‘อธิบดีกพร.’ ยันขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการกลับมาเปิดทำเหมืองแร่ ‘ทองคำ’ อีกครั้ง พร้อมระบุกฎหมายแร่ปี 60 ให้อำนาจประชาชนในพื้นที่ชี้ขาดว่าจะให้เปิดทำเหมืองหรือไม่ พร้อมกำหนดแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่
...................
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หลังจากพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 และกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว จนถึงปัจจุบันคณะกรรมการแร่ยังไม่มีการอนุมัติประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำให้กับเอกชนรายใด รวมทั้งยังไม่มีการอนุญาตต่ออายุใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรมให้กับบางรายเอกชนด้วย
“ผู้ที่มีประทานบัตร (แร่ทองคำ) เก่า ซึ่งยังมีอายุอยู่ เขาได้มาขอต่ออายุการทำเหมือง โดยยื่นเรื่องขอต่ออายุโรงประกอบโลหะกรรมแล้ว ซึ่งเรายังไม่อนุญาตแต่อย่างใด ดังนั้น ตอนนี้จึงยังไม่มีการเปิดทำเหมืองทองในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากหยุดไปเมื่อปี 2560”นายวิษณุกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะพิจารณาอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของเอกชนได้ตามกรอบของกฎหมายและภายใต้กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ซึ่งในการยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่สามารถที่จะยื่นขอในพื้นที่ใดๆได้แล้วก็ตาม แต่การเข้าสำรวจแร่จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่เสียก่อน หากไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่สามารถเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่นั้นได้
ส่วนในการอนุญาตประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่จะต้องอยู่ในเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองที่ปรากฏในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเท่านั้น โดยในการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นประกอบการจัดทำด้วย
นอกจากนี้ ในขั้นตอนการพิจารณาออกประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ก็ยังได้กำหนดให้ประชาชนในพื้นที่ต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และหากประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย คณะกรรมการแร่จะไม่สามารถพิจารณาอนุญาตประทานบัตรได้
“กฎหมายแร่ปี 2560 กำหนดว่า ในการพิจารณาอนุญาตออกประทานบัตรเป็นรายแปลงนั้น จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ทุกแปลง ถ้าประชาชนไม่เอาด้วย หรือมีการคัดค้าน คณะกรรมการแร่จะไม่สามารถพิจารณาได้ และถ้าในการขอประทานบัตรแปลงนั้นๆ เสียงของประชาชนในพื้นที่มีความก้ำกึ่งกัน ก็จะต้องทำประชามติ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า เพื่อป้องกันความขัดแย้งในพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ ภายใต้นโยบายการทำเหมืองแร่ทองคำ ภาครัฐให้ความสำคัญกับการรับรู้ของชุมชน การดูแลความปลอดภัยและผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา นอกจากนี้ ก่อนที่จะมีการเปิดทำเหมืองแร่จะต้องมีการเก็บข้อมูลพื้นฐานในพื้นที่ เช่น เก็บผลตรวจเลือดของคนในพื้นที่ และสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆในพื้นที่ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับช่วงหลังจากเปิดเหมืองแล้ว
“เดิมเราไม่มีข้อมูลพื้นฐานก่อนการทำเหมืองเพื่อนำใช้เปรียบเทียบ แต่เราไปวัดหลังจากที่เปิดทำเหมืองแล้ว เช่น เราไปเจอว่าชาวบ้านมีผลเลือดสูง แต่เราไม่รู้ว่ามีก่อนหรือเปล่า ก็เลยไม่มีหลักฐาน แต่ในกฎหมายใหม่นั้น ก่อนเปิดทำเหมืองจะให้เก็บข้อมูลพื้นฐานเพื่อการเปรียบเทียบและพิสูจน์กัน หากหลังจากเปิดเหมืองแล้ว ชาวบ้านมีผลกระทบในทางลบเพิ่มขึ้นจะได้ชัดว่าเกิดจากการทำเหมืองหรือไม่ ต่างจากเมื่อก่อนที่ชี้ไม่ได้” นายวิษณุกล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ ภาครัฐได้อนุญาตออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำให้กับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จำนวน 44 แปลง เนื้อที่ประมาณ 3.97 แสนไร่ ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ โดยเป็นการอนุญาตตามคำขอเดิมที่บริษัท อัคราฯ ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และ2548 ซึ่งอดีตที่ผ่านมายังไม่ได้ดำเนินการพิจารณาคำขอ เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ชะลอการอนุญาตไว้ก่อนจนกว่าจะมีการกำหนดนโยบายทองคำ
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการบริหารจัดการแร่ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ของประเทศ
พร้อมทั้งเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2 ฉบับ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสำหรับการทำเหมืองและการประกอบโลหกรรม
ขณะเดียกัน คนร.ยังรับทราบความคืบหน้าในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565-2569) การกำหนดหลักเกณฑ์การจำแนกทรัพยากรแร่ของประเทศไทยและการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และการติดตามและประเมินผลแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560–2564
พล.อ.ประวิตร กล่าวในที่ประชุมว่า ขอทุกภาคส่วนต้องมองปัญหาในภาพรวมอย่างรอบด้านเพื่อขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ให้เป็นระบบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนร่วมด้วย และต้องให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการแร่ เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจ ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
อ่านประกอบ :
ถอดบทเรียน! ก่อนปิด ‘เหมืองทองอัครา’ ปมผลกระทบ ‘สุขภาพ’ ที่ยังไม่คลี่คลาย?
ดีเอสไอรับ'คดีเหมืองทองอัครา'ปมทำผิด กม.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นคดีพิเศษ
รบ.ยังไม่เสียสักบาท! ‘วิษณุ’สวนฝ่ายค้านแนวโน้มไทยแพ้ค่าโง่เหมืองอัคราฯแค่เฟกนิวส์
ฝ่ายค้านขุดเอกสารลับ!แนวโน้มไทยแพ้ค่าโง่ 2 หมื่นล.อัคราฯ ‘สุริยะ-บิ๊กตู่’ปัดเอื้อ ปย.
ใต้พรมค่าโง่อัคราฯ-ก.อุตฯควัก 388 ล.แก้ข้อพิพาท-รมต.-บิ๊ก ขรก.พันสินบนข้ามชาติ
ชงคกก.แร่ชี้ขาดหลังพ้น 30 วัน! ‘อัคราฯ’ ยื่นสำรวจแร่ทอง ‘เพชรบูรณ์’ 4.4 แสนไร่
38 ต่อ 21 เสียง!กมธ.งบปี 64 ไฟเขียวเงินสู้คดีเหมืองทองอัครา-ปรับลดเหลือ 99 ลบ.
ข้อมูลใหม่! ป.ป.ช.พบ‘อีเมล์’เผยเส้นทางเงินคดีเหมืองทองอัคราฯพักที่‘ฮ่องกง-สิงคโปร์’
ป.ป.ช.ฟัน‘อดีตบิ๊ก ก.อุตฯ-พวก’ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทองมิชอบ-เอื้อเอกชน
ย้อนมหากาพย์กล่าวหา‘คิงส์เกตฯ’จ่ายสินบน รมต.เอื้อทำเหมือง-ป.ป.ช.สอบ 3 ปียังไม่เสร็จ?
โชว์ข้อหาทางการ‘ประเสริฐ’คดีเอื้อเอกชนเหมือง-ป.ป.ช.ไต่สวน‘จารุพงศ์’ กก.บ.กลุ่ม‘อัครา’
‘จารุพงศ์-ประเสริฐ’ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเรียกรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
เปิดตัว‘สวนสักพัฒนา’เครือ‘อัคราฯ’ ในสำนวน ป.ป.ช.คดีรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ
“จารุมาศ เรืองสุวรรณ”ที่ปรึกษา พท.เป็น กก.บริษัทสำรวจทองคำ 5 แห่ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/