“...ประเด็นที่น่าสนใจที่ น.ส.จิราพร หรือแม้แต่นายสุริยะ และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมิได้ชี้แจงคือกรณีการรับให้ ‘สินบนข้ามชาติ’ เกี่ยวกับการทำสัมปทานเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ปรากฏชื่อ ‘นักการเมืองระดับชาติ’ และ ‘บิ๊กข้าราชการ’ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย…”
...........................................
ประเด็นข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัท คิงส์เกตฯ ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ เป็นเรื่องที่ถูกฝ่ายค้านนำหลักฐานมาอภิปรายไม่ไว้วางใจในอีกครั้ง ในวันที่สอง 17 ก.พ. 2564 ของญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 ราย ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. 2564
น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เป็น ‘หัวหอก’ ของพรรคเพื่อไทย ที่นำประเด็นนี้มาอภิปรายตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยสรุปได้ 4 ประเด็น ได้แก่
1.รัฐบาลไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีความพยายาม ‘ไกล่เกลี่ย-ประนีประนอม’ ข้อพิพาทดังกล่าวกับบริษัท คิงส์เกตฯ ภายหลัง ‘ถูกฟ้อง’ ต่ออนุญาโตตุลาการไปแล้ว เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลไทย หรือ APKS ประเมินว่า รัฐบาลไทยอาจแพ้คดี และเสียค่าเสียหายกว่า 750 ล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา ตีเป็นเงินไทยกว่า 2.25 หมื่นล้านบาท
2. กระทรวงอุตสาหกรรมเป็น ‘แม่งาน’ ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และอนุญาตตามที่บริษัท คิงส์เกตฯ และบริษัทในเครือร้องขอ ทั้งการอนุญาตให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นำผงแร่ทองคำและเงินออกจำหน่ายได้ พร้อมกับอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจเหมืองแร่อีก 44 แปลงในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ รวมเนื้อที่กว่า 3.9 แสนไร่ โดยที่บริษัท คิงส์เกตฯ จะถอนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องจำหน่ายผงแร่ทองคำและเงินดังกล่าวออกจากการฟ้องในชั้นอนุญาโตตุลาการ คิดเป็นมูลค่า 8.8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
3.พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รับทราบข้อเท็จจริงมาตลอด อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ปี 2563 ภายหลังบริษัท คิงส์เกตฯ ยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการแล้ว และกระทรวงอุตสาหกรรมีหนังสือผ่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบตลอดหลายครั้ง
4.อย่างไรก็ดี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยยืนยันว่า การอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ จำหน่ายผงแร่ทองคำและเงิน รวมถึงการให้อาชญาบัตรสำรวจเหมืองแร่ 44 แปลง 3.9 แสนไร่เศษดังกล่าว ทำตามที่บริษัท คิงส์เกตฯ ขอไว้ตั้งแต่ปี 2546 และปี 2548 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์เกี่ยวกับข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด (อ่านประกอบ : ฝ่ายค้านขุดเอกสารลับ!แนวโน้มไทยแพ้ค่าโง่ 2 หมื่นล.อัคราฯ ‘สุริยะ-บิ๊กตู่’ปัดเอื้อ ปย.)
อย่างไรก็ดีหลายคนอาจยังไม่ทราบ หรือลืมไปแล้วว่า นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี สมัยเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 สั่งยกเลิกสัมปทานเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯนั้น ต่อมาเมื่อประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว จนนำไปสู่การต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการ
รัฐบาลไทย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทอย่างเป็นทางการเรื่องนี้ เป็นเงินอย่างน้อย 388 ล้านบาทเศษ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้ทราบ ดังนี้
ข้อมูล พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ระหว่างปี 2562-2564 จากสำนักงบประมาณ พบว่า
ปี 2564 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซดิเดเต็ด ลิมิเต็ด เอกชนสัญชาติออสเตรเลีย วงเงิน 111,115,700 บาท
ปี 2563 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซดิเดเต็ด ลิมิเต็ด วงเงิน 217,788,100 บาท
ปี 2562 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซดิเดเต็ด ลิมิเต็ด วงเงิน 60,000,000 บาท
รวมวงเงิน 3 ปี อย่างน้อย 388,903,800 บาท
ส่วน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2561-2560 ไม่เจอรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นนี้แต่อย่างใด?
แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่ น.ส.จิราพร หรือแม้แต่นายสุริยะ และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมิได้ชี้แจงคือกรณีการรับให้ ‘สินบนข้ามชาติ’ เกี่ยวกับการทำสัมปทานเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ปรากฏชื่อ ‘นักการเมืองระดับชาติ’ และ ‘บิ๊กข้าราชการ’ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย
ช่วงปี 2558 ก่อนหน้าที่ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ นั้น มีกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ 5 จังหวัด รวมตัวกันประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบผลการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนร้ายแรงต่อประชาชนจำนวนมากในพื้นที่พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำนั้น
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. เผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคดีดังกล่าวที่กระทบถึงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับได้มีพยานหลักฐานเบื้องต้นจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย พบบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศไทย (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ)
โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จึงส่งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อไป
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เป็นประธานฯ และมีอนุกรรมการ ได้แก่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านกฎหมายและการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการไต่สวนโดยเร่งด่วนต่อไป
ต่อมาปี 2559 คสช. ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ดังกล่าว จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่จนถึงปัจจุบัน
มีรายงานว่า นักการเมืองระดับชาติที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ได้แก่ นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย โดยทั้ง 2 รายเป็นรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (อ่านประกอบ : ‘จารุพงศ์-ประเสริฐ’ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเรียกรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่)
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กับพวกรวม 6 ราย กรณีอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ เปลี่ยนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้เอกชน (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟัน‘อดีตบิ๊ก ก.อุตฯ-พวก’ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทองมิชอบ-เอื้อเอกชน)
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวมีความซับซ้อนและแยบยล เป็นคดีระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงมีการแยกประเด็นไต่สวนออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และกรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
น.ส.สุภา กล่าวว่า ในส่วนกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ขณะนี้มีข้อมูลจากอีเมล์พบว่า มีเส้นทางการเงินเข้ามาจริง มีการพักเงินที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ จึงนำเข้ามาไต่สวนในสำนวน อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างรอการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการ โดย ป.ป.ช. ดำเนินการสืบหาเส้นทางการเงินดังกล่าวกับบัญชีอีเมล์ปลายทาง อย่างไรก็ดีเหมือนปลายทางจะรับปากบ้าง ไม่รับปากบ้าง เหลือแค่ฝ่าย ป.ป.ช. เดินทางไปต่างประเทศเพื่อขอข้อมูลดังกล่าวเท่านั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ให้ความร่วมมือ โดยขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังพยายามเต็มที่เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่มีชื่อปรากฏในอีเมล์ฉบับนี้ แต่ต้องมีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการจากต่างประเทศก่อน (อ่านประกอบ : ข้อมูลใหม่! ป.ป.ช.พบ‘อีเมล์’เผยเส้นทางเงินคดีเหมืองทองอัคราฯพักที่‘ฮ่องกง-สิงคโปร์’)
ความคืบหน้ากรณีนี้ ช่วงเดือน ก.พ. 2564 แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีนี้ว่า คดีดังกล่าวงวดเข้าไปทุกขณะแล้ว แต่ยังขาดหลักฐานชิ้นสำคัญคือเส้นทางการเงินที่ต่างประเทศยังไม่ยอมส่งมาให้ ป.ป.ช. แม้ว่าจะมีการประสานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอข้อมูลอย่างเป็นทางการไปแล้วก็ตาม ดังนั้นคงต้องรอเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศก่อน จึงสามารถสรุป หรือพิจารณาต่อไปได้
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลังเกี่ยวกับข้อพิพาทเหมืองแร่ทองคำคิงสเกตฯ ที่ถูกหยิบยกนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘บิ๊กตู่’ อีกครั้ง!
หมายเหตุ : ภาพประกอบเหมืองทองอัคราฯ จาก https://mpics.mgronline.com/
อ่านประกอบ :
ข้อมูลใหม่! ป.ป.ช.พบ‘อีเมล์’เผยเส้นทางเงินคดีเหมืองทองอัคราฯพักที่‘ฮ่องกง-สิงคโปร์’
ป.ป.ช.ฟัน‘อดีตบิ๊ก ก.อุตฯ-พวก’ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทองมิชอบ-เอื้อเอกชน
ย้อนมหากาพย์กล่าวหา‘คิงส์เกตฯ’จ่ายสินบน รมต.เอื้อทำเหมือง-ป.ป.ช.สอบ 3 ปียังไม่เสร็จ?
โชว์ข้อหาทางการ‘ประเสริฐ’คดีเอื้อเอกชนเหมือง-ป.ป.ช.ไต่สวน‘จารุพงศ์’ กก.บ.กลุ่ม‘อัครา’
‘จารุพงศ์-ประเสริฐ’ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเรียกรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
เปิดตัว‘สวนสักพัฒนา’เครือ‘อัคราฯ’ ในสำนวน ป.ป.ช.คดีรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ
“จารุมาศ เรืองสุวรรณ”ที่ปรึกษา พท.เป็น กก.บริษัทสำรวจทองคำ 5 แห่ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/