"...ธปท. เห็นความสำคัญและศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงช่วยลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งที่ผ่านมา ได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้พัฒนากิจกรรมหรือบริการทางการเงินต่างๆ สำหรับภาคธุรกิจ เช่น โครงการ National Digital Identity (NDID) โครงการ electronic letter of guarantee (e-LG) ของภาคธนาคาร หรือการใช้พัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจ เป็นต้น..."
มุมมองของ ธปท. ต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และเงินสกุลดิจิทัล (CBDC)
1. มุมมองของ ธปท. ต่อเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เปรียบเทียบกับ Digital Asset
• เทคโนโลยี Blockchain ได้นำหลักของการกระจายศูนย์แบบไม่มีตัวกลางมาใช้ โดยในการทำงานจะมีกลไกการตรวจสอบความถูกต้องจากคนส่วนใหญ่หรือทั้งหมดในกลุ่ม ทำให้แก้ไขและเปลี่ยนแปลงกิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่บน Blockchain ได้ยาก จึงทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนเทคโนโลยี Blockchain มีความน่าเชื่อถือ และส่งผลให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการเงินที่ต่อยอดบน Blockchain ที่หลากหลาย
• ธปท. เห็นความสำคัญและศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงช่วยลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งที่ผ่านมา ได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้พัฒนากิจกรรมหรือบริการทางการเงินต่างๆ สำหรับภาคธุรกิจ เช่น โครงการ National Digital Identity (NDID) โครงการ electronic letter of guarantee (e-LG) ของภาคธนาคาร หรือการใช้พัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศของผู้ประกอบธุรกิจ เป็นต้น
• อย่างไรก็ดี ธปท. ไม่สนับสนุนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of payment: MOP) เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงกับประชาชน เช่น ความผันผวนด้านราคา ความปลอดภัยของระบบ และอาจถูกเป็นช่องทางของการฟอกเงิน นอกจากนี้ หากมีการใช้อย่างแพร่หลายในกิจกรรมการชำระเงินต่างๆ จะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน และเสถียรภาพทางการเงิน รวมถึงความสามารถในการดูแลภาวะการเงินในประเทศ
2. Central Bank Digital Currency (CBDC) คืออะไร และแผนของ ธปท. ไปในทิศทางไหน
• CBDC คือ เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนเงินบาทหรือธนบัตร เพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล สามารถใช้เป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย และสามารถรักษามูลค่าให้ไม่ผันผวน ซึ่งต่างจาก cryptocurrency ที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งมักมีมูลค่าที่ผันผวน และความเสี่ยงจะขึ้นกับผู้ออกเหรียญ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ขณะที่ stablecoin แม้ว่าจะมีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน เช่น ทองคำ ค้ำประกันให้มูลค่าไม่ผันผวนมากนัก แต่ยังมีความเสี่ยงจากผู้ออกอยู่เช่นกัน
• ระบบการชำระเงินที่ให้บริการประชาชนในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำอยู่แล้ว สะท้อนจากยอดผู้ใช้งานและจำนวนบัญชีพร้อมเพย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันพร้อมเพย์มีจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้ว 67.5 ล้านหมายเลข (ID) มียอดการโอนเงินเฉลี่ย 34.9 ล้านรายการต่อวัน คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ย 9.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน ดังนั้น การพัฒนา Retail CBDC ในกรณีของไทย จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อมาทดแทนการบริการชำระเงินที่มีอยู่เดิมหรือการให้บริการของภาคเอกชน แต่เป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการต่อยอดนวัตกรรมการเงินของภาคธุรกิจและประชาชนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางในเรื่องนี้ของธนาคารกลางอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น Public Bank of China (PBoC) Swedish Central Bank Bank of England หรือแม้กระทั่ง Fed ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนา CBDC ร่วมกับ Massachusetts Institute of Technology (MIT) เป็นต้น ทั้งนี้ ธปท. จะเริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC กับภาคประชาชนในวงจำกัดในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เพื่อประเมินแนวทางการพัฒนาในระยะต่อไป