อุตสาหกรรม จ.เพชรบูรณ์ เตรียมชง ‘คณะกรรมการแร่’ พิจารณาคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ 'บ.อัคราฯ' ในพื้นที่ 2 อำเภอ จ.เพชรบูรณ์ เนื้อที่ 4.4 แสนไร่ หลังพ้น 30 วันนับตั้งแต่วันติดประกาศ พร้อมเสนอข้อคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ให้คณะกรรมการฯประกอบการพิจารณาด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา นายเชวงศักดิ์ คำตา อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องถิ่น ลงนามประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่อง ขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ จำนวน 2 ฉบับ มีสาระสำคัญว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำและเงิน ในพื้นที่ อ.ชนแดน และอ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ รวมเนื้อที่ 448,216 ไร่ ประกอบด้วย
1.การยื่นคำขออาชญาบัตร 25 คำขอ ในพื้นที่ ต.ชนแดน ต.ท่าข้าม ต.ดงขุย ต.พุทธบาท และต.บ้านกล้วย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ เนื้อที่ 239,322 ไร่
2.การยื่นคำขออาชญาบัตร 24 คำขอ ในพื้นที่ ต.วังโป่ง ต.วังหิน ต.ซับเปิบ ต.ท้ายดง และต.วังศาล อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ เนื้อที่ 208,894 ไร่
นายเชวงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ เพื่อขอสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ 2 อำเภอ จ.เพชรบูรณ์ รวมเนื้อที่ 4 แสนไร่ โดยหลังจากปิดประกาศไปแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ จะเสนอเรื่องดังกล่าวไปให้คณะกรรมการแร่ ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน พิจารณาว่า จะอนุมัติคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ หรือไม่
“จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้ บริษัท อัคราฯ ทำการสำรวจแร่หรือไม่ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการแร่จะพิจารณา ซึ่งหลังจากปิดประกาศไปแล้วไม่น้อยกว่า 30 วัน เราจะเสนอคำขอของบริษัทฯ เช่น แผนงานการสำรวจ ข้อเสนอผลประโยชน์แก่รัฐ และค่าตอบแทนการออกอาญชาบัตร รวมถึงรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับการยื่นขออาชญาบัตรสำรวจฯ ประกอบเรื่องไปให้คณะกรรมการแร่พิจารณาด้วย” นายเชวงศักดิ์กล่าว
นายเชวงศักดิ์ ย้ำว่า การยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯดังกล่าว เป็นเพียงคำขอเพื่อสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่ที่ขออนุญาตเท่านั้น ซึ่งหากเป็นพื้นที่ของประชาชนทั่วไป เจ้าของพื้นที่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้บริษัทฯ เข้าพื้นที่หรือไม่ก็ได้ แต่หากเป็นพื้นที่ของส่วนราชการ เช่น พื้นที่ป่าไม้ ก็ต้องไปขออนุญาตเข้าพื้นที่กับหน่วยงานนั้นๆ เพื่อทำการขุดเจาะและสำรวจแร่ โดยอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ดังกล่าวจะมีอายุ 5 ปี
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บริษัท อัคราฯ เห็นว่าพื้นที่ที่เข้าสำรวจดังกล่าว มีศักยภาพที่จะผลิตแร่ทองคำในเชิงอุตสาหกรรมได้ และต้องการนำแร่ขึ้นมา บริษัทฯ ต้องยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่อีกครั้ง ซึ่งจะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมล้อมและสุขภาพ (EHIA) และการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น และเสนอให้คณะกรรมการแร่ พิจารณาว่าจะอนุมัติประทานบัตรหรือไม่
อ่านประกอบ :
38 ต่อ 21 เสียง!กมธ.งบปี 64 ไฟเขียวเงินสู้คดีเหมืองทองอัครา-ปรับลดเหลือ 99 ลบ.
ข้อมูลใหม่! ป.ป.ช.พบ‘อีเมล์’เผยเส้นทางเงินคดีเหมืองทองอัคราฯพักที่‘ฮ่องกง-สิงคโปร์’
ป.ป.ช.ฟัน‘อดีตบิ๊ก ก.อุตฯ-พวก’ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทองมิชอบ-เอื้อเอกชน
ย้อนมหากาพย์กล่าวหา‘คิงส์เกตฯ’จ่ายสินบน รมต.เอื้อทำเหมือง-ป.ป.ช.สอบ 3 ปียังไม่เสร็จ?
โชว์ข้อหาทางการ‘ประเสริฐ’คดีเอื้อเอกชนเหมือง-ป.ป.ช.ไต่สวน‘จารุพงศ์’ กก.บ.กลุ่ม‘อัครา’
‘จารุพงศ์-ประเสริฐ’ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเรียกรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
เปิดตัว‘สวนสักพัฒนา’เครือ‘อัคราฯ’ ในสำนวน ป.ป.ช.คดีรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ
“จารุมาศ เรืองสุวรรณ”ที่ปรึกษา พท.เป็น กก.บริษัทสำรวจทองคำ 5 แห่ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage