลการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ในธุรกิจ FinTech ที่มีการกั้นรั้วในช่วงแรก
โดยกำหนดเพดานการลงทุน (Fintech limit) ไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน แต่เมื่อเวลาผ่านไปธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นประโยชน์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ชัดเจน เช่น มีการนำ biometrics มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการยืนยันตัวตนของลูกค้า เป็นต้น รวมทั้งได้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์มีการลงทุนที่คุ้มค่าและสามารถดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน FinTech ได้อย่างเหมาะสม ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ทำการปลดรั้วดังกล่าวออกไป
ในการกำกับดูแลนวัตกรรมการเงินอื่นก็เช่นกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้แนวทางการกั้นรั้วนี้ ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังที่ดิฉันจะได้เล่าให้ท่านผู้มีเกียรติฟังในลำดับต่อไป
มุมมองของ ธปท. ต่อสินทรัพย์ดิจิทัล
เวทีเสวนาในวันนี้เป็นโอกาสดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในด้านประโยชน์และด้านความเสี่ยง ตลอดจนแนวทางการปรับสมดุลในด้านการกำกับดูแล เพื่อให้ระบบการเงินของเราสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม (จะเปิดหรือจะปิดตรงไหน?)
นอกจากนี้ จะขอเล่าถึงแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้กำกับดูแลในต่างประเทศว่าประเทศไหนเปิดกว้าง ประเทศไหนเหมือนจะเปิดแต่จริง ๆ ก็อาจจะไม่เปิดขนาดนั้น และประเทศไทยอยู่ตรงไหน
ขอเริ่มจากประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็คือ Blockchain หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) ที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ธุรกิจและประชาชนได้อย่างมากมาย เช่น
หนึ่ง เพิ่มประสิทธิภาพของบริการทางการเงิน การใช้ Distributed Ledger Technology สร้าง smart contract เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการทางการเงิน สามารถช่วยลดต้นทุนและขั้นตอนในการทำธุรกรรมที่มีความซับซ้อนได้ เช่น การโอนเงินระหว่างประเทศ โดยสามารถดำเนินการได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีและมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการโอนเงินแบบเดิมมาก เพราะไม่ต้องผ่านธนาคารตัวแทนในต่างประเทศ
สอง เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ ปัจจุบันการออกสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยในประเทศไทยมีการออก investment token เพื่อระดมทุนผ่าน ICO portal เช่น SiriHub ที่ระดมทุนมูลค่ารวม 2,400 ล้านบาท เอาไปลงทุนในอาคารสำนักงาน สิริ แคมปัส นอกจากนี้ มี token ที่รอการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. คือ Destiny Token ที่ระดุมทุนเพื่อสร้างภาพยนต์บุพเพสันนิวาส 2 เป็นตัวอย่าง
สาม เพิ่มช่องทางในการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนของนักลงทุนรายย่อย ด้วยคุณสมบัติของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถแยกหน่วยย่อย (fractional ownership) ได้ ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่มีเงินไม่มากนักสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์มูลค่าสูงและได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของตามสัดส่วนที่ลงทุน เช่น มีเงิน 5 แสนบาทก็สามารถเป็นเจ้าของ 1 ใน 10 ส่วนของคอนโดที่มีมูลค่า 5 ล้านบาทได้
สี่ เพิ่ม engagement ระหว่างภาคธุรกิจและลูกค้า โดยใช้สินทรัพย์ดิจิทัลต่อยอดการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น รวมถึงเพิ่ม engagement หรือความผูกพันระหว่างธุรกิจกับลูกค้า เช่น การให้เหรียญ (token) เพื่อเป็นรางวัลแก่ลูกค้าใน ecosystem ของกิจการหรือร้านค้านั้น ๆ
นอกจากประโยชน์ที่ได้กล่าวมาแล้ว การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลก็มีความเสี่ยงด้วย โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่มีการนำไปใช้เพื่อการเก็งกำไรมากกว่าเพื่อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริง
ในปัจจุบันมี cryptocurrency อยู่มากกว่า 1,500 ชนิด บางเหรียญมาแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว และเหรียญที่เป็นที่นิยมในตลาดก็ล้วนแต่มีอายุไม่ถึง 10 ปีกันทั้งนั้น ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเหรียญเหล่านี้จะอยู่ยงคงกระพันในระยะยาวหรือไม่
นอกจากนั้น cryptocurrency ยังมีราคาที่ผันผวนสูง เช่น ราคาของ Bitcoin สามารถลดลงถึง 50% ภายในเวลา 8 เดือน หรือราคาของ Ethereum ลดลงถึง 30% จากต้นปี และเหรียญที่ผันผวนยิ่งกว่านี้ก็มี
โดยทั่วไปแล้วสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงหลัก 2 ประการ คือ (1) ความผันผวนของมูลค่าตามที่กล่าวเมื่อสักครู่ ซึ่งผู้ถือจะต้องมีความเข้าใจและเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง และ (2) โอกาสที่จะถูกหลอกลวงหรือถูกฉ้อโกง เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลบางส่วนไม่ได้ถูกกำกับดูแลโดยทางการ หรือไม่ได้ดำเนินการผ่านระบบกลางที่มีมาตรฐานร่วม ทำให้สามารถมีการใช้ช่องว่างดังกล่าวใน
การหลอกลวงหรือมีช่องโหว่ซึ่งง่ายต่อการถูกเจาะระบบ โดยจะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ดังนี้
Rug Pull หรือการที่ผู้ให้บริการมีการโฆษณาโครงการสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีผู้สนใจลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่ท้ายที่สุดผู้ให้บริการก็ปิดโครงการและหนีไปพร้อมกับเงินทั้งหมดของนักลงทุน เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 เหรียญ Squid ซึ่งเป็น cryptocurrency ที่ใช้งานบนแพลตฟอร์มสำหรับเล่นเกมล้อเลียนซีรีส์ Squid Game ถูก Rug Pull มีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 70 ล้านบาท
หรือเหตุการณ์ที่ศูนย์ซื้อขาย cryptocurrency ถูกเจาะเข้าระบบและ hacker ได้เหรียญ crypto หรือ token ที่เก็บไว้ในศูนย์ซื้อขายดังกล่าวไป โดยศูนย์ซื้อขายมักจะเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมทุกอย่างไว้ ดังนั้น หากศูนย์ซื้อขายมีความปลอดภัยที่ต่ำกว่ามาตรฐานก็จะมีความเสี่ยงต่อการถูกเจาะระบบ
เช่น กรณี MT. Gox ที่เคยเป็นกระดานซื้อขาย cryptocurrency ที่ใหญ่สุดในโลก โดน hacker ขโมย bitcoin มาหลายปีจนต้องปิดตัวลงเมื่อปี 2557 มูลค่าความเสียหายประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือกรณี Poly Network ถูกเจาะ เข้าระบบเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 มูลค่าความเสียหายมีมากกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความเสียหายอันดับต้น ๆ ในโลก cryptocurrency
นอกจากนี้ ยังอาจมีการใช้ cryptocurrency ทำผิดกฎหมาย เช่น อาชญากรใช้ในการจ่ายค่าไถ่ ฟอกเงิน ทำธุรกรรมในตลาดมืด และสนับสนุนการก่อการร้าย เนื่องจากเห็นว่าการใช้ cryptocurrency จะไม่สามารถระบุตัวตนและไม่ถูกตรวจพบ
-ความเสี่ยงของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ทำให้ผู้กำกับดูแลในต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเข้ามากำหนดแนวทางการกำกับดูแลมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะถูกส่งผ่านไปยังระบบเศรษฐกิจการเงินและกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไป
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าแนวทางการกำกับดูแลของประเทศต่างๆ ยังมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดยมีทั้งประเทศที่ปิดกั้นหรือไม่สนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลเลย จนถึงประเทศที่เปิดกว้างหรือสนับสนุน รวมทั้งมีกลุ่มประเทศที่อยู่กลางๆ บางประเทศที่ท่านผู้มีเกียรติอาจจะคิดว่าเปิดกว้าง แต่จริง ๆ แล้วเขาก็ไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น
กลุ่มที่ปิดกั้นหรือไม่สนับสนุนเลย เช่น ประเทศจีน ซึ่งถือว่า cryptocurrency และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ cryptocurrency เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
กลุ่มที่เปิดกว้างหรือสนับสนุน เช่น สหรัฐอเมริกา ก็ยังเสนอกฎหมายให้การออก stablecoin มาจากสถาบันการเงินที่รับฝากเงินเท่านั้น และให้มี wallet provider ที่จะช่วยให้เกิดการใช้ stablecoin เป็นสื่อกลางการชำระเงินภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ รวมทั้งให้ cryptocurrency ถือเป็นทรัพย์สินหรือหลักทรัพย์ที่ต้องเสียภาษี
และก็มีกลุ่มประเทศที่ค่อนไปทางเปิดกว้างแต่ยังห่วงในเรื่องความเสี่ยงอย่างชัดเจน เช่น สิงคโปร์ ที่ไม่นานมานี้ได้ห้ามการโฆษณาซื้อขาย cryptocurrency ในที่สาธารณะและห้ามจ้าง influencer ทำการโฆษณา ทั้งนี้เพื่อป้องกันการชักจูงและชี้นำให้ประชาชนรายย่อยเข้าไปเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล
หรือฮ่องกง ที่จำกัดให้นักลงทุนใน cryptocurrency ต้องเป็น professional investor ที่มี portfolio เกินกว่า 8 ล้านเหรียญฮ่องกง หรือเทียบเท่า 33 ล้านบาท เท่านั้น
ไม่เพียงแต่หน่วยงานกำกับในศูนย์กลางทางการเงินอย่างฮ่องกงหรือสิงคโปร์ที่ใช้แนวทางค่อยเป็นค่อยไป แต่สถาบันการเงินชั้นนำในต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกรรมซับซ้อนก็ยังมีความระมัดระวังในการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล
ดูได้จากข้อมูลว่าสถาบันการเงินชั้นแนวหน้าของโลก ระดับ JPMorgan, Citibank, Standard Chartered และ BNP Paribas มีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉลี่ยเพียง 7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.43% ของเงินกองทุนของสถาบันการเงินเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าสถาบันการเงินบางแห่งอาจจะลงทุนมากหน่อย เกิน 1% ของเงินกองทุนไปบ้าง ขณะที่บางแห่งลงทุนน้อยมาก
(ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส)
การกำกับดูแลเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลของ ธปท. ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
จากที่ได้เห็นถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งแนวทางการกำกับดูแลและระดับการลงทุนของสถาบันการเงินชั้นนำในต่างประเทศแล้ว ขอกลับมาที่บริบทของประเทศไทย จากข้อมูลพบว่า นักลงทุนรายย่อยและผู้ประกอบการไทยเห็นโอกาสของการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลและมีความตื่นตัวสูง
จริงๆ ควรเรียกว่าสูงมาก สะท้อนจากการที่คนไทยมีการเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงปี 2563 – 2564 มีการเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นจาก 7 แสนบัญชี เป็น 2.27 ล้านบัญชี หรือเติบโตมากกว่า 200% นอกจากนั้น ผลการสำรวจออนไลน์พบว่า คนไทยมีสัดส่วนผู้ถือครอง crypto currency ต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 20.1% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก
ขณะที่ค่าเฉลี่ยโลกอยู่เพียงแค่ครึ่งเดียว คือ 10.2% รวมทั้งประเทศไทยของเรามีผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตทำ DA Exchange 8 ราย และ ICO Portal 7 ราย แล้วเราก็เห็นความสนใจของธนาคารพาณิชย์หรือกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็นลำดับด้วย ดังที่ได้ข่าวกันอยู่
ธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักถึงความตื่นตัวของธุรกิจและประชาชนข้างต้น เห็นถึงประโยชน์และความท้าทายของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมไปถึงเหลียวมองแนวคิดที่หลากหลายของต่างประเทศ จึงมาสู่กระบวนการตกผลึกความสมดุลในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลหากธนาคารพาณิชย์อยากเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น อยากลงทุนในบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัล หรืออยากถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้นวัตกรรม
เริ่มจากกระบวนการคิดแรก คือ การแยกความเสี่ยงออกจากจุดที่เราเป็นกังวลมากที่สุด หรือจุดสำคัญที่สุด ซึ่งก็คือธนาคารพาณิชย์ เพราะธนาคารพาณิชย์ คือ สถานที่ที่ประชาชนในวงกว้างนำเงินมาฝากไว้ เพราะเห็นว่าเป็นที่ที่มีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นเรื่องใหม่และอาจจะยังมีความเสี่ยงที่ยังไม่สามารถระบุหรือบริหารได้อย่างเหมาะสม
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเห็นว่า ควรมีการกัน หรือ ringfence ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้รับเงินฝากจากประชาชนและเป็นกลจักรสำคัญของเศรษฐกิจออกจากความเสี่ยงไว้ก่อน โดยยังไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง
แน่นอนว่าเมื่อกันส่วนสำคัญออกไปแล้ว แต่สินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยียังดูมีประโยชน์ จึงนำมาสู่กระบวนการคิดที่สอง “แล้วจะเปิดให้ใคร และเปิดอย่างไร” จึงเป็นที่มาของการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะอนุญาตให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์
เช่น บริษัทลูก หรือถ้าเป็นกรณีที่จัดโครงสร้างธุรกิจให้มีบริษัทแม่เป็น holding company ก็อาจจะหมายถึงบริษัทลูกอื่นที่ไม่ใช่ตัวธนาคารพาณิชย์เอง สามารถลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยใช้หลักการกั้นรั้ว พร้อมกับมีแนวทางการลดความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
แนวทางนี้มุ่งหวังจะให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นคุณภาพมากกว่าเร่งแห่กันเข้าไปทำเพราะกลัวตกขบวน เราคิดว่าการกำหนดรั้วกั้นในช่วงแรกพร้อมเปิดช่องให้มีการผ่อนคลายในอนาคต (เช่นเดียวกับ Fintech limit) น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน และรอแนวปฏิบัติที่เห็นร่วมกันในระดับสากลได้อีกด้วย
รั้วกั้นจะแบ่งตามประเภทของธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยขอแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
(1) ธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน่วยงานกำกับ มีหน่วยงานให้ใบอนุญาตอยู่แล้ว กับ (2) ธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ซึ่งยังไม่มีผู้กำกับ ประเภทหลังนี้เรายิ่งประเมินประโยชน์และความเสี่ยงได้ไม่ชัดเจนในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น Metaverse
สำหรับธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการกำกับดูแลอยู่แล้ว เช่น ก.ล.ต. กำกับอยู่แล้ว อาทิ ICO Portal, Digital Asset Exchange หรือ Digital Asset Broker/Dealer ธปท. กั้นรั้วโดยการกำหนดเพดานให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนของกลุ่มฯ แต่มีกลไกในการสร้างแรงจูงใจให้ออกจากรั้วกั้น
กล่าวคือ จะไม่นับอยู่ในเพดานการลงทุน 3% หากยกระดับมาตรฐานของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ๆ ใน 6 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ (1) ด้านธรรมาภิบาล (2) การดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและไซเบอร์ (3) การดูแลความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (4) การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือที่เราคุ้นกันในชื่อ AML/CFT
(5) การประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้า หรือ Client suitability และ (6) การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market conduct) เปรียบได้กับการมีรั้วกั้น แต่ก็มีประตูให้เดินออกจากรั้วไปอย่างสง่างาม กลไกนี้มุ่งหวังจะให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินที่คุ้นชินกับมาตรฐานการให้บริการและรักษาความปลอดภัยของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว ช่วยยกระดับให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้มาตรฐานเดียวกันนั้นด้วย
เป็นการยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้าแบบ race-to-the-top หรือแข่งกันทำให้ดี ตัวอย่างเช่น ด้าน IT หรือการป้องกันภัยไซเบอร์ เราอยากเห็นบริษัทที่ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถทำตามแนวปฏิบัติของการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน
ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้สำหรับธนาคารพาณิชย์ หรือด้าน AML/CFT ก็อยากให้มีมาตรฐานการทำ KYC ในการเปิดบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลเทียบเท่ากับการเปิดบัญชีเงินฝาก หากทำได้ตามมาตรฐานที่ว่านี้ ก็จะปลดธุรกิจนั้นออกจากการนับอยู่ในเพดานการลงทุน 3% ให้ ถึงตรงนี้ น่าจะมีคำถามว่าทำไมเพดาน 3% จึงเหมาะสม
ด้านหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าเพดานที่ 3% ไม่ได้น้อยเกินไป และเพียงพอต่อการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะแรก เพราะถ้าพิจารณาจากเงินที่สถาบันการเงินชั้นนำของโลกลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเฉลี่ยเพียง 7 พันล้านบาทตามที่กล่าวมาข้างต้น (ข้อมูลจาก Blockdata)
เมื่อคิดเงินจำนวนดังกล่าวเทียบกับเงินกองทุนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยหรือที่เรียกกันว่า D-SIBs ก็จะประมาณ 2% ของเงินกองทุน แต่ถ้าคิดเป็นสัดส่วนของเงินกองทุนเฉลี่ยของสถาบันการเงินใหญ่ ๆ ระดับโลกจะเป็นเพียง 0.43% ของเงินกองทุนเฉลี่ยของเขาเท่านั้น
ดังนั้น กรอบ 3% จึงไม่ได้น้อยเกินไป แล้วถ้ามองอีกด้านล่ะ เพดานนี้มากเกินไปหรือเปล่า หากเกิดความเสียหายทั้งหมด ประเมินแล้ว 3% ของเงินกองทุนเป็นระดับความเสี่ยงที่น่าจะยอมรับได้ เพราะเมื่อครั้งที่ยังมีเพดานการลงทุนใน Fintech อยู่ ก็กำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุนด้วยเหตุผลคล้ายกัน
นอกจากนั้น 3% เป็นระดับที่คาดว่าจะสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มธุรกิจการเงินปฏิบัติตามมาตรฐานที่สูงขึ้นเพื่อให้ถูกปลดออกจากเพดาน และถ้ามีส่วนที่ออกจากเพดานได้แล้ว กลุ่มธุรกิจก็สามารถลงทุนควบรวมกิจการเข้ามาเพิ่มได้
ส่วนธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ที่ยังเห็นประโยชน์และความเสี่ยงได้ไม่ชัด เช่น การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อทำธุรกรรมในโลก Metaverse ธปท. ก็ไม่ได้ห้าม แต่ขอให้เริ่มจากการทดลองขนาดเล็กๆ ใน sandbox โดยจะมีการพิจารณาใน 2 ขั้นตอน คือ ขั้นการรับให้เข้าทดสอบใน sandbox จะพิจารณาถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงิน
เช่น ทำแล้วจะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ธุรกิจและประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้นหรือไม่ จะได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและค่าบริการจะถูกลงหรือไม่ ถ้าใช่ก็น่าสนใจให้ทดลอง
ส่วนขั้นที่ 2 คือ ขั้นการเสร็จสิ้นการทดสอบเพื่ออนุญาตให้นำไปขยายผลในวงกว้าง จะต้องพิสูจน์ประโยชน์ของธุรกิจว่าคุ้มกับความเสี่ยงที่มี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดหวัง อย่างไรก็ดี ธุรกิจประเภทนี้แม้ออกจาก sandbox ไปแล้วจะนับอยู่ภายใต้เพดานการลงทุน 3% ของเงินกองทุนตลอด
นอกจากการกั้นรั้วแล้ว การที่กลุ่มธุรกิจทางการเงินลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีนัยว่าความเสี่ยงบางส่วนสามารถถูกส่งผ่านกลับมาถึงธนาคารพาณิชย์ และที่สำคัญ คือ ถึงความเชื่อมั่นของ ผู้ฝากเงิน ดังนั้น ธปท. จึงกำหนดให้มีแนวทางบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว โดยครอบคลุมใน 2 เรื่องหลัก
เรื่องแรก กลุ่มธุรกิจทางการเงินต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ตั้งแต่การกำหนดให้มีคณะกรรมการแยกชุดระหว่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีคณะกรรมการเฉพาะที่ดูแลผลประโยชน์ของธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มที่ และไม่ให้เกิด conflict of interest ในการตัดสินใจทางธุรกิจ อีกทั้งยังต้องมีเงินกองทุนที่เพียงพอรองรับความเสี่ยงที่อาจจะมีมากขึ้นจากการทำธุรกิจใหม่นี้ด้วย
เช่น ความเสี่ยงด้าน IT ที่คงจะเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องเพิ่มกลไกป้องกันการส่งผ่านความเสี่ยงอื่น ๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจมาสู่ธนาคารพาณิชย์ เช่น ต้องแยกระบบ IT ไม่ให้มาเกี่ยวข้องกับระบบ core banking โดยเด็ดขาด รวมทั้งห้ามสื่อสารให้เกิดความเข้าใจว่าหากเกิดความเสียหายกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันจะมีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือ
เรื่องที่สอง ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยไม่ถูกกระตุ้นความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลจากช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ มูลค่ามีความผันผวนสูง และไม่ได้เป็นสิ่งที่เหมาะกับทุกคน
ในขณะที่ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ที่มีความหลากหลาย ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่อาจจะไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติความผันผวนและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือไม่สามารถทนทานต่อความเสี่ยงดังกล่าวได้ ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่อนุญาตให้ใช้ช่องทางสาขา เว็บไซต์ หรือ application ของธนาคารพาณิชย์ในการนำเสนอสินทรัพย์ดิจิทัลต่อลูกค้า
ความคาดหวังจากแนวทางการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินในยุคดิจิทัล
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าแรงผลักดันจากเทคโนโลยีเป็นพลวัตรนำไปสู่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ไล่มาตั้งแต่ online banking, FinTech จนถึงสินทรัพย์ดิจิทัลในวันนี้ และเชื่อว่ายังจะมีอีกต่อไปในอนาคต ดิฉันคิดว่าสิ่งสำคัญ คือ เราต้องเรียนรู้ว่าแก่นของนวัตกรรมคืออะไร นำไปสู่ประโยชน์และความเสี่ยงเพียงใด ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครรู้ทั้งหมด 100% หรือรู้รอบด้าน ณ วันแรก จึงต้องมีกระบวนการเรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งผู้ให้บริการ ผู้กำกับดูแล รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ
ในโอกาสนี้ ขอยืนยันว่าธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนให้ภาคการเงินสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า และขยายโอกาสทางธุรกิจได้
โดย ธปท. เน้นหลักคุณภาพและความยั่งยืน มากกว่าความเร็ว เพราะยังต้องดูแลประชาชนผู้ฝากเงินและเสถียรภาพของระบบควบคู่กันไปด้วย แต่ที่เพิ่มเติมคือ ธปท. พร้อมปรับเปลี่ยนให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างสมดุลและยืดหยุ่นมากขึ้น และรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ไปพร้อมกัน
การผ่อนคลายการลงทุนใน FinTech และการกำกับดูแลการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยใช้แนวทางกั้นรั้วสะท้อนถึงการปรับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยนอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นการส่งผ่านแรงผลักให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลในเชิงบวก
รวมทั้งยกระดับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้สูงขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีความพร้อมในด้านทรัพยากรและคุ้นชินกับมาตรฐานการให้บริการและการรักษาความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ ดีอยู่แล้ว
สุดท้ายนี้ดิฉันเชื่อมั่นว่า ทุกฝ่ายอยากเห็นสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความยั่งยืน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไปในระยะเวลาอันสั้น แต่สามารถตอบโจทย์ในภาคเศรษฐกิจการเงิน รวมทั้งได้รับความเชื่อถือจากภาคธุรกิจและประชาชน
จึงอยากเชิญชวนท่านผู้มีเกียรติให้ร่วมกันสร้างมาตรฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีการคุ้มครองลูกค้าที่เหมาะสม ตลอดจนร่วมกันปิดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดจุดเปราะบางต่อระบบการเงิน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศเราในองค์รวมและระยะยาว
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ รื้อเกณฑ์คุมกลุ่มแบงก์ลงทุน ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’-เผยดีล SCB ซื้อ Bitkub ทำได้
เริ่ม 1 เม.ย.! 'ก.ล.ต.'ห้ามใช้'สินทรัพย์ดิจิทัล'ซื้อสินค้า-'ธปท.'ชี้ 5 จุดอ่อน'คริปโทฯ'
‘สรรพากร’ ผ่อนปรนหักภาษี ณ ที่จ่าย ธุรกรรมคริปโทฯ-เตรียมออกคู่มือ 31 ม.ค.นี้
‘ก.ล.ต.-ธปท.-คลัง’ เคาะร่างหลักเกณฑ์ห้ามใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ จ่ายค่าสินค้า-บริการ
‘ก.ล.ต.-สรรพากร-ธปท.’ หารือ 2 สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลฯ วางแนวทางเก็บภาษีคริปโทฯ
‘กสิกรไทย’ปัดให้ข่าวร่วมทุน‘ไบแนนซ์’ เผยยังไม่มีข้อสรุปทำธุรกิจซื้อขาย‘เหรียญดิจิทัล’
‘ก.ล.ต.’ชงรื้อ กม.คุม‘คริปโทเคอร์เรนซี’แก้หลอกลวง-พบปี 64 เปิดบัญชีซื้อขายพุ่ง 10 เท่า
มุมมองแบงก์ชาติ : สินทรัพย์ดิจิทัลเสี่ยงสูง-ช่องทางฟอกเงิน?
หวั่นกระทบเสถียรภาพ! ‘ธปท.’ ไม่สนับสนุนใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ชำระค่าสินค้า-บริการ
บางจากฯ รับชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซีเป็นรายแรกของกลุ่มธุรกิจพลังงาน