ครม.รับทราบรายงาน ‘คลัง’ แจงข้อเท็จจริงธุรกิจ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ พบปี 64 มียอดบัญชีผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 1.16 ล้านราย พุ่งขึ้นจากปีก่อน 10 เท่า ขณะที่ ‘ก.ล.ต.’ เดินหน้าแก้ไข ‘พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ-พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ’ เพิ่มอำนาจกำกับดูแล-แก้ปัญหาการหลอกลวงผู้ซื้อ
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานข้อเท็จจริงและการดำเนินการเกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดตลาดหลักทรัพย์ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
สำหรับรายงานดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้การกำกับดูแลตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) อาจไม่เหมาะสม สอดคล้อง หรือครอบคลุมลักษณะของธุรกรรมที่เกิดขึ้น เช่น การนำคริปโทเคอร์เรนซี รวมทั้งคริปโทเคอร์เรนซีที่มีการตรึงมูลค่า (Pes) ไว้กับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เช่น ทองคำ พันธบัตร สกุลเงินต่างๆ หรือคริปโทเคอร์เรนซีด้วยกัน (Stablecoin) มาใช้ในการชำระราคาอย่างแพร่หลายมากขึ้น
หรือการทำธุรกรรมทางการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeF) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการรับฝากและให้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งยังไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใด ตลอดจนปัญหาเกี่ยวกับการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมาเพื่อเก็งกำไร โดยไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระที่ชัดเจน ซึ่งอาจมีการหลอกลวงหรือเป็นการเอาเปรียบผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว
ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างทบทวน พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ โดยอาจเสนอแก้ไขปรับปรุงให้มีความเหมาะสมสอดคล้องต่อไป
ขณะเดียวกัน เนื่องจากตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ภาคเอกชนสนใจที่จะใช้เครื่องมือระดมทุนภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล ICO (Initial Coin Offering) ที่เข้มงวดน้อยกว่าการดูแลหลักทรัพย์ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นช่องว่างทางกฎหมาย และก่อให้เกิดปัญหาความแตกต่างในการกำกับดูแล รวมทั้งไม่ให้สอดคล้องกับต่างประเทศที่การกำกับดูแล ICO เพื่อการระดมทุนส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต.จะปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับการกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะของการระดมทุนให้เป็นหลักทรัพย์ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
รายงานระบุต่อไปว่า จากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยจำนวนผู้ประกอบธุรกิจและผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจำนวนผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มจาก 1.7 แสนรายในปี 2563 เป็น 1.16 ล้านราย ในเดือน พ.ค.2564 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มจาก 240 ล้านบาทในปี 2563 เป็น 6,880 ล้านบาทในเดือน พ.ค.2564 และมูลค่าทรัพย์สินดิจิทัลของลูกค้าที่เพิ่มจาก 9,600 ล้านบาทในปี 2563 เป็น 46,090 ล้านบาท ในเดือน พ.ค.2564
ประกอบกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากธุรกิจ Startup และเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ซึ่งเน้นเรื่องการขยายธุรกิจ แต่ขาดความเข้าใจในการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงผู้ซื้อขายสามารถเข้าถึงบริการต่างๆได้ง่าย ส่งผลให้เกิดความท้าทายในการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
“สำนักงาน ก.ล.ต. พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดตั้งในต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย มีการชักชวนและให้บริการกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งการให้บริการในลักษณะดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งประเด็นความท้าทายที่สำคัญในการกำกับดูแล เนื่องจากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีลักษณะเป็นการทำธุรกรรมแบบไร้พรมแดน (Borderless) จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำกับดูแลร่วมกัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลยังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่และมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วจึงทำให้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลในแต่ละประเทศอาจไม่สอดคล้องกัน” รายงานระบุ
นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังรายงานเหตุเหตุการณ์สำคัญและการดำเนินการที่ผ่านมาของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนี้
1.กรณี Binance ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ จัดตั้งในต่างประเทศและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีการซักชวนและให้บริการกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2564 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกล่าวโทษ Binance กรณีประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สอบสวนและดำเนินคดีต่อไป
2.กรณี บริษัท บิทคอยน์ จำกัด (BX) ประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สำนักงาน ก.ล.ต.ได้จัดตั้งศูนย์แนะนำช่วยเหลือผู้ซื้อขายเฉพาะกิจและควบคุมดูแลให้ BX คืนทรัพย์สินให้กับลูกค้า อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรได้ยึดอายัดทรัพย์สินทั้งหมดที่เป็นเงินบาทของ Bx ซึ่งรวมถึงส่วนที่เป็นของลูกค้าด้วย ส่งผลให้ BX ไม่สามารถดำเนินการคืนทรัพย์สินแก่ลูกค้าให้แล้วเสร็จ
สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ประสานกรมสรรพากรและนำส่งข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าในส่วนของเงินบาท เพื่อให้กรมสรรพากรมีข้อมูลประกอบการพิจารณาคืนทรัพย์สินแก่ลูกค้า
สำนักงาน ก.ล.ต. ยังตรวจพบการทุจริตของ BX ว่ามีการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นของลูกค้าออกไปยังบัญชีอื่นที่มิได้มีไว้เพื่อเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า จึงได้ดำเนินการกล่าวโทษกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เก็บรักษา Private Key ของ BX ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และแจ้งการกล่าวโทษให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร
อีกทั้ง สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจพบว่า BX ดำเนินการลดทุนจดทะเบียนชำระแล้ว จนไม่สามารถดำรงคุณสมบัติของการเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต รวมถึงมีการหยุดประกอบธุรกิจเกินกว่าระยะเวลาที่หลักเกณฑ์กำหนด คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงมีมติเสนอแนะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจของ Bx
นอกจากนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ดังกล่าว และยกระดับความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนการลดทุนจดทะเบียนชำระแล้ว เป็นต้น
3.กรณีบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) มีระบบงานบกพร่อง เช่น ระบบการซื้อขายและระบบการฝากถอนเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลขัดข้องไม่เพียงพอรองรับการให้บริการลูกค้าที่มีจำนวนมากได้ เป็นต้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงได้สั่งการให้ Bitkub หยุดการเปิดรับลูกค้าใหม่ และแก้ไขระบบงานต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จจนปัจจุบันได้แก้ไขระบบแล้วเสร็จและกลับมาให้บริการลูกค้าได้แล้ว
จากกรณีปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้มีการพิจารณาประเด็น เช่น ความรู้ความเข้าใจของผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการกำหนดคุณสมบัติของผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป
นอกจากนี้ จากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Board Retreat) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2564 ได้มีข้อสรุปว่าควรยกระดับการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เทียบเคียงธุรกิจหลักทรัพย์ (เท่าที่จำเป็น) ตามหลักการแนวความเสี่ยง (Risk-based Approach) รวมถึงคัดกรองผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาให้ความเห็นชอบและนำออกใช้บังคับต่อไป
4.กรณีบริษัท บิทคับ บล็อกเซน เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Bitkub มีการออกเหรียญ KUB และนำมาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายของ Bitkub ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็น Self-listing อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการทำหน้าที่กำกับดูแลการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายเหรียญดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีหนังสือให้บริษัทชี้แจงกรณีดังกล่าว และอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาว่ากรณีดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องหรือไม่
5.กรณีผู้ประกอบธุรกิจเริ่มมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจมีลักษณะที่ทำให้เกิดการสร้างราคาได้โดยง่าย หรืออาจมีความเสี่ยงในการใช้ข้อมูลภายในเพื่อเอาเปรียบในการซื้อขายมาให้บริการ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะดังกล่าว
เช่น เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับ โดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเซียล (Meme Token) เหรียญที่เกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล (Fan Token) เหรียญโทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่เฉพาะเจาะจงโดยไม่สามารถใช้โทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกันและจำนวนเท่ากันแทนกันได้ (Non-fungible token: NFT)
และเหรียญโทเคนดิจิทัลที่ออกโดยผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเองหรือบุคคล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์ สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเขน โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
6.กรณีสินทรัพย์ดิจิทัลอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิดทางกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน การโจมตีทางไซเบอร์ และอาชญากรรมทางการเงินอื่น ๆ เป็นต้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการกระทำความผิด โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้ผู้ใช้บริการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล (Wallet) และห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการคริปโทเคอร์เรนซีที่สามารถปกปิดข้อมูลการทำธุรกรรมได้ (Privacy Coins)
นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักการการกำกับดูแลผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และการให้บริการ Wallet ของลูกค้า โดยให้สำนักงาน ก.ล.ต. ยกร่างประกาศตามหลักการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต มีมตีให้ความเห็นชอบและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อ่านประกอบ :
มุมมองแบงก์ชาติ : สินทรัพย์ดิจิทัลเสี่ยงสูง-ช่องทางฟอกเงิน?
หวั่นกระทบเสถียรภาพ! ‘ธปท.’ ไม่สนับสนุนใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ชำระค่าสินค้า-บริการ
บางจากฯ รับชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซีเป็นรายแรกของกลุ่มธุรกิจพลังงาน