"...มหาวิทยาลัยต้องรีบแก้ปัญหาโดยเร็ว ทุกอย่างจะต้องมีการพูดคุยกับอาจารย์ ต้องทำความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมา ไม่อย่างนั้นมหาวิทยาลัยจะเหนื่อย เพราะก็จะมีขบวนการทำให้เกิดการบิดเบือนของข้อมูลข่าวสารอีก ถัดมาในการดำเนินการใดๆก็ตาม ผมคิดว่าหากอาจารย์แต่ละท่านเข้าใจหลักของกฎหมายหรือระเบียบวิธีปฏิบัติของราชการ เขาก็จะค่อนข้างสบายใจได้ว่าไม่ต้องกังวลอะไร..."
กรณีสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรภ.มหาสารคาม) มีมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการรองศาสตราจารย์ (รศ.) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รวม 44 คน ตามข้อสั่งการของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เนื่องจากพบการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง
-
มติ สภา มรภ.มหาสารคาม ถอด 44 ผศ.-รศ. พร้อมเรียกเงินประจำตำแหน่งคืนทั้งหมด
-
เปิด 50 รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ถูกปลอมลายเซ็นประเมินผลงาน ผศ.-รศ. 'มรภ.มหาสารคาม'
นับจนถึงวันนี้ใช้เวลากว่า 2 ปี ตั้งแต่การตรวจสอบ จนนำไปสู่การถอดถอน 44 ผศ.-รศ.
เบื้องหลังการตรวจสอบก่อนหน้านี้พบอะไร ? เหตุใด 44 ผศ.-รศ. จึงถูกถอดถอน ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริง และอดีตประธานคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง มรภ.มหาสารคาม หนึ่งในทีมที่เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น
อยู่ ม.ศิลปากร เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร
ผมได้รับการประสานมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคาม ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการ 1 ราย กับเจ้าหน้าที่ 1 ราย ซึ่งตอนนั้นได้รับการประสานขอให้เป็นประธาน และกรรมการชุดนี้มีคนนอกทั้งหมด มีเฉพาะผู้ช่วยเลขาฯ ที่เป็นฝ่ายนิติกรของมหาวิทยาลัย และได้เริ่มสอบวินัยร้ายแรงการทุจริตการเบิกจ่ายเงินค่าตำแหน่งทางวิชาการ ต้นปี 2563
ตอนเข้ามาทำงานแรกๆ เราดูเอกสารการเงินเป็นหลัก ดูว่าการเงินมีการเบิกจ่ายเป็นเท็จหรือไม่ หรือการเบิกจ่ายแต่ละครั้งได้มีการจัดประชุมจริงหรือไม่ บังเอิญว่าผมคุ้นชื่อศาสตราจารย์ (ศ.) และรองศาสตราจารย์ (รศ.) ที่มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและปรากฎลายเซ็นรับรองในเอกสารการเบิกจ่าย พบว่าการระบุสังกัดมหาวิทยาลัยไม่ถูกต้อง จึงเริ่มเห็นความผิดปกติจากตรงนั้น
การระบุสังกัดมหาวิทยาลัยผิดปกติอย่างไร
ตัวอย่างที่ผมใพบก็คือกรณีของ ศ.ดร.ธีระ รุญเจริญ อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และอดีตคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมคุ้นชื่อว่าท่านเคยอยู่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ในการเบิกจ่ายที่ระบุในใบสำคัญรับเงิน ท่านกลับใช้สังกัดมหาวิทยาลัยที่อยู่ทางภาคใต้ ซึ่งมันก็ผิดปกติมาก
“ผมไปหาข้อมูลเพื่อดูว่า ศ.ดร.ธีระว่าท่านอยู่ที่ไหน ปรากฏว่าผมไปเจอที่อยู่ของท่าน และบังเอิญว่าบ้านท่านกับผมอยู่ห่างกัน 300 เมตร ผมเลยขี่จักรยานไปถามท่านด้วยตัวเอง เอาลายเซ็นไปให้ดู เพื่อถามว่าได้เซ็นชื่อรับเงินจริงหรือไม่ ท่านก็บอกว่าไม่ได้เป็นคนรับเงินดังกล่าว”
นอกจากนั้นยังพบว่า อาจารย์บางท่านอยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยสอนผมตอน ป.เอก แต่ปรากฏว่าเอกสารการเบิกจ่ายระบุสังกัดมหาวิทยาลัยทางภาคใต้ เหตุผลที่มีความพยายามระบุสังกัดแบบนี้ก็เพราะว่า เพื่อให้เบิกจ่ายค่าเดินทางได้จำนวนมาก เพราะในระบบราชการต้องเบิกจ่ายตามจริง สมมติเราเดินทางด้วยรถยนต์ อาจเบิกค่าเดินทางได้กิโลเมตรละ 4 บาท และถ้าเดินทางจาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มา กทม.ไปกลับก็เกือบ 2,000 กิโลเมตร คิดเป็นเงิน 7,000 บาท
ข้อมูลทั้งหมดนี้ จึงเป็นข้อสงสัยต่ออีกว่า เมื่อลายเซ็นปลอม แล้วอย่างอื่นปลอมด้วยหรือไม่ เราเลยเริ่มตรวจสอบด้วยการถ่ายภาพลายเซ็น และส่งไปถามผู้ทรงคุณวุฒิผ่านทางอีเมล์ ก็ปรากฏว่า 90% ที่ตอบกลับมาคือตัวเองไม่ได้เซ็น และทุกคนตกใจมากว่า ไม่เคยประเมินผลงานทางวิชาการให้ มรภ.มหาสารคาม แล้วไปปรากฏชื่อได้อย่างไร
จากนั้นเราจึงได้ทำบันทึกข้อความเพื่อขอดูผลประเมินตำแหน่งวิชาการของแต่ละราย รวมถึงรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) เพื่อดูว่า ลายเซ็นในการประเมินแต่ละรายสอดคล้องกับสิ่งที่เราพบในใบสำคัญรับเงินหรือไม่ และรายละเอียดสอดคล้องกับการเบิกจ่ายหรือไม่ รวมถึงการเดินทางไปพบผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ยืนยันลายเซ็นและนำมาประกอบเป็นเอกสารหลักฐาน
นอกจากนั้นการตรวจสอบทุจริตการเบิกจ่าย ช่วงปี 2554-2558 พบว่า กระบวนการมันไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น เพราะมีการปลอมแปลงคำสั่ง ก.พ.ว. และใช้ลายเซ็นของประธาน ก.พ.ว. ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการสแกนไว้ เราไม่พบเอกสารที่มีการลงนามจริง ซึ่งประธานท่านนี้เสียชีวิตไปแล้ว และเมื่อเราได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่ถูกไล่ออกไปแล้ว ได้รับคำชี้แจงว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเหตุใดจึงใช้ลายเซ็นสแกนในการจัดทำเอกสาร แต่อ้างว่ามีการอนุญาตกันทางวาจา ซึ่งตามหลักราชการถือว่าเป็นไปไม่ได้
สุดท้ายแล้วมีการปลดออกข้าราชการ 1 ราย และไล่ออกพนักงาน 1 รายตามที่ได้มีการเสอนข่าวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่และดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ
-
มรภ.มหาสารคามสั่งปลดออกอดีตอาจารย์-ไล่ออกพนักงาน เอี่ยวปลอมลายเซ็น กก.อ่านงานวิชาการ
-
พฤติการณ์อดีตอาจารย์-พนักงาน มรภ.มหารสาคาม ก่อนถูกลงโทษเอี่ยวปลอม กก.อ่านงานวิชาการ
เรื่องนี้ผู้มีเกี่ยวข้องเพียงแค่ 2 รายใช่หรือไม่
จริงๆ แล้วก่อนที่จะตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงชุดผม มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมาก่อน และเท่าที่ผมได้อ่านเอกสารการตรวจสอบก็ค่อนข้างระบุมาว่าควรจะสอบวินัยร้ายแรงใครบ้าง บังเอิญว่าในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดผม ถูกสั่งมาให้ตรวจสอบแค่ 2 รายนี้เท่านั้น เราจึงสอบสวนจำเพาะเจาะจงได้แค่ 2 ราย
“เอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่เราตรวจพบ เราได้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเพื่อให้มหาวิทยาลัยไปดำเนินการสอบต่อ ซึ่งจริงๆ แล้วผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้มีแค่ 2 ราย อย่างน้อยๆ ถ้าตามเอกสารหลักฐานที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยคาดว่าจะมี 4-5 รายเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และถ้าคนเหล่านี้ถูกระบุชื่อรวมอยู่ในคำสั่งให้สอบวินัยร้ายแรง คาดว่าพวกเขาก็จะถูกดำเนินการทางวินัยไปด้วยเช่นกัน”
ปลอมลายเซ็นนำไปสู่การถอดถอน 44 ผศ.-รศ.
หลังจากคณะกรรมการชุดผมสอบสวนไปได้ระยะหนึ่ง สภามหาวิทยาลัยก็แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการได้มาซึ่งตำแหน่งทางวิชาการ ที่มี ศาสตรเมธี ดร.สุทธิพงศ์ หกสุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน ซึ่งจะใช้วิธีการทำงานคล้ายๆกัน คือขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และส่งลายเซ็นไปสอบถามผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิสูจน์ว่า ตัวเองได้ประเมินผลงานทางวิชาการจริงหรือไม่
“อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ กรณีการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการของ มรภ.มหาสารคาม เป็นเรื่องที่ไม่ชอบในส่วนของกระบวนการ เรายังไม่พบความเกี่ยวข้องกับอาจารย์ทั้ง 44 รายที่ถูกถอดถอน เพราะว่าอาจารย์ทั้ง 44 ราย เมื่อยื่นขอตำแหน่งไปแล้ว ตามหลักการถือว่าหมดหน้าที่เขาแล้ว ที่เหลือเป็นกระบวนการภายในของมหาวิทยาลัย ที่เริ่มตั้งแต่กองการเจ้าหน้าที่รับเอกสาร ตรวจเอกสาร และนำเข้าที่ประชุม ก.พ.ว. เพื่อแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินผลงาน จากนั้นจะส่งความเห็นให้สภาวิชาการและนำเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยเพื่อลงมติแต่งตั้ง”
ดังนั้นกระบวนการหลังจากที่อาจารย์แต่ละท่านยื่นขอตำแหน่งไปแล้ว ก็จะเป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่ทั้งนั้น ซึ่งตั้งแต่สืบสวนสอบสวนมาตั้งแต่เรื่องเงินจนถึงคณะกรรมการชุด ศาสตรเมธี ดร.สุทธิพงศ์ รวมไปถึงอธิการบดีเอง เราไม่เคยตั้งสมมติฐานว่าอาจารย์ผิด เพียงแต่ว่ากระบวนการพิจารณาแต่งตั้งมันไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“ยกตัวอย่าง การขอตำแหน่งด้วยวิธีปกติ ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงาน 3 ราย แต่ปรากฏว่ารายงานประชุม ก.พ.ว.ระบุว่า ผู้ทรงคุณวุฒิมีมติเอกฉันท์ให้ผ่านทั้ง 3 ราย แต่เมื่อตรวจสอบย้อนหลังกลับพบว่า มีผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 1 รายที่ไม่ได้ประเมินผลงาน นั่นหมายความว่ารายงานการประชุม ก.พ.ว.เป็นเท็จ การนำเสนอความเห็นให้สภาวิชาการและสภามหาวิทยาลัยพิจารณา จึงกลายเป็นการอนุมัติตามเอกสารที่เป็นเท็จ”
จนถึงวันนี้ 44 ผศ.-รศ.อยู่ในฐานะผู้เสียหาย
ใช่ครับ เพราะเขาไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการที่เป็นกระบวนการลับ ตามหลักจึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะรู้เรื่อง
กรณีแบบไหนที่อาจเปลี่ยนเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
จริงๆ เรื่องนี้เขาจะกลายเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อ พบว่ามีการสมประโยชน์กันระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ถูกไล่ออก กับอาจารย์ผู้ที่ยื่นขอตำแหน่ง แต่จนถึงตอนนี้เรายังไม่มีเอกสารหลักฐานว่ามีอาจารย์ผู้ใดที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
สรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัย
ในการตรวจสอบระหว่างปี 2554-2558 เฉพาะการปลอมลายเซ็นในการเบิกจ่ายค่าเดินทาง ค่าจัดประชุม ค่าประเมินผลงานของผู้ทรงคุณวุฒิ เราพบความเสียหาย 11 ล้านบาท
ถ้าคาดการณ์ว่า อาจมีกระบวนการทำผิดก่อนหน้านั้นไปจนถึงปัจจุบันคาดว่าอาจจะมีความเสียหายกรณีเดียวกันมากกว่า 20 ล้านบาท
ถือว่าจบภารกิจแล้วหรือไม่
การตรวจสอบเรื่องทุจริตเบิกจ่ายตามคำสั่งถือว่าจบไปแล้ว ผลคือไล่ออกพนักงาน 1 ราย ปลดออกอดีตอาจารย์ 1 ราย แต่เมื่อกลางปี 2563 หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุด ศาสตรเมธี ดร.สุทธิพงศ์ เพื่อตรวจสอบการได้มาซึ่งตำแหน่งทางวิชาการ ก็ได้มีการเสนอให้ผลสอบให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาหลายรอบ รวมถึงการเสนอให้มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ที่มีผมเป็นประธาน เพื่อทำความเห็นเสนอมหาวิทยาลัยว่า สรุปแล้วเราต้องถอดถอนใครอีก ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เสนอถอดถอนไปหลายราย ซึ่งรวมอยู่ในคณาจารย์ 44 รายที่ถูกถอดถอนในล็อตแรกด้วย
จะมีคนถูกถอดถอนเพิ่มเติมอีกหรือไม่
ตั้งแต่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีมติส่งมาที่มหาวิทายลัยให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ คณะกรรมการชุดผมจึงตัดสินใจงดประชุมเพื่อรอดูเรื่องนี้ก่อน แต่ที่เท่าที่ผมทราบข้อมูลจากกรรมการบางท่านในชุดของ ศาสตรเมธี ดร.สุทธิพงศ์ น่าจะมีการเสนอให้พิจารณาอีกประมาณ 19-20 ราย ซึ่งเราจะนำมาดูและพิจารณาต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
ปัญหาทั้งหมดสะท้อนให้เห็นอะไร
ความเห็นส่วนตัวผม เห็นว่าบางอย่างที่ลับมากไป ทำให้คนรู้อยู่ไม่กี่คน ข้อบกพร่องของ มรภ.มหาสารคาม คือ การดำเนินการขอตำแหน่งทางวิชาการ มีผู้เกี่ยวข้องกับเอกสารเพียง 2 คน คือ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และ เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ช่วยเลขาฯ ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่น ยกตัวอย่าง ม.ศิลปากร มีฝ่ายที่ดูแลเรื่องตำแหน่งทางวิชาการ 4-5 คน ดังนั้นการที่คนทั้งหมดจะร่วมกันกระทำการอะไรบางอย่างจึงเป็นไปได้ยากมาก
“เมื่อ มรภ.มหาสารคาม มีคนรับผิดชอบอยู่เพียง 2 คน ก็จะมีข้อบกพร่องที่เราคาดไม่ถึงเต็มไปหมด เช่น การเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจากมติ ก.พ.ว. ที่พบว่าเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานไปเปลี่ยนรายชื่อเอง โดยที่ ก.พ.ว.อาจจะไม่ทราบหรือจำไม่ได้ สาเหตุที่ผมใช้คำว่าจำไม่ได้ ก็เพราะว่า ก.พ.ว. ต้องดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ และต้องมาจากมหาวิทยาลัยอื่น ถ้าเราไปดูข้อมูล พบว่าแต่ละท่านก็งานล้นมืออยู่แล้ว ในเรื่องเป็นรายละเอียดมากๆ เขาก็อาจจะจำไม่ได้”
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ มรภ.มหาสารคาม เดินมาถึงจุดนี้ก็คือว่า ศาสตราจารย์ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็น ก.พ.ว. แต่ละท่านให้ความไว้ใจเจ้าหน้าที่มากเกินไป เมื่อท่านไว้ใจ เขาก็เห็นช่องทางที่นำไปสู่การทุจริตเงิน จนนำไปสู่การถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการต่อไป
เรื่องนี้กระทบคุณภาพการศึกษาหรือไม่
สิ่งที่สำคัญมากก็คือว่า กระทบเรื่องความเชื่อมั่นของผู้เรียนและความเชื่อมั่นของสังคม นอกจากนั้น ตำแหน่งทางวิชาการมันจะกระทบกับการจัดการศึกษาในระดับ ป.โท หรือ ป.เอก ด้วย
นอกจากนั้นยังน่าเป็นห่วงด้วยว่าความเสียหาย 11 ล้านบาทที่เราพบนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิบางส่วน เขาได้อ่านงานวิชาการจริง แต่ไม่เคยได้รับเงิน เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยจ่ายเงินให้ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้แล้วหรือยัง และหากไม่พิจารณาจ่ายเงิน ในอนาคตจะมีผู้ทรงคุณวุฒิมาอ่านผลงานทางวิชาการให้ มรภ.มหาสารคามอีกหรือไม่ ดังนั้นจะมาคิดแค่ขั้นตอนการเยียวยาคณาจารย์อย่างเดียวไม่ได้ ก็ต้องคิดด้วยว่าจะเยียวยาผู้ทรงคุณวุฒิอย่างไรด้วย
ทั้งนี้ ผมมีข้อสังเกตอีกว่า มีกรณีที่ผู้ทรงคุณวุฒิเขาได้ประเมินผลงานจริง แต่ถูกปลอมแปลงผลประเมินในภายหลัง เป็นเรื่องที่มหาวิทยาจะต้องพิสูจน์ต่อไปว่า อันไหนเป็นการประเมินจริงหรือปลอม และเอกสารการประเมินจริงตอนนี้อยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่มะรุมมะตุ้มมาก
สุดท้ายอยากพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
สำหรับผม สิ่งสำคัญมากก็คือว่า มหาวิทยาลัยต้องรีบแก้ปัญหาโดยเร็ว ทุกอย่างจะต้องมีการพูดคุยกับอาจารย์ ต้องทำความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมา ไม่อย่างนั้นมหาวิทยาลัยจะเหนื่อย เพราะก็จะมีขบวนการทำให้เกิดการบิดเบือนของข้อมูลข่าวสารอีก ถัดมาในการดำเนินการใดๆก็ตาม ผมคิดว่าหากอาจารย์แต่ละท่านเข้าใจหลักของกฎหมายหรือระเบียบวิธีปฏิบัติของราชการ เขาก็จะค่อนข้างสบายใจได้ว่าไม่ต้องกังวลอะไร
"อยากจะเรียนอาจารย์ทุกท่านว่าสิ่งที่ดีที่สุดตอนนี้ ก็คือ หากเราถูกถอดถอนจริงๆ สุดท้ายถ้าเราพร้อม เราก็ควรเตรียมตัวที่ยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการใหม่ ตามกระบวนการเยียวยาที่มหาวิทยาลัยกำลังหาทางออก หาทางแก้ไข ส่วนที่เป็นข่าวเรื่องต้องคืนเงินค่าประจำตำแหน่ง ต้องถูกตั้งกรรมการสอบละเมิด มันเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องว่ากันต่อไป สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่า มหาวิทยาลัยน่าจะมีกระบวนการในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือคณาจารย์ที่เป็นไปอย่างถูกต้อง"
อ่านประกอบ กรณี มหาวิทยาลัยพิษณุโลก :
-
อาจารย์ 51 ราย มหาวิทยาลัยพิษณุโลก โดนสั่งยกเลิก 'ผศ.-รศ.' มีชื่อ นายกสภาฯ -อธิการ ด้วย
-
ผลสอบลับ 'ม.พิษณุโลก' ถูกสั่งถอนตำแหน่ง 'ผศ.-รศ.' 51 ราย เจอทำรายงานประชุมเท็จ!
-
แกะปมตั้ง 'ผศ.-รศ.' สำคัญอย่างไรในแวดวงมหาวิทยาลัย ก่อนกรณี มรภ.มหาสารคาม-ม.พิษณุโลก
-
คอนเฟิร์มมติสั่ง 'ม.พิษณุโลก' ถอน ผศ.-รศ. 50 ราย แต่รอรับรองมติประชุม ต.ค.ก่อน
-
คลายปม'ม.พิษณุโลก'ก่อนถูกชงถอน 50 ผศ.-รศ.พบตั้ง กก.พิจารณาตำแหน่งไม่ตรงตามกฎหมายกำหนด
-
สั่ง ม.พิษณุโลก หาคนผิด!กกอ.แจ้งถอด 50 ผศ.-รศ.-กรณี มรภ.สารคาม ให้เวลาถึง 5 ธ.ค.
-
ทนายอนันต์ชัย-ม.พิษณุโลกเตรียมแถลงข่าวปม กกอ.ถอดถอน 51 ผศ.-รศ. ในวันพรุ่งนี้
-
ม.พิษณุโลกตั้งทนายขู่ฟ้อง อว.-'อิศรา'ปมเสนอข่าวถอด 51 รศ.-ผศ.เรียกค่าเสียหาย 100 ล.
-
อว.ไม่หวั่น ม.พิษณุโลก ขู่ฟ้อง-เรียก 100 ล. ยันสอบ 51 รศ.-ผศ. รอบคอบตามขั้นตอน กม.
อ่านประกอบ กรณี มรภ.มหาสารคาม :
-
พบขบวนการปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ ม.ดังอีสาน!ผู้บริหารฯรับมีทุจริตสั่งสอบแล้ว
-
เทียบชัดๆ ลายเซ็นปลอมชื่อตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ มรภ.สารคาม-ใช้เบิกค่าน้ำมันรถด้วย
-
เขียนชื่อยังผิด! เปิดข้อมูล อ.รายที่ 2 จาก 'มข.' โดนปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ
-
รายที่ 3! อดีตคณบดี มข.โดนปลอมเอกสารตั้ง กก.ประเมินวิชาการ-แจ้งความ ตร.แล้ว
-
ขมวดปม! ปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินผลงานวิชาการ ผศ./รศ. 'เก๊' ใครบ้างรู้เห็นขบวนการนี้?
-
อว.ส่งทีมสอบ มรภ.สารคาม ตั้งกก.ประเมินผลงานวิชาการเก๊-พบเอกสารสำคัญถูกลบทิ้ง
-
มีส.ส.ด้วย! อนุฯสอบวิชาการเก๊ มรภ.สารคาม พบ13 ชื่อขอตำแหน่งถูกปลอมลายเซ็นผู้ทรงคุณวุฒิฯ
-
ปัดเอี่ยวปลอมลายเซ็น!ส.ส.ปริศนาแจง'อิศรา'ใช้เวลา 2 ปีขอ รศ.ตามขั้นตอน
-
ถูกปลอมลายเซ็น! กก.วิชาการ ส.ส.ปริศนา ไม่เคยถูกทาบทามอ่านงาน มรภ.สารคาม
-
เปิดข้อมูลลับ 12 อาจารย์ขอ'ผศ.-รศ'ลอตเดียว ส.ส.ปริศนา ปลอมลายเซ็นผู้ทรงฯอ่านงานวิชาการ
-
จวนจบแล้ว!อธิการฯมรภ.สารคามตอบ'อิศรา'สอบ กก.อ่านงานวิชการเก๊ใกล้ยุติ-ส่ง อว.ดูต่อ
-
ขอตำแหน่งปี 54 ได้ 55!อาจารย์คนที่ 2 ไม่รู้เรื่อง กก.อ่านงานฯถูกปลอมลายเซ็น มรภ.สารคาม
-
2-3ปีกว่าจะได้! อาจารย์คนที่ 3 ขอตำแหน่ง 'รศ.' ถูกปลอมลายเซ็น ผู้ทรงฯ มรภ.สารคาม 2 ราย
-
มรภ.มหาสารคามสั่งปลดออกอดีตอาจารย์-ไล่ออกพนักงาน เอี่ยวปลอมลายเซ็น กก.อ่านงานวิชาการ
-
พฤติการณ์อดีตอาจารย์-พนักงาน มรภ.มหารสาคาม ก่อนถูกลงโทษเอี่ยวปลอม กก.อ่านงานวิชาการ
-
ก.พ.อ.ชง'สภา มรภ.มหาสารคาม'ถอน รศ.-ผศ. 43 ราย หลังพบทุจริตปลอมลายเซ็น กก.อ่านงานวิชาการ
-
ทางการ! ก.พ.อ.ชง'สภา มรภ.มหาสารคาม'ทบทวน 43 รศ.-ผศ.อีกที่ 'ม.พิษณุโลก'ถูกถอนด้วย 50 ราย
-
'สภา มรภ.มหาสารคาม'นัดประชุม 26 พ.ย.จับตาวาระถอดถอน 43 ผศ.-รศ.ตามคำสั่ง ก.พ.อ.
-
ส่ง ป.ป.ช.สอบทุจริต 2 ราย! มรภ.สารคาม รอความเห็นสภาวิชาการ ยังไม่เคาะถอดถอน 43 ผศ.-รศ
-
มติ สภา มรภ.มหาสารคาม ถอด 44 ผศ.-รศ. พร้อมเรียกเงินประจำตำแหน่งคืนทั้งหมด
-
มรภ.มหาสารคาม ตั้งคนนอกสอบเรียกคืนเงิน 44 ผศ.-รศ.มีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งถอดถอนได
-
เปิด 50 รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ถูกปลอมลายเซ็นประเมินผลงาน ผศ.-รศ. 'มรภ.มหาสารคาม'