"...ไม่สามารถสรุปได้ว่าความบกพร่องทางการรับรู้ของเด็กเกิดจากโลหะหนักหรือไม่ ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน แต่ผลการศึกษาจากต่างประเทศ เช่น บังคลาเทศ พบว่าระดับแมงกานีสและสารหนูมีผลต่อระดับสติปัญญาของเด็ก..."
.....................
แม้ว่าจะยังไม่มีคำชี้ขาดใดๆออกมา
สำหรับคดีเหมืองทองอัครา ซึ่ง บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด จากออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.อัครา รีซอร์สเซส เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาตรี หรือ ‘เหมืองทองอัครา’ เสนอข้อพิพาทต่อ ‘คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ’ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2560 โดยอ้าง Article 917 ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทยไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
โดย คิงส์เกต เรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยเป็นเงิน 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 22,500 ล้านบาท กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับการประกอบการกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน
แต่แล้วประเด็น ‘เหมืองทองอัครา’ กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคม
เมื่อ จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า รัฐบาลได้ออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 44 แปลง เนื้อที่ 397,227 ไร่ ให้กับ บมจ.อัคราฯ แลกกับการให้ คิงส์เกต ถอนฟ้องรัฐบาลไทย เพราะที่ปรึกษากฎหมายประเมินว่าไทยมีโอกาสแพ้คดี
ขณะที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงว่า การออกออกอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำดังกล่าว ไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อแลกกับการถอนฟ้องในชั้นอนุญาโตตุลาการ แต่เป็นคำขอที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2546 และ2548 แล้ว (อ่านประกอบ : ฝ่ายค้านขุดเอกสารลับ!แนวโน้มไทยแพ้ค่าโง่ 2 หมื่นล.อัคราฯ ‘สุริยะ-บิ๊กตู่’ปัดเอื้อ ปย.)
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลให้ ‘อาชญาบัตร' สำรวจแร่ทองคำ กับ บมจ.อัคราฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การออก ‘ประทานบัตร’ เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในอนาคตนั้น ได้สร้างความกังวลใจให้กับภาคประชาชนอีกครั้ง
เพราะการทำเหมืองทองอัคราของ บมจ.อัคราฯ ในอดีตนั้น ปรากฎข้อเท็จจริงและมีหลักฐานว่า บมจ.อัคราฯ มีการกระทำผิดกฎหมายหลายครั้ง ซึ่งขัดต่อข้อตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย ขณะที่การทำเหมืองดังกล่าวได้ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในบริเวณรอบเหมือง
@บมจ.อัคราฯทำผิดกม.ไทย-ขัดตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย
จากข้อมูลของ สมลักษณ์ หุตานุวัตร นักวิชาการอิสระ และนักเคลื่อนไหวด้านสังคม ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำใน จ.พิจิตร และจ.เพชรบูรณ์ พบว่าตั้งแต่ บมจ.อัคราฯ เปิดทำเหมืองทองคำเมื่อปี 2543-2559 บมจ.อัคราฯ มีการกระทำผิดกฎหมายไทยอย่างน้อย 5 ครั้ง อันขัดต่อข้อตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ชาวบ้าน 108 คน ฟ้องข้าราชการที่เกี่ยวข้องและบมจ.อัคราฯ ต่อศาลปกครองพิษณุโลก และศาลฯมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ส 2/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส 2/2557 ลงวันที่ 29 พ.ค.2557 โดยปรากฎข้อเท็จจริงว่า บมจ.อัคราฯ ผลิตทองคำในโรงงานส่วนต่อขยายก่อนได้รับอนุญาต
ครั้งที่ 2 ชาวบ้าน 2 คน ฟ้องข้าราชการที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองพิจิตร และศาลฯมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1419/2555 คดีหมายเลขแดงที่ 186/2557 ลงวันที่ 29 มี.ค.2559 โดยมีปรากฎข้อเท็จจริงว่า บมจ.อัคราฯ ผลิตทองคำในโรงงานแห่งที่ 2 หรือโรงงานส่วนต่อขยายและนำเครื่องจักรเข้าทำการประกอบโลหกรรมก่อนได้รับอนุญาต
ครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 จากการสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน ศาลปกครองพิษณุโลก คดีหมายเลขดำที่ 228/2553 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ลงวันที่ 8 มี.ค.2555
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อเดือนมี.ค.2552 พบฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่บ้านหนองระมาน และบ้านหนองแสง จากการเปิดทำเหมืองบริเวณเขาหม้อ ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กฟุ้งกระจายไปได้ไกล ซึ่งเป็นการกระทำผิดโดยไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 บมจ.อัคราฯ ถูกพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำจังหวัดปรับ 2,000 บาท เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2552
และปรากฏข้อเท็จริงว่า บมจ.อัคราฯ ทำความผิดข้อหาทำการปิดกั้นหรือทำลาย หรือกระทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทางหลวงหรือทางสาธารณะในเขตประทานบัตร และ บมจ.อัคราฯ ถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2553
ครั้งที่ 5 จากรายงานผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียน กรณีขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐและ บมจ.อัคราฯ ในการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ของคณะอนุกรรมาธิการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภา พบว่า บมจ.อัคราฯ ถูกเปรียบเทียบปรับ เพราะปล่อยน้ำเสียออกนอกพื้นที่เหมือง
(เหมืองแร่ทองคำชาตรี หรือ ‘เหมืองทองอัครา’)
@ผลศึกษาพบการปนเปื้อนสารพิษจากเหมืองทอง
ขณะเดียวกัน จากรายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการศึกษาการปนเปื้อนและการวางเครือข่ายเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำใต้ดินในพื้นที่ อ.ทับคล้อ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร และอ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดทำโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2554 พบข้อมูลที่น่าใจ 4 ประเด็น
ประเด็นแรก พบโลหะหนักและสารประกอบที่เป็นผลลัพธ์โดยตรงจากการทำเหมือง ซึ่งสามารถกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ โดยโลหะหนักทั้งหมดมีปริมาณมากขึ้นจากการเปิดหน้าเหมือง
ประเด็นที่สอง จากผลการวิเคราะห์ ‘มลสาร’ ในดิน พบว่ามีปริมาณตะกั่ว แมงกานีส และแคดเมี่ยมที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกับการวิเคราะห์ตัวอย่างดินก่อนเปิดเหมือง อีกทั้งพบค่าสารหนูสูงเกินมาตรฐานค่อนข้างมาก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำใต้ดิน
ประเด็นที่สาม มีความเสี่ยงที่จะมีการปนเปื้อนสารหนูสู่ชั้นน้ำใต้ดิน โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง คือ บริเวณบ้านเขาดิน และบ้านวังแดง ส่วนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อนแมงกานีสสู้ชั้นน้ำใต้ดิน คือ บริเวณบ้านเนินพวง บ้านเขาโล้น บ้านตะพานนาก บ้านหนองขนาก และบ้านนิคม
ประเด็นที่สี่ จากผลการวิเคราะห์น้ำใต้ดิน 43 จุด พบโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน 22 จุด ได้แก่ สารหนู 2 จุด ,แมงกานีส 7 จุด ,แคดเมี่ยม 2 จุด และตะกั่ว 11 จุด และยังพบว่าพื้นที่ชาตรีเหนือและใต้ มีแคดเมี่ยม โครเมียม และสารตะกั่ว สูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการทำเหมือง
นอกจากนี้ รายงานฉบับสมบูรณ์การวิเคราะห์ทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินและการประเมินธาตุโลหะหนักในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำชาตรี ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2552 ฉบับ ‘ขาวดำ’ มีการระบุว่า สาเหตุหลักของการปนเปื้อนเกิดจากบ่อกักเก็บแร่ (TSF)
ขณะที่เอกสารประกอบวาระการประชุมคณะทำงานย่อยการประมวลผลข้อมูล และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2559 มีการระบุว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพน้ำบ่อสังเกตการณ์ความลึกมากกว่า 15 เมตร จำนวน 36 จุด ตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษ ระหว่างปี 2549-2557
พบว่า มีค่าโลหะหนักเกินมาตรฐาน โดยแมงกานิสเกินมาตรฐาน 25 จุด ,เหล็กเกินมาตรฐาน 24 จุด และสารหนูเกินมาตรฐาน 2 จุด เป็นต้น
@ทักษะการเรียนรู้เด็กในพื้นที่รอบเหมืองลดลง
ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่อาศัยรอบบริเวณเหมืองทองอัครานั้น มีข้อมูลปรากฎในรายงานการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองทองคำของ บมจ.อัคราฯ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2559 ว่า
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รายงานที่ประชุมว่า ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพเด็กในพื้นที่เหมืองทองคำ โดยรศ.นพ.อดิศักดิ์ สรุปผลการตรวจสุขภาพและทักษะการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน 2 โรงเรียน เฉพาะที่มีความเกี่ยวข้อง 171 คน
ผลปรากฏว่า มีแมงกานีสสูง 34 ราย มีสารหนูสูง 41 ราย มีทั้งแมงกานีสและสารหนูสูง 20 ราย ขณะที่ผลการทบสอบทักษะการเรียนรู้ พบว่ามีเด็กที่ทักษะการอ่านต่ำ 43 ราย ทักษะการสะกดต่ำ 110 ราย ทักษะการคำนวณต่ำ 76 ราย และทักษะการเรียนรู้ต่ำ 119 ราย
รศ.นพ.อดิศักดิ์ อธิบายว่า ไม่สามารถสรุปได้ว่าความบกพร่องทางการรับรู้ของเด็กเกิดจากโลหะหนักหรือไม่ ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน แต่ผลการศึกษาจากต่างประเทศ เช่น บังคลาเทศ พบว่าระดับแมงกานีสและสารหนูมีผลต่อระดับสติปัญญาของเด็ก
นอกจากนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ แจ้งว่า ได้ขออนุมัติโครงการวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม บมจ.อัคราฯ ได้ยื่นคัดค้านการวิจัย โดยให้เหตุผลว่าโครงการวิจัยนี้อาจเป็นการชี้นำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ผลการวิจัยนี้ยังสรุปไม่ได้ว่า แมงกานีสหรือสารหนู มีสาเหตุมาจากการทำเหมืองแร่ทองคำหรือไม่ แต่จะสรุปถึงความสัมพันธ์ขอบระดับแมงกานีสและสารหนูต่อระดับสติปัญญาของเด็ก
(ที่มา : รายงานการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองทองคำของ บมจ.อัคราฯ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2559)
@อัคราฯเผยกลุ่มเสี่ยงมีโลหะหนักลดลง-หลังงดอาหารบางชนิด
ขณะที่ บมจ.อัคราฯ รายงานความคืบหน้าในการดูแลประชาชนที่มีผลการตรวจโลหะหนักในเลือดและปัสสาวะสูง ต่อที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2559 ว่า จากการที่ บริษัทฯ นำกลุ่มเสี่ยงที่ตรวจพบโลหะหนักในเลือดและปัสสาวะสูงไปรักษาตามคำสั่งของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
พบว่าผลการตรวจตั้งแต่ครั้งที่ 3 เป็นต้นมา หรือตั้งแต่เดือนมี.ค.2558-ก.ค.2559 ค่าสารสารหนูในปัสสาวะของกลุ่มเสี่ยงลดลงอย่างชัดเจน หลังจากมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะการงดอาหารบางชนิด เช่น อาหารทะเลหรือสาหร่าย
ในขณะที่รัฐบาลไทยส่ง ‘สัญญาณ’ ว่า อาจตัดสินใจให้ บมจ.อัคราฯ เปิดเหมืองทองในไทย แต่จะพบว่าจนถึงปัจจุบัน ปมพิพาทกรณีประชาชนที่อาศัยในพื้นที่รอบเหมืองได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการทำเหมืองทองนั้น ยังคงไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน
ที่สำคัญหากมีการเปิดเหมืองทอง สิ่งที่ตามมาคงหนีไม่พ้นความขัดแย้งในพื้นที่ที่จะประทุขึ้นมาอีกครั้ง !
อ่านประกอบ :
ดีเอสไอรับ'คดีเหมืองทองอัครา'ปมทำผิด กม.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นคดีพิเศษ
รบ.ยังไม่เสียสักบาท! ‘วิษณุ’สวนฝ่ายค้านแนวโน้มไทยแพ้ค่าโง่เหมืองอัคราฯแค่เฟกนิวส์
ฝ่ายค้านขุดเอกสารลับ!แนวโน้มไทยแพ้ค่าโง่ 2 หมื่นล.อัคราฯ ‘สุริยะ-บิ๊กตู่’ปัดเอื้อ ปย.
ใต้พรมค่าโง่อัคราฯ-ก.อุตฯควัก 388 ล.แก้ข้อพิพาท-รมต.-บิ๊ก ขรก.พันสินบนข้ามชาติ
ชงคกก.แร่ชี้ขาดหลังพ้น 30 วัน! ‘อัคราฯ’ ยื่นสำรวจแร่ทอง ‘เพชรบูรณ์’ 4.4 แสนไร่
38 ต่อ 21 เสียง!กมธ.งบปี 64 ไฟเขียวเงินสู้คดีเหมืองทองอัครา-ปรับลดเหลือ 99 ลบ.
ข้อมูลใหม่! ป.ป.ช.พบ‘อีเมล์’เผยเส้นทางเงินคดีเหมืองทองอัคราฯพักที่‘ฮ่องกง-สิงคโปร์’
ป.ป.ช.ฟัน‘อดีตบิ๊ก ก.อุตฯ-พวก’ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทองมิชอบ-เอื้อเอกชน
ย้อนมหากาพย์กล่าวหา‘คิงส์เกตฯ’จ่ายสินบน รมต.เอื้อทำเหมือง-ป.ป.ช.สอบ 3 ปียังไม่เสร็จ?
โชว์ข้อหาทางการ‘ประเสริฐ’คดีเอื้อเอกชนเหมือง-ป.ป.ช.ไต่สวน‘จารุพงศ์’ กก.บ.กลุ่ม‘อัครา’
‘จารุพงศ์-ประเสริฐ’ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเรียกรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
เปิดตัว‘สวนสักพัฒนา’เครือ‘อัคราฯ’ ในสำนวน ป.ป.ช.คดีรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ
“จารุมาศ เรืองสุวรรณ”ที่ปรึกษา พท.เป็น กก.บริษัทสำรวจทองคำ 5 แห่ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/