บอร์ด ก.ล.ต. ไฟเขียวร่างหลักเกณฑ์ห้ามการใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ชำระค่าสินค้าและบริการ สั่งห้าม ‘ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล’ สนับสนุน-อำนวยความสะดวก ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางซื้อสินค้า ฝ่าฝืนโทษปรับ 3 แสนบาท
................................
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง เปิดแถลงข่าวร่วมเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ โดยระบุว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้นำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผ่านเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=776 ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.-8 ก.พ.2565
ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศภายใน 15 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ และหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สายธุรกิจตัวกลางและตลาด ก.ล.ต. กล่าวว่า สำหรับร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้ความเห็นชอบนั้น มีสาระสำคัญ คือ
1.ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้การสนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวกให้ร้านค้า หรือการดำเนินการใดๆก็ตาม ที่ทำให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ เช่น ต้องไม่โฆษณาหรือเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
2.ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไปช่วยร้านค้าในการสร้างระบบในการคำนวณค่าสินค้าและบริการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล หรือสร้างคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ลูกค้าจ่ายค่าสินค้าและบริการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เป็นต้น
3.ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
4.ในกรณีที่ผู้ซื้อขายหรือลูกค้า ทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น จะโอนให้กับร้านค้าหรือบุคคลอื่นไม่ได้
5.ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ
6.ไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตทุกประเภท ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้า ผู้ค้า ที่ปรึกษา และผู้จัดการเงินทุน ส่วนผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในต่างประเทศและไม่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. หากพบว่ามีการให้บริการใดๆในประเทศไทย ก็จะมีความตามกฎหมายอยู่แล้ว
“ถ้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ให้บริการลูกค้าอยู่ แต่พบว่าลูกค้าของตัวเองมีพฤติกรรมรับชำระค่าสินค้าและบริการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจฯจะต้องเตือนลูกค้า หากลูกค้ายังไม่หยุด ผู้ประกอบธุรกิจฯจะต้องพิจารณายกเลิกบัญชีหรือระงับการใช้บัญชีของลูกค้า” นางจารุพรรณ กล่าว
นางจารุพรรณ ระบุว่า หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยผู้ลงทุน ผู้บริโภค และประชาชน รวมทั้งผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่างๆ ยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุนได้ตามปกติ แต่จะมีผลกระทบเฉพาะการให้บริการที่ทำให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า หลักเกณฑ์การกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการที่ ก.ล.ต. ธปท. และกระทรวงการคลัง ร่วมพิจารณาดังกล่าว มีความสอดคล้องกับการกำกับดูแลการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในหลายประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยมีความเสี่ยงจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง
“หน่วยงานกำกับฯทั้ง 3 หน่วยงาน เห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปชำระราคาเป็นทั่วไปในวงกว้าง จึงร่วมกันกำหนดแนวทางในการกำกับดูแล โดยเริ่มจากการจำกัดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการที่เป็นกลาง ทั้งนี้ เราไม่ปิดกั้นการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุน และจะร่วมกันพิจารณาอนุญาตให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีประโยชน์ในบางประเภท และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลต่อไป” น.ส.สิริธิดาระบุ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท. คำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมองว่า ณ ขณะนี้ การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันกับ ธปท. และกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป
ทั้งนี้ จากเอกสารแถลงข่าวร่วมของ ธปท. ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง ระบุว่า ทั้ง 3 หน่วยงานได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่า พร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน
ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง
และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น โดยคำนึงถึงทั้งการเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของประเทศ และประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไป
อ่านประกอบ :
‘ก.ล.ต.-สรรพากร-ธปท.’ หารือ 2 สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลฯ วางแนวทางเก็บภาษีคริปโทฯ
‘กสิกรไทย’ปัดให้ข่าวร่วมทุน‘ไบแนนซ์’ เผยยังไม่มีข้อสรุปทำธุรกิจซื้อขาย‘เหรียญดิจิทัล’
‘ก.ล.ต.’ชงรื้อ กม.คุม‘คริปโทเคอร์เรนซี’แก้หลอกลวง-พบปี 64 เปิดบัญชีซื้อขายพุ่ง 10 เท่า
มุมมองแบงก์ชาติ : สินทรัพย์ดิจิทัลเสี่ยงสูง-ช่องทางฟอกเงิน?
หวั่นกระทบเสถียรภาพ! ‘ธปท.’ ไม่สนับสนุนใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ชำระค่าสินค้า-บริการ
บางจากฯ รับชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซีเป็นรายแรกของกลุ่มธุรกิจพลังงาน