"...ในกรณีที่เพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลัง การคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไป ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยถ้าเมื่อใดผู้รับคำสั่งทางปกครองได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองหรือควรได้รู้เช่นนั้นหากผู้นั้นมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะไม่สุจริตตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป และในกรณีตามวรรคสาม ผู้นั้นต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับไปเต็มจำนวน..."
เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน!
กรณีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แพร่มติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ขอให้สภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรภ.มหาสารคาม) ทบทบวนการมาได้ซึ่งตำแหน่งทางวิชาการ รวม 43 ตำแหน่ง แบ่งเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) 29 ราย และ รองศาสตราจารย์ (รศ.) 14 ราย เนื่องจากพบว่า มีการปลอมแปลงเอกสารการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และปลอมแปลงลายเซ็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ขณะเดียวกันยังเผยแพร่อีกว่าในการประชุมคณะกรรมการอุดมศึกษา (กกอ.) ครั้งที่ 9/2564 ได้มีมติในกรณีคล้ายคลึงกับ มรภ.มหาสารคาม คือ ปัญหาการขอตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยพิษณุโลก ที่ส่งเรื่องให้สภามหาวิทยาลัยถอดถอน ผศ. 42 ราย และ รศ. 8 ราย และจะไม่นำความกราบบังคมทูลเกล้าฯ ศาสตราจารย์ (ศ.) 1 ราย รวมแล้ว 51 ราย
แต่หลายคนยังสงสัยว่า นอกจากจะปรากฏเป็นคำนำหน้าชื่อแล้ว ตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) , รองศาสตราจารย์ (รศ.) และ ศาสตราจารย์ (ศ.) มีความสำคัญอย่างไร ?
จนถึงปี 57 ไทยมี ผศ. 12,843 ราย - รศ. 6,336 ราย
ตำแหน่งวิชาการ คือ ตำแหน่งของบุคคลในแวดวงวิชาการสำหรับนักวิชาการ อาจารย์ หรือนักเรียนในการทำวิจัย และการสอนในสถาบันอุดมศึกษา โดยตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษา
ในประเทศไทย จะเริ่มจากการเป็น อาจารย์ ก่อนจะเลื่อนเป็น ผศ. และเลื่อนเป็น รศ. ตามลำดับ
โดยการขอตำแหน่งและการพิจารณาตำแหน่ง หากเป็นข้าราชการ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ.2563
ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชน ให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการอุดมศึกษา ว่าด้วยมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนให้ดำรงตำแหน่งวิชาการ พ.ศ.2563
ทั้งนี้ในการเลื่อนตำแหน่งวิชาการ ผู้ขอตำแหน่งจะต้องเป็นอาจารย์ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าที่กำหนด ตามระดับสุดท้ายที่สำเร็จการศึกษามา ดังนี้
-
ระดับ ป.ตรี หรือเทียบเท่า ต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์และได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่า 6 ปี
-
ระดับ ป.โท หรือเทียบเท่า ต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์ และได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่า 4 ปี
-
ระดับ ป.เอก หรือเทียบเท่า ต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์ และได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่า 1 ปี
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้อยู่ติดตัวเสมอไป กรณีที่ย้ายสถาบันอุดมศึกษา จะต้องดำเนินการเทียบโอนหรือย้ายบรรจุอีกด้วย
สำหรับผู้เสนอขอตำแหน่งทางวิชาการ ทำได้ 2 วิธี คือ วิธีปกติ และ วิธีพิเศษ
วิธีปกติ หมายถึง ผู้เสนอขอมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการ ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดทุกประการ
วิธีพิเศษ หมายถึง ผู้เสนอขอมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งต่างไปจากที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เช่น ระยะเวลาไม่ครบ หรือเสนอขอข้ามขั้น ซึ่งผู้เสนอขอต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการที่สูงกว่าปกติ
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า ปี 2557 มีผู้ดำรงตำแหน่ง ผศ. 12,843 ราย และ ผศ.พิเศษ 33 ราย ส่วนผู้ดำรงตำแหน่ง รศ.ในสถาบันอุดมศึกษามี 6,336 ราย และ รศ.พิเศษ 36 ราย
ขณะที่ข้อมูลจนถึง ก.ค.ปี 2561 พบว่ามีจำนวนผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสังกัด โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ รวมทั้งสิ้น 1,041 คน แบ่งเป็น ศาสตราจารย์ประจำ 804 คน ศาสตราจารย์พิเศษ 122 คน และศาสตราจารย์ญาณวิทย์ หรือ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 เดิม จำนวน 115 คน
กฎ ก.พ.อ.การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2556
เงินประจำตำแหน่ง 3,500 - 15,600 ต่อเดือน
นอกจากนี้การดำรงตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาอาจได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งด้วย ซึ่งอ้างอิงจาก กฎ ก.พ.อ.การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2556 ดังนี้
-
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จะได้รับเงินในอัตรา 3,500 - 5,600 บาท ต่อเดือน
-
รองศาสตราจารย์ จะได้รับเงินในอัตรา 5,600 - 9,900 บาท ต่อเดือน
-
ศาสตราจารย์ จะได้รับเงิน 13,000 – 15,600 บาท ต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม กรณีมหาวิทยาลัยของรัฐ แบ่งกลุ่มอาจารย์ที่จะได้รับการจัดสรรเงินประจำตำแหน่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ข้าราชการพลเรือน ได้รับจัดสรรเงินจากงบประมาณแผ่นดิน 2.พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ กลุ่มที่ได้รับจัดสรรเงินจากงบประมาณแผ่นดิน และ 3.พนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ กลุ่มที่ได้รับจัดสรรเงินจากรายได้ของมหาวิทยาลัย
และมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่ง ยังกำหนดอาจารย์ในกลุ่มข้าราชการพลเรือน อาจได้รับการจัดสรรเงินประจำตำแหน่งในลักษณะคูณสองอีกด้วย
ส่วนกรณีมหาวิทยาลัยเอกชน ผู้บริหารของแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดการจัดสรรเงินเอง บางมหาวิทยาลัย อาจใช้กฎ ก.พ.อ.เพื่ออ้างอิงการให้เงินประจำตำแหน่ง หรือบางมหาวิทยาลัย อาจไม่มีข้อกำหนดการได้ให้เงินประจำตำแหน่งเลยก็ได้
'มรภ.มหาสารคาม'อาจจ่ายค่า ผศ.-รศ. 43 ราย 2.3-3.6 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกรณีกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งที่ประชุม ก.พ.อ.มีมติส่งเรื่องให้สภามหาวิทยาลัย พิจารณาทบทวน การได้มาซึ่งตำแหน่ง ผศ.-รศ. 2 มหาวิทยาลัย
โดยเฉพาะกรณี มรภ.มหาสารคามที่ถูกเสนอให้พิจารณาทบทวนการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการ 43 ราย แบ่งเป็น ผศ. 29 ราย และ รศ. 14 ราย
กรณี ผศ. 29 ราย อาจส่งผลให้รัฐต้องจ่ายเงินค่าประจำตำแหน่งให้ เดือนละ 101,500 – 162,400 บาท หรือ 1,218,800 – 1,948,800 บาทต่อปีงบประมาณ
กรณี รศ. 14 ราย อาจส่งผลให้รัฐต้องจ่ายเงินค่าประจำตำแหน่งให้ เดือนละ 78,400 – 138,600 บาท หรือ 1,097,600 – 1,663,200 บาทต่อปีงบประมาณ
เท่ากับว่า กรณีตำแหน่งทางวิชาการของ มรภ.มหาสารคามที่มีปัญหา อาจส่งผลให้รัฐต้องจ่ายเงินค่าประจำตำแหน่ง ผศ.-รศ. 43 ราย จำนวน 2,316,400 – 3,612,000 ต่อปี
ส่วนกรณีมหาวิทยาลัยพิษณุโลก เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งอาจจะมีเงินประจำตำแหน่ง หรือ ไม่มีก็ได้ เป็นไปตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย
นอกจากนั้น ผู้ดำรงตำแหน่ง รศ.-ศ. ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือ มหาวิทยาลัยเอกชน ยังมีความสำคัญด้านอื่นๆ อาทิ เกี่ยวกับการรับผิดชอบหลักสูตร ป.โท และ ป.เอก ซึ่งมีการกำหนดคุณสมบัติอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรไว้อย่างชัดเจน และยังไม่รวมถึงจำนวน ผศ.-รศ.ภายในมหาวิทยาลัย ย่อมมีผลต่อการจัดลำดับของมหาวิทยาลัยภายในประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการถอดถอนตำแหน่งทางวิชาการถึงที่สุด ก็มีคำถามต่อไปว่า ผู้ถูกถอดถอนจะต้องคืนเงินประจำตำแหน่งหรือไม่ ?
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ระบุว่า การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ ให้คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์สาธารณะประกอบกัน
ความเชื่อโดยสุจริตตามวรรคหนึ่งจะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่อผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ใช้ประโยชน์อันเกิดจากคำสั่งทางปกครองหรือได้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินไปแล้ว โดยไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หรือการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายเกินควรแก่กรณี
ในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะอ้างความเชื่อโดยสุจริตไม่ได้
(1) ผู้นั้นได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง หรือข่มขู่ หรือชักจูงใจโดยการให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมาย
(2) ผู้นั้นได้ให้ข้อความซึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ
(3) ผู้นั้นได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในขณะได้รับคำสั่งทางปกครองหรือการไม่รู้นั้นเป็นไปโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ในกรณีที่เพิกถอนโดยให้มีผลย้อนหลัง การคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไป ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยถ้าเมื่อใดผู้รับคำสั่งทางปกครองได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองหรือควรได้รู้เช่นนั้นหากผู้นั้นมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะไม่สุจริตตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป และในกรณีตามวรรคสาม ผู้นั้นต้องรับผิดในการคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้รับไปเต็มจำนวน
อย่างไรก็ตาม ทั้งกรณีของ มรภ.มหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของสภามหาวิทยาลัย และกระทรวง อว. และยังไม่มีการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบพิจารณาชี้มูลความผิดแต่อย่างใด
อ่านประกอบ กรณี มหาวิทยาลัยพิษณุโลก :
-
อาจารย์ 51 ราย มหาวิทยาลัยพิษณุโลก โดนสั่งยกเลิก 'ผศ.-รศ.' มีชื่อ นายกสภาฯ -อธิการ ด้วย
-
ผลสอบลับ 'ม.พิษณุโลก' ถูกสั่งถอนตำแหน่ง 'ผศ.-รศ.' 51 ราย เจอทำรายงานประชุมเท็จ!
อ่านประกอบ กรณี มรภ.มหาสารคาม :
-
พบขบวนการปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ ม.ดังอีสาน!ผู้บริหารฯรับมีทุจริตสั่งสอบแล้ว
-
เทียบชัดๆ ลายเซ็นปลอมชื่อตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ มรภ.สารคาม-ใช้เบิกค่าน้ำมันรถด้วย
-
เขียนชื่อยังผิด! เปิดข้อมูล อ.รายที่ 2 จาก 'มข.' โดนปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ
-
รายที่ 3! อดีตคณบดี มข.โดนปลอมเอกสารตั้ง กก.ประเมินวิชาการ-แจ้งความ ตร.แล้ว
-
ขมวดปม! ปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินผลงานวิชาการ ผศ./รศ. 'เก๊' ใครบ้างรู้เห็นขบวนการนี้?
-
อว.ส่งทีมสอบ มรภ.สารคาม ตั้งกก.ประเมินผลงานวิชาการเก๊-พบเอกสารสำคัญถูกลบทิ้ง
-
มีส.ส.ด้วย! อนุฯสอบวิชาการเก๊ มรภ.สารคาม พบ13 ชื่อขอตำแหน่งถูกปลอมลายเซ็นผู้ทรงคุณวุฒิฯ
-
ปัดเอี่ยวปลอมลายเซ็น!ส.ส.ปริศนาแจง'อิศรา'ใช้เวลา 2 ปีขอ รศ.ตามขั้นตอน
-
ถูกปลอมลายเซ็น! กก.วิชาการ ส.ส.ปริศนา ไม่เคยถูกทาบทามอ่านงาน มรภ.สารคาม
-
เปิดข้อมูลลับ 12 อาจารย์ขอ'ผศ.-รศ'ลอตเดียว ส.ส.ปริศนา ปลอมลายเซ็นผู้ทรงฯอ่านงานวิชาการ
-
จวนจบแล้ว!อธิการฯมรภ.สารคามตอบ'อิศรา'สอบ กก.อ่านงานวิชการเก๊ใกล้ยุติ-ส่ง อว.ดูต่อ
-
ขอตำแหน่งปี 54 ได้ 55!อาจารย์คนที่ 2 ไม่รู้เรื่อง กก.อ่านงานฯถูกปลอมลายเซ็น มรภ.สารคาม
-
2-3ปีกว่าจะได้! อาจารย์คนที่ 3 ขอตำแหน่ง 'รศ.' ถูกปลอมลายเซ็น ผู้ทรงฯ มรภ.สารคาม 2 ราย
-
มรภ.มหาสารคามสั่งปลดออกอดีตอาจารย์-ไล่ออกพนักงาน เอี่ยวปลอมลายเซ็น กก.อ่านงานวิชาการ
-
พฤติการณ์อดีตอาจารย์-พนักงาน มรภ.มหารสาคาม ก่อนถูกลงโทษเอี่ยวปลอม กก.อ่านงานวิชาการ
-
ก.พ.อ.ชง'สภา มรภ.มหาสารคาม'ถอน รศ.-ผศ. 43 ราย หลังพบทุจริตปลอมลายเซ็น กก.อ่านงานวิชาการ
-
ทางการ! ก.พ.อ.ชง'สภา มรภ.มหาสารคาม'ทบทวน 43 รศ.-ผศ.อีกที่ 'ม.พิษณุโลก'ถูกถอนด้วย 50 ราย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage